CEO คาดจีดีพีโต 2-3% กังวลหนี้ครัวเรือน

CEO ส่วนใหญ่ราว 60% ยังมองอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 เป็นไปตามกรอบเป้าหมายระดับ 1-3% และ 27% มองว่าอาจจะต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อ


เส้นทางนักลงทุน

แม้รัฐบาลจะผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ภาคเอกชนยังมองว่าน่าจะช่วยสนับสนุนให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ในปี 2567-2568 เป็นบวกได้แค่ 2-3% และส่วนใหญ่กังวลว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูงอาจเป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจ

ข้อมูลนี้ยืนยันโดยฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนระดับ CEO (CEO Survey : Economic Outlook 2024-2025) เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจ และประเด็นที่น่าสนใจในปี 2567-2568 (สำรวจช่วงวันที่ 1 สิงหาคม-27 กันยายน 2567) จำนวน 249 บริษัท

สาเหตุที่ CEO กว่า 63% คาด GDP จะโตระดับดังกล่าว เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ตามด้วยนโยบายการคลัง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ

CEO ส่วนใหญ่ราว 60% ยังมองอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 เป็นไปตามกรอบเป้าหมายระดับ 1-3% และ 27% มองว่าอาจจะต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อ

ขณะที่ มีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงกดดันที่จะมีผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมากที่สุด คือหนี้ครัวเรือนระดับสูง ตามด้วยปัญหากำลังซื้อภายในประเทศ ตลอดจนความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมือง

CEO เกินกว่า 70% คาดรายได้ของบริษัทยังเติบโตในปีนี้ และจะเร่งตัวขึ้นปีหน้า แต่มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนระดับสูงจะเป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ตามด้วยปัจจัยต้นทุนการผลิต ทั้งด้านวัตถุดิบ พลังงาน ต้นทุนทางการเงิน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ รวมทั้ง CEO บางคนมีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้ามาทำตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่ถูกระบุเพิ่มเข้ามาในการสำรวจรอบนี้ ขณะที่ CEO บางคนมีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างการผลิตของประเทศไทยที่ยังเป็นอุตสาหกรรมรูปแบบเก่า ซึ่งต้องมีการปรับตัว

ปี 2567 CEO ที่คาดการณ์ว่ารายได้ของธุรกิจจะเติบโตเล็กน้อยถึงปานกลาง (0.1-10%) มีจำนวนรวม 55% สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในครึ่งปีแรก 2567 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.3% สำหรับบริษัทจดทะเบียนใน SET และ 7.7% สำหรับบริษัทจดทะเบียนใน mai

CEO 3 ใน 4 สนใจลงทุนหรือขยายกิจการเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน, ไทย, เวียดนาม, จีน และอินเดีย ซึ่งเป็นภูมิภาคหรือประเทศที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ และเศรษฐกิจกำลังพัฒนารวดเร็ว แต่ก็กังวลในด้านสภาพคล่องที่เกี่ยวกับยอดขายที่ชะลอตัวลง และการชำระเงินของลูกหนี้การค้า ส่วนหนึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับการขอสินเชื่อธนาคารและวงเงินสินเชื่อ

ทั้งนี้ ด้านสภาพคล่องของธุรกิจยังเป็นปกติ แม้อาจมีความเสี่ยงจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ลดลง และต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยมีการปรับกลยุทธ์ในหลาย ๆ ด้าน เพื่อรับมือกับความท้าทาย

ในปี 2568 CEO มองว่านโยบายการคลัง การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออก จะเข้ามามีบทบาทต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตามคาดเสถียรภาพการเมืองไทยและปัญหากำลังซื้อภายในประเทศจะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจน้อยลง แต่เสถียรภาพการเมืองโลกและต้นทุนค่าจ้างแรงงานจะเข้ามามีบทบาทกดดันเศรษฐกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนดำเนินการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับความท้าทาย โดยมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ กำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายการลงทุน ปรับกลยุทธ์ทางการตลาด และปรับปรุงสินค้าหรือบริการให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริการเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

ในด้านโครงสร้างธุรกิจและการลงทุน CEO ส่วนใหญ่เลือกที่จะปรับโครงสร้างภายในบริษัทเองมากกว่าที่จะปรับโครงสร้างผ่านการควบรวมกิจการ หรือเปิดให้มีผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่เข้ามาเพิ่มเติม และ 70% เน้นการขยายการลงทุนภายในประเทศ โดยมีบริษัท 40% ที่พิจารณาขยายการลงทุนในต่างประเทศ

ซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วนบริษัทจดทะเบียนราว 35% ที่มีการรายงานรายได้จากต่างประเทศในปีล่าสุด และมีบริษัทราว 20% และ 30% ที่มีการพิจารณาทางเลือกแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากการเสนอขายตราสารทุนและหุ้นกู้

ในด้านการดำเนินงานและการตลาด CEO จำนวนมากระบุว่าได้ดำเนินการ หรือมีแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านแรงงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าหรือบริการ ควบคู่ไปกับการทำวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และราคาให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าหรือบริการ รวมทั้งมีการปรับช่องทางการโฆษณาสินค้าและวิธีการสื่อสารเฉพาะกลุ่มให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแทนกลยุทธ์ทางการตลาดแบบเดิม

แม้ CEO ส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ 2-3% แต่ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูง ต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น และต้นทุนทางการเงินอาจเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจและธุรกิจได้

Back to top button