BBL เงินลงทุนเด่น ตั้งสำรองลด

BBL โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 1.อุตสาหกรรมการผลิตและพาณิชย์ 27.9% 2.สาธารณูปโภคและบริการ 18.9%


คุณค่าบริษัท

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 1.อุตสาหกรรมการผลิตและพาณิชย์ 27.9% 2.สาธารณูปโภคและบริการ 18.9% 3.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 12.6% 4.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 7.8% 5.เกษตรและเหมืองแร่ 3.3% 6.ธุรกิจอื่น ๆ 29.5%

BBL รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 มีกำไรสุทธิ 12,476.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.92% จากไตรมาส 3/2566 และเติบโต 5.67% จากไตรมาส 2/2567 ที่มีกำไรสุทธิ 11,806.83 ล้านบาท กำไรไตรมาส 3 สูงกว่าที่บล.กสิกรไทย คาดการณ์ไว้ 14% และสูงกว่าตลาดคาดการณ์ 9% กำไรดีกว่าคาด เนื่องจาก 1.อัตราส่วนต่างดอกเบียสุทธิ (NIM) ดีกว่าคาด 0.12% 2.รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบีย (non-NII) แข็งแกร่งกว่าคาด 18% สาเหตุหลักมาจากกำไรจากการลงทุนที่กำหนดมูลค่ายุติธรรม (FVTPL) ที่ 3.6 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการของบล.กสิกรไทย ที่ 2 พันล้านบาท 3.กำไรจากการลงทุน 721 ล้านบาท เทียบกับประมาณการที่ 200 ล้านบาท และ 4.ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่ต่ำกว่าที่คาด 3% และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่ลดลงเป็นปัจจัยสำคัญหนุนให้กำไรของ BBL เติบโตทั้งเมื่อเทียบไตรมาส 2/2567 และเทียบไตรมาส 3/2566

การตั้งสำรองลดลง 21.4% จากไตรมาส 2/2567 คิดเป็น Credit Cost ที่ระดับ 1.2% ลดลงจาก 1.5% ในไตรมาส 2/2567 แม้ตัวเลข NPL Ratio จะขยับขึ้นมาเป็น 3.9% จาก 3.6% ในไตรมาส 2/2567 แต่ส่วนใหญ่มาจากการตกชั้นของลูกหนี้เดิม (กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและค้าปลีก) ที่เคยพ้นจากสถานะ NPL ไปแล้ว แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามข้อตกลง (Relapsed) อีกทั้ง BBL ได้เร่งตั้งสำรองในครึ่งแรกของปี 2567 เพื่อรองรับลูกหนี้ดังกล่าวไว้แล้ว ทำให้ BBL เริ่มผ่อนคลายการตั้งสำรองลง

รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่โต 0.7% จากไตรมาส 2/2567 แม้สินเชื่อรวมจะลดลง 3% จากไตรมาส 2/2567 แต่ BBL บริหารสภาพคล่องส่วนเกินได้ดี โดยการเพิ่มสัดส่วนของพอร์ตเงินลงทุนในตราสารหนี้ ทำให้ NIM ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ช่วยชดเชยแรงกดดันจากการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อใหม่

ผู้บริหาร BBL คาดว่า NPL ratio จะอยู่ในช่วง 3.0-3.5% เทียบกับเป้าหมายที่ 3.0% และ NPL ratio ไตรมาส 3/2567 ที่ 3.4% ระดับใหม่ของ NPL ratio จะสอดคล้องกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ผู้บริหารคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์จะยังอยู่ภายใต้การควบคุม และคาดว่าสินเชื่อจะโตสูงขึ้นในไตรมาสที่ 4/2567 จากการเบิกเงินกู้ที่แข็งแกร่งจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อต่างประเทศ ส่วนกรณีลูกหนี้รายใหญ่กลุ่มสายการบินที่เตรียมออกจากแผนฟื้นฟูช่วงกลางปี 2568 โดยปกติแล้ว BBL ไม่มีแผนกลับสำรอง แต่การเลื่อนชั้นกลับมาเป็น Stage 2 มีความเป็นไปได้

ข้อมูลจาก LSEG Consensus สำหรับ BBL ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2567 ที่ 172,910.95 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 44,220.64 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 170.10 บาท จาก 21 โบรกเกอร์

บล.กสิกรไทย คาดว่ากำไรไตรมาส 4/2567 ของ BBL จะลดลงเมื่อเทียบไตรมาส 3/2567 เนื่องจากคาดว่า opex จะสูงขึ้นจากผลกระทบตามฤดูกาล, NIM จะลดลงจากอัตราดอกเบียนโยบายของไทยและตลาดต่างประเทศที่ลดลง และการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัว และคาดว่า credit cost ยังมีช่องว่างที่จะลดลงเล็กน้อยในไตรมาส 4/2567 เนื่องจาก BBL มี coverage ratio ที่สูงที่ 267% โดยคาดว่ากำไรสุทธิปี 2567 ของ BBL จะอยู่ที่ 43,269 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.93% จากปี 2566

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น BBL ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 29 ต.ค. 2567 ที่ 150.50 บาท) เทรดที่ P/E 6.75 เท่า ต่ำกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 7.78 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น BBL อยู่ที่ 0.53 เท่า ต่ำกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.67 เท่า

Back to top button