พาราสาวะถี

กระแสดีวันดีคืนสำหรับ แพทองธาร ชินวัตร ที่ล่าสุดสวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจประชาชนทั่วประเทศ เรื่องดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนตุลาคม 2567


กระแสดีวันดีคืนสำหรับ แพทองธาร ชินวัตร ที่ล่าสุดสวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจประชาชนทั่วประเทศ เรื่องดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนตุลาคม 2567 กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนนายกรัฐมนตรีหญิง เป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คะแนนที่เพิ่มขึ้นรอบนี้มาจากการที่ประชาชนเห็นมาตรการช่วยน้ำท่วมของรัฐบาลที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส การช่วยเหลือเยียวยากรณีไฟไหม้รถบัสนักเรียนจังหวัดอุทัยธานี

สวนทางกับความนิยมของพรรคแกนนำฝ่ายค้านอย่างประชาชน ที่พบว่าปรับตัวลดลงในรอบ 10 เดือน สะท้อนความไม่แน่นอนในการดำเนินงาน แม้ประชาชนจะชื่นชมการอภิปรายของฝ่ายค้าน แต่ยังไม่สามารถดึงความสนใจในวงกว้างได้ ประกอบกับตัวผู้นำไม่ได้โดดเด่น เป็นที่ยอมรับเหมือน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งบอกไว้ตั้งแต่ก่อนจะมีการยุบพรรคก้าวไกลแล้วว่า ปัญหาที่จะตามมาหากพรรคมีอันเป็นไปคือ แกนนำที่จะได้รับการยอมรับในวงกว้างจากประชาชน

ทั้งนี้ ผลโพลไม่ได้ชี้ชัดว่าคนส่วนใหญ่จะคิดไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด แต่หากอิงกับภาวะแห่งความเป็นจริงในแง่ของการทำงาน ต้องยอมรับความจริงกันว่า การมีอำนาจในฝ่ายบริหารย่อมเป็นความได้เปรียบมากกว่าการเป็นแกนนำฝ่ายค้านในสภาฯ แน่นอนว่า การทำงานในปีแรกที่ไม่ครบ 365 วันของ เศรษฐา ทวีสิน แม้ผลงานจะยังไม่ปรากฏในทันที แต่สิ่งที่ได้ริเริ่ม และลงมือทำภายใต้ภาพความขยันขันแข็งนั้น ได้ผลิดอกออกผล หลังส่งไม้ต่อให้อุ๊งอิ๊งที่เริ่มทำงานได้สองเดือนเศษ

ภายใต้กระแสขย่มหวังล้มรัฐบาลที่ผุดขึ้นทันทีทันใดที่ลูกสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร ก้าวเท้าเข้ามาสวมหัวโขนผู้นำประเทศ โดยเฉพาะการใช้ช่องทางนิติสงคราม ไม่ได้ทำให้รัฐบาลพลิกขั้วสะทกสะท้าน ตรงข้าม กลับเร่งการทำงานเพื่อแสดงผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างกรณีน้ำท่วม จนถึงเหตุไฟไหม้รถบัสนักเรียน สะท้อนให้เห็นความรวดเร็วในการตัดสินใจ เช่นเดียวกับการเดินหน้าแจกเงินหมื่นบาทให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ

เมื่อฉายภาพของความกล้าตัดสินใจแล้ว วิสัยทัศน์ก็เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจับตามอง ซึ่งการที่ภาคเอกชนคณะใหญ่อย่าง กกร.เข้าพบ พร้อมประกาศร่วมมือและสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่ ไม่ใช่การสร้างภาพ หรือเป็นการเยินยอกันตามมารยาท หากแต่ทุกฝ่ายต่างรับรู้ถึงสภาพปัญหาของบ้านเมือง ยิ่งเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ต่างก็รู้ดีว่าความเป็นลูกของอดีตนายกฯ ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ย่อมมองทะลุว่า อุปสรรคอยู่จุดไหน และจะแก้ไขกันอย่างไร

ความเป็นรัฐบาลผสมในอดีตอาจทำให้การทำงานล่าช้า มีการขัดแข้งขัดขากันเอง แต่นั่นไม่ใช่รัฐบาลแพทองธาร เนื่องจากโจทย์ที่ได้รับมานั้นงานด้านเศรษฐกิจถือเป็นภารกิจหลักที่จะต้องช่วยกันแก้ไข ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามิติทางการเมืองไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะได้รับการแก้ไขทันสมัยรัฐบาลนี้หรือไม่ พรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันจะต้องจับมือกันให้สามารถกลับมาร่วมงานกันได้อีกครั้งหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

จะเห็นได้ว่าประเด็นที่มีการจุดกระแสของฝ่ายตรงข้าม เพื่อหวังที่จะเกิดการแตกคอกันของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดถูกวางกรอบด้วยการหารือ ถกแถลงแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้ความเห็นที่ตรงกัน ส่วนที่เป็นปัญหาก็ให้แต่ละพรรคไปศึกษาหาทางออก หากมีข้อเสียมากกว่าดีก็พักวางไว้ เพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำได้รับบทบาทในการที่จะเป็นหัวขบวนของการขับเคลื่อนนโยบายหลักที่ได้ประกาศกับประชาชนไว้

เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อ สว.ตีตกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ แม้จะมีความพยายามเร่งรัดในกระบวนการต่าง ๆ แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับความจริงกันว่า ยังไงเสียก็ไม่ทันสมัยรัฐบาลนี้ ซึ่งเพื่อไทยไม่ได้ผิดคำพูด เพราะได้ทำเต็มที่แล้ว แต่สภาสูงไม่ได้มองไปในทิศทางเดียวกัน ย่อมเป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ เข้าทำนองทำทุกทางอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่ไม่สำเร็จย่อมไม่ใช่ความผิด กองเชียร์ย่อมเข้าใจ ฝ่ายที่ตั้งท่าจะเล่นงานย่อมหาแง่มุมจะมาโจมตีลำบาก

นอกจากนั้น ด้วยอุปสรรคที่จะต้องเจอ พรรคแกนนำรัฐบาล โดย ชูศักดิ์ ศิรินิล มือกฎหมายของพรรคและรัฐบาล ก็ได้วางแนวทางของการแก้ไขไว้แล้ว เพื่อให้เห็นความพยายามว่าไม่ได้ปล่อยปละละเลยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการวางไว้ถึง 3 แนวทาง อย่างแรกถ้ากฎหมายประชามติจำเป็นต้องรอ 180 วัน แนวโน้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจทำไม่เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ถ้าจะทำให้เสร็จต้องเร่งรัดขั้นตอนเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นวิธีที่ยากลำบาก ฉะนั้น ต้องคิดว่าหากเป็นแนวทางนี้จะเดินต่ออย่างไร

แนวทางที่สองถือเป็นการมองโลกในแง่ดี แต่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้นั่นก็คือ หากกฎหมายประชามติเสร็จเร็ว ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติของสองสภา หากเป็นเช่นนี้จะทำให้สามารถจัดทำประชามติได้เร็วไม่เสียเวลา 180 วัน แนวโน้มที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะทันสมัยรัฐบาลนี้ แต่น่าจะเป็นไปได้ยาก ขณะที่แนวทางสุดท้ายถือเป็นเกมการวัดใจ และท้าทายนิติสงครามนั่นก็คือ การทำประชามติ 2 ครั้ง ที่ฝ่ายกฎหมายมองว่าเป็นไปได้ แต่ต้องหารือกับหลายฝ่าย คาดหมายได้ว่า น่าจะมีคนเห็นต่างมากกว่าคล้อยตาม

การทำประชามติ 2 ครั้งจะขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ การอ้างว่าคำวินิจฉัยส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญมีถึง 6 เสียงที่บอกว่าทำ 2 ครั้งก็พอ แต่สภาก็ไม่กล้าฟันธงกลัวจะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ซึ่งการที่ สว.สายสีน้ำเงินมีมติให้กลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่มาจากฝั่งอำนาจเดิม และผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากกลไกของขบวนการสืบทอดอำนาจ การแตะแล้วไม่ได้ไปต่อ กับการปล่อยให้เวลาทอดออกไปไม่ได้อย่างใจพวกฮาร์ดคอร์ แต่อย่างน้อยก็ยังสามารถอยู่ในอำนาจการบริหารต่อไป แค่นี้ก็รู้แล้วว่าพวกเขี้ยวลากดินจะเลือกแบบไหน

อรชุน

Back to top button