มีเดียเซอร์คัสกับนักกฎหมาย

แล้วเราก็ได้ประจักษ์กัน ถึงการสร้างประเด็นข่าวทางทีวีและสื่อออนไลน์ที่ดุเด็ดเผ็ดมันจากรายการโหนกระแสของหนุ่มกรรชัย


แล้วเราก็ได้ประจักษ์กัน ถึงการสร้างประเด็นข่าวทางทีวีและสื่อออนไลน์ที่ดุเด็ดเผ็ดมันจากรายการโหนกระแสของหนุ่มกรรชัยที่สร้างเรตติ้งสูงมากจากข่าวเรื่องดิไอคอนกรุ๊ปจนเสมือนหนึ่งว่ารายการโหนกระแสเป็นผู้นำในการสร้างพื้นที่ข่าวเชิงรุกจนกระทั่งข่าวอาชญากรรมกลายเป็นประเด็นทางสังคมที่หวือหวาไปเสียแล้ว

ประเด็นนี้ถือเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงของวงการสื่อ ซึ่งดูไปแล้วคล้ายคลึงกับประเด็นข่าวในภาพยนตร์เรื่องชิคาโก ที่ทนายความซึ่งนำแสดงโดยริชาร์ด เกียร์ ได้แสดงบทบาทชี้นำสังคมให้คล้อยตาม ดั่งในเพลงเอกของเรื่องที่ชื่อ Razzle Dazzle ซึ่งในพจนานุกรมตีความหมายว่า “พฤติกรรมอันหวือหวาที่ครอบงำโดยสื่อเพื่อชี้นำให้สังคมหลงผิด”  พฤติกรรมของสื่อดังกล่าวกลายเป็นคำนิยามใหม่ที่เรียกว่า มีเดียเซอร์คัส (Media Circus) ซึ่งเริ่มใช้เรียกกันอย่างแพร่หลายในปี 1970 ในการเปิดโปงเรื่องรักของนักเทนนิสสาวสวยคริส อีเวิร์ต ลอยด์ โดยนำมาเผยแพร่ให้เหมือนเรื่องราวของเจ้าหญิงเกรซ เคลลี่ แห่งโมนาโค แล้วตามด้วยข่าวอื้อฉาวในวงการฟิกเกอร์สเก็ตหญิงทอนย่า ฮาร์ดิ้ง ผู้หญิงอเมริกันคนแรกที่สามารถทำท่า Triple Axel (กระโดดหมุนกลางอากาศ 3 รอบ) แต่ในวันก่อนวันชิงแชมป์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นรอบคัดตัวผู้เข้าแข่งขันโอลิมปิกแนนซีคู่แข่งทอนย่าได้ถูกรอบทำร้าย ทอนย่าถูกศาลสั่งปรับและถูกแบนจากวงการฟิกเกอร์สเก็ตตลอดชีวิต

ประเด็นเรื่องมีเดียเซอร์คัส ทำให้นักวิชาการสื่อตั้งประเด็นว่า การจงใจเล่นข่าวอย่างหวือหวา จะเป็นการล้ำเส้นของวิชาชีพสื่อในการเข้าไปขุดคุ้ยเรื่องราวชวนให้สงสัย เพื่อหวังเรตติ้งโดยร่วมมือกับนักกฎหมายที่ไปร่วมรายการเปิดโปง และกลายเป็นผู้สร้างประเด็นข่าวเสียเอง เหมือนที่สนธิ ลิ้มทองกุล กระทำอยู่

ถึงแม้ว่ากรณีของมีเดียเซอร์คัสอาจจะไม่ได้เลวร้ายและเป็นการผลักดันสังคมแบบใหม่ แต่ท้ายที่สุดบทเรียนจากสหรัฐอเมริกา ก็ช่วยเปิดเผยข้อเท็จจริงที่หลังฉากของทุก ๆ มีเดียเซอร์คัสเต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาลจากการครอบงำสื่อที่ไม่ยั่งยืน เริ่มจากเจตนาในการสร้างประเด็นที่เรียกว่า Hollywood Plot ที่เริ่มจากการจับประเด็นคู่ขัดแย้งของกรณีโดยแยกเป็นฝ่ายพระเอกกับฝ่ายผู้ร้าย จากนั้นก็เจาะลึกความขัดแย้งลงไปให้ถึงที่สุดของปัญหา  หรือไม่อีกวิธีหนึ่งก็คือ เอาความขัดแย้งในตัวเองของเหยื่อมาสืบค้นจนได้ข้อสรุป

วิธีการใช้ฮอลลีวูดพลอตอย่างง่าย ๆ ทำให้รายการทีวีอย่างโหนกระแสมีจุดขายที่โดดเด่นขึ้นมา และทำให้เกิดการเลียนแบบทำตามกันต่อ ๆ มาในหลายรายการ  จนกระทั่งสังคมไทยเกิดความเชื่อแบบผิด ๆ ตรงกันว่าโลกที่เลวร้ายนั้นมีทางออกเสมอ แม้ข้อเท็จจริงปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด ในที่สุดเรื่องก็จะเงียบหายไปกับสายลม  และบนพื้นที่สื่อก็จะมีประเด็นใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่ในท่วงทำนองข่าวใหม่กลบข่าวเก่า

นี่คือยุคของ Razzle Dazzle ที่เลี่ยงไม่พ้น

วิษณุ โชลิตกุล

Back to top button