รถไฟไม่มา ‘อู่ตะเภา’ ไม่ไป.!?
เป็นอีกหนึ่งเผือกร้อนในมือนายกฯ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูง
เป็นอีกหนึ่งเผือกร้อนในมือนายกฯ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 224,544 ล้านบาท มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด (กลุ่มซีพี) เป็นคู่สัญญาผู้รับสัมปทาน 50 ปี
โดยโครงการนี้เกิดความล่าช้ามากว่า 2 ปีแล้ว หลังจากมีการจรดปากกาเซ็นสัญญากันไปตั้งแต่ปีมะโว้ (เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562) แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการตอกเสาเข็มเริ่มดำเนินการก่อสร้างนะจิบอกให้…
การแก้ไขสัญญาสัมปทานไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินให้กับกลุ่มซีพี จึงกลายเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง ทั้งในแวดวงการเมือง แวดวงธุรกิจ และแวดวงกฎหมาย…โดยแวดวงการเมือง ภายใต้ท่าทีของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคสีน้ำเงิน ที่ส่งสัญญาณ ถอยดีกว่า…ไม่เอาดีกว่า เลยเป็นที่มาของการชักเย่อไม่นำเข้าครม.ซะที…ปล่อยให้กลุ่มซีพีรอเก้อ…ต้องซดน้ำแห้วหลายกระบุง..!!
ในเชิงบทกฎหมายก็ถูกตั้งคำถามว่า การแก้ไขสัมปทานทำได้หรือไม่..?? เพราะการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งนี้ นำไปสู่ข้อครหาจะ “เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน” หรือนำไปสู่การยกเลิกสัมปทานหรือเปล่า..?? ซึ่งที่ผ่านมาถูกมองว่ากลุ่มซีพีอยากล้มสัมปทานใจแทบขาด แต่ติดตรงที่กลัวถูกหมายหัวขึ้นแบ็กลิสต์ห้ามประมูลงานภาครัฐอีกต่อไป…เดี๋ยวจะกลายเป็นทุบหม้อข้าวตัวเอง ได้ไม่คุ้มเสีย…
แหม๊…ไอ้ตอนประมูลก็อยากได้จน… ด้วยการเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำในราคา 117,227 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มบีเอสอาร์ (บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ถือหุ้น 60%, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ถือหุ้น 20% และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ถือหุ้น 20%) ที่เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 169,934 ล้านบาท…พอมาถึงตอนนี้เกิดอาการงอแงซะงั้น…มันน่าตีจริง ๆ
กลุ่มซีพีจึงเล่นบทดราม่า…เป็นผู้ถูกกระทำ…อุ๊ย ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ผนวกกับเกิดสงครามรัฐเซีย-ยูเครน มิหนำซ้ำต้นทุนดอกเบี้ย-ต้นทุนวัสดุและค่าก่อสร้างยังสูงขึ้นอีก เลยอ้อนวอนขอความเห็นใจจากภาครัฐในการปรับแก้ไขสัมปทานดังกล่าว…
ส่วนรายละเอียดขอแก้ไขยังไงบ้างนั้น…อย่าให้ต้องสาธยายเลย ไปหาอ่านกันเองละกัน
สิ่งที่ตามมาเมื่อไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินยังไม่มา…นำไปสู่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เมกะโปรเจกต์มูลค่า 204,240 ล้านบาท ก็ไปไม่ได้ ต้องหยุดชะงักไปด้วย เพราะทั้งสองโครงการสอดรับกันอยู่..!!
โดยโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีกลุ่มบีบีเอส ที่มีการบินกรุงเทพ (บางกอกแอร์เวย์ส) ถือหุ้น 45%, บีทีเอส กรุ๊ป ถือหุ้น 35% และ ซิโน-ไทยฯ ถือหุ้น 20% เป็นผู้คว้าชัยชนะ ด้วยการเสนอให้ผลตอบแทนแก่รัฐถึง 305,555 ล้านบาท ตลอดสัญญา 50 ปี
ในขณะที่กลุ่มธนโฮลดิ้งและพันธมิตร ที่มีธนโฮลดิ้ง (เครือซีพี) ถือหุ้น 70%, อิตาเลียนไทย ถือหุ้น 5% และ ช.การช่าง ถือหุ้น 10% เสนอให้ผลตอบแทนแก่รัฐ 102,217 ล้านบาท ตลอดสัญญา 50 ปี
ทว่า จุดไคลแม็กซ์ของการลงทุนไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน จะต้องได้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกควบคู่ไปด้วย ถึงจะคุ้มค่ากับการลงทุนนะออเจ้า..!! ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มซีพีหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นผู้ชนะทั้ง 2 โครงการ…
เมื่อไม่เป็นไปตามแผน…ต้องแบ่งกันไปคนละโปรเจกต์อย่างนี้ ก็ทำให้ความคุ้มค่าในการลงทุนลดน้อยลง เลยเกิดอาการงอแงอย่างที่เห็น…
คงต้องวัดใจรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่าจะแก้ปมร้อนนี้ยังไง..??
แต่อันดับแรกคงต้องไปเคลียร์ใจพรรคร่วมให้ได้ก่อนละมั้ง..??
ซึ่งไม่ว่าบทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นยังไง..??
แต่การที่ตอนนี้ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินไม่มา…นำมาสู่สนามบินอู่ตะเภาฯ ไม่ไป มันทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสมหาศาล…
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนไทยต้องยิ้มรับทั้งน้ำตา..!?
…อิ อิ อิ…