พาราสาวะถี อรชุน

ก่อนที่จะไปเกาะติดประเด็นร้อนว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย กางปฏิทินการเมืองวันนี้ คสช.นัดหมายที่จะหารือร่วมกับสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ในฐานะเจ้าภาพจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะมีตัวแทนจากจุฬาฯร่วมด้วย เพื่อคุยกันเรื่องขบวนล้อการเมือง อันเป็นเอกลักษณ์ของงานดังกล่าว


ก่อนที่จะไปเกาะติดประเด็นร้อนว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย กางปฏิทินการเมืองวันนี้ คสช.นัดหมายที่จะหารือร่วมกับสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ในฐานะเจ้าภาพจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะมีตัวแทนจากจุฬาฯร่วมด้วย เพื่อคุยกันเรื่องขบวนล้อการเมือง อันเป็นเอกลักษณ์ของงานดังกล่าว

แน่นอนว่าด้วยวิธีการปกครองที่ไม่ยอมให้คนแสดงความเห็นต่างด้วยการอ้างความมั่นคง และเพื่อไม่ให้กระทบภาพลักษณ์ของผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงต้องคุมเข้มกันอย่างเต็มที่ โดยอ้างเหตุผลต้องไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือละเมิดกฎหมาย ทั้งที่ในความจริงคงกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอยงานบอลเมื่อปีที่ผ่านมา

โดยครั้งนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบเข้าไปดึงป้ายผ้าที่ร่วมขบวนพาเหรดล้อการเมือง อันสะท้อนภาพของผู้นำคณะรัฐประหารทิ้งหน้าตาเฉย แต่ก็มีการแปรอักษรของธรรมศาสตร์ด้วยข้อความที่บาดใจใครบางคนและถือว่าน่าจะทันกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า”พี่ขอเวลาหนูไม่ขัดข้อง พี่ขอปรองดองแต่ฟังหนูไหม ขอตรวจสอบจะฉุนทำไม ขอประชาธิปไตยเมื่อไหร่จะคืน”

หนนี้ก็เช่นนั้นแม้จะมีการประชุมขอความร่วมมือ แต่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มองว่า มันเป็นเรื่องคุมไม่ได้ เชื่อว่าปีนี้ก็คุมไม่ได้ เมื่อปีที่แล้วก็เป็นอย่างนี้ หมายความว่า ใครก็ตามที่มีอำนาจจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการรัฐประหาร ก็พยายามที่จะคุม แต่คุมไม่ได้

เมื่อคนที่คร่ำหวอดอยู่กับกิจกรรมนี้มาอย่างยาวนานยืนยันเช่นนั้น คงต้องรอติดตามว่าทั้งสองสถาบันโดยเฉพาะฝั่งลูกแม่โดมจะมีทีเด็ดอะไร ซึ่งจะว่าไปแล้วหากคิดเสียว่านี่คือเสียงสะท้อนเพื่อให้ผู้ใหญ่นำไปปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น ก็น่าจะใจกว้างเปิดรับบ้าง อย่างน้อยงานที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้คงไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังให้มานั่งกังขากัน

หันไปดูปมร่างรัฐธรรมนูญที่ยังคงเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างต่อเนื่อง ความจริงแล้วหลังปี 2475 มาจนถึงปัจจุบัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงของ มีชัย ฤชุพันธุ์  ซึ่งจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศนั้น การเขียนเพื่อให้คนยึดอำนาจสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีการวางแผนสืบทอดอำนาจในร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง

จุดที่เหมือนกันของการเขียนกฎหมายสูงสุดเพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะเผด็จการนั้นอยู่ที่นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกและวุฒิสภามาจากการลากตั้ง โดยฐานคิดเช่นนี้เอาจริงเอาจังในยุคคณะยึดอำนาจปี 2519 แล้วร่างรัฐธรรมนูญปี 2521 มาปกครองประเทศ จนทำให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับประโยชน์ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนนอกตั้งแต่ปี 2523-2531 นานถึง 8 ปี

หนนี้ก็เช่นเดียวกันไม่ว่าจะวางหมากกลซับซ้อนซ่อนเงื่อนอย่างไร แต่ความไม่เป็นประชาธิปไตยและการวางแผนเพื่อสืบทอดอำนาจนั้นมันปิดไม่มิด โดยล่าสุด สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองทะลุปรุโปร่งไปถึงว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะเกิดการสถาปนาโครงสร้างการเมืองใหม่ ที่จะมีอำนาจเหนือและซ้อนกับโครงสร้างการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน

จะสร้างนักการเมืองสายพันธ์ใหม่ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ดังนั้น จึงขอเรียกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า เป็นฉบับ“อภิชนเป็นใหญ่” ซึ่งจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่จะปะทุอย่างรุนแรงในอนาคต เพราะสวนทางกับการตื่นตัวทางการเมืองของคนไทย และเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกคว่ำในขั้นตอนการทำประชามติแน่นอน

เพราะแม้แต่คนที่เคยเชียร์กองทัพก็ไม่เอาด้วยกับร่างนี้ ถ้ารัฐบาล คสช.จะให้การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมปก็ควรจะนำรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือปี 2550 มาใช้เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการทุจริตหรือแก้ปัญหาความขัดแย้งในอนาคต หรือการปฏิรูปประเทศค่อยมาว่ากันเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว

ความเห็นแย้งอันมาจากพวกเดียวกันอีกหนึ่งรายคือ รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. ที่มีจุดยืนการต้านทักษิณ ชินวัตรและสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามทักษิณมาอย่างเหนี่ยวแน่น ก็ไม่อาจทนกับรัฐธรรมนูญร่างนี้ได้และเขียนข้อความต่อต้านลงเฟซบุ๊กอย่างตรงไปตรงมาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ รัฐธรรมนูญฉบับทุนขุนนาง

พร้อมกับชี้จุดบกพร่องต่อไปว่า ด้วยร่างเช่นนี้จะทำให้การตรวจสอบอำนาจรัฐของภาคประชาชนเป็นเรื่องยาก และจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างภาคประชาสังคมกับกลุ่มทุนการเมืองและข้าราชการ และจะส่งผลให้เกิดกลุ่มทุนผูกขาดที่เลวร้ายไม่น้อยกว่ากลุ่มทุนทักษิโณมิกส์ การตัดเรื่องสิทธิชุมชนก็ทำให้กลุ่มภาคประชาชนหลายคนที่เคยให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารได้เปลี่ยนท่าทีอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจไม่ได้แยแสต่อกระแสต่อต้านดังว่านี้แม้แต่น้อย นั่นคงเป็นเพราะไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใส่หมวกจะมีชะตากรรมอย่างไร องคาพยพใหญ่ที่เกิดจากการรัฐประหารที่ชื่อ คสช.ก็ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง โดยหากร่างไม่ผ่านการทำประชามติ ก็จะทำให้รัฐบาล คสช.อยู่บริหารประเทศต่อไป ซึ่งไม่รู้ว่าจะกินเวลานานเท่าใด

แต่หากร่างผ่านประชามติ การเลือกตั้งไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของผู้มีอำนาจ หากแต่เป็นระบบและโครงสร้างการเมืองที่ถูกออกแบบไว้เพื่อการรักษาฐานอำนาจของข้าราชการและทหารจะถูกสถาปนาขึ้นและดำรงอยู่ในระบบการเมืองไทยไปได้อีกนานแสนนาน สรุปได้ว่าเกมการเมืองนี้ กองทัพด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญของมีชัยและคณะ กรธ.จะได้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างแน่นอน

 

Back to top button