พาราสาวะถี
รูปรอยการก่อตัวของข้อมูลที่ถูกป้อนเพื่อล้มรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร มองกันได้ไม่ยาก หากจะหาที่มาของขบวนการสุมหัว ขาประจำจากพวกม็อบมีเส้นก็เล่นชูประเด็นคลั่งชาติโจมตีการขายชาติ
รูปรอยการก่อตัวของข้อมูลที่ถูกป้อนเพื่อล้มรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร มองกันได้ไม่ยาก หากจะหาที่มาของขบวนการสุมหัว ขาประจำจากพวกม็อบมีเส้นก็เล่นชูประเด็นคลั่งชาติโจมตีการขายชาติ ขณะที่เครือข่ายของอำนาจเก่าก็ใช้กลไกที่คิดว่าตัวเองยังคุมและสั่งการได้ เป็นเครื่องมือในการปูดประเด็นให้เป็นที่กังขาของสังคม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดกรณีปลุกระดมขนมผสมน้ำยา เอาเอ็มโอยู 44 มาพันกับเกาะกูด และข่าว ป.ป.ช.กังขาขอเวชระเบียน ทักษิณ ชินวัตร รักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจถึง 3 ครั้งแล้วยังไม่ได้
อย่างหลังว่ากันตามกระบวนการ หากไม่ได้รับความร่วมมือจริง เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ตามกฎหมายที่จะสามารถดำเนินการเอาผิดกับหน่วยงาน หรือองค์กรที่ปฏิเสธได้ แต่อย่าลืมว่ายังมีเรื่องที่ตัวเองก็ยังไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสอบนาฬิกาหรู ที่ศาลปกครองสั่งในคดีซึ่ง วีระ สมความคิด ไปยื่นร้อง กระทั่งวันนี้มีการไปฟ้องเอาผิดกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหมดต่อศาลอาญาฯ แล้ว กรณีของทักษิณหากมีการตรวจสอบที่ตรงไปตรงมา เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็อยากจะให้กระจ่างชัดเช่นเดียวกัน
ด้าน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยัน ไม่ว่าจะมีการตั้งข้อสงสัยอย่างไร หากยึดตามแนวทางของกฎหมาย แม้ไม่ได้อยู่ในเรือนจำ แต่การที่อดีตนายกฯ ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ยึดตามข้อตกลงของกรมราชทัณฑ์กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ถือว่าเป็นที่คุมขังอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่รับโทษทักษิณไม่เคยออกจากที่คุมขังแม้แต่นาทีเดียว ทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ต้องไปพิสูจน์ตามกระบวนการ
ส่วนการจุดกระแสเรื่องเกาะกูดนั้น ต้องตั้งคำถามพวกที่ปลุกระดมว่าเจตนาบิดเบือนเพื่ออะไร ความจริงก็คือ เกาะกูดเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตราด และทางฝั่งกัมพูชาก็ไม่เคยอ้างสิทธิในการครอบครองมาตั้งแต่ต้น เพราะยึดตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ.125 ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ พื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือ OCA : Overlapping Claim Area โดยฝ่ายเขมรได้ขีดเส้นเขตแดนเมื่อปี 2515 ไทยขีดเส้นปี 2516 จนเกิดเป็นข้อขัดแย้ง และนำมาซึ่งเอ็มโอยู 44
เอ็มโอยู 44 ตามคำชี้แจงของ สุพรรณวษา โชติกญาณ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า ไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดนใด ๆ โดยเฉพาะพื้นที่เกาะกูด เพราะตามสนธิสัญญาที่สยามได้ลงนามร่วมกับฝรั่งเศสนั้น บัญญัติชัดเจนว่า “เกาะกูดเป็นของไทย” มีความชัดเจนอยู่แล้ว และตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้ใช้อำนาจอธิปไตยไทยเหนือเกาะกูด 100% และเอ็มโอยู 44 ก็สอดคล้องกับพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย ปี 2516 เพราะมีการระบุพิกัดต่าง ๆ ตามแนวทางการประกาศเขตไหล่ทวีป
เมื่อเกิดการทับซ้อนก็ต้องไปเจรจา เอ็มโอยู 44 ก็เป็นความตกลงร่วมกัน เพื่อให้มีการเจรจาซึ่งเป็นไปตามแนวทางสากล โดยที่ประเทศไทยไม่ได้ใช้หลักการเจรจาที่แตกต่างจากประเทศอื่น เพราะต่างฝ่ายต่างมีสิทธิอ้างพื้นที่ และผูกพันเฉพาะผู้อ้างเท่านั้น เมื่อมีการทับซ้อนพื้นที่ก็ต้องมีการเจรจา ดังนั้น ในเอ็มโอยูข้อ 5 จึงระบุว่า การเจรจาจะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิของแต่ละฝ่ายผู้ทำสัญญา เมื่อมีข้อพิพาทจะต้องมีการพูดคุย และไม่ว่าการพูดคุยจะเป็นอย่างไร แต่เส้นการอ้างสิทธิของไทยยังคงมีอยู่ และไทยก็ไม่ได้ยอมรับการอ้างสิทธิของกัมพูชาเช่นเดียวกัน
ภายใต้เงื่อนไขการมีผลบังคับใช้ของการแบ่งเขต สำหรับการอ้างสิทธิทางทะเล ของภาคีผู้ทำสัญญาในพื้นที่ที่ต้องมีการแบ่งเขต บันทึกความเข้าใจนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลแต่ละภาคีของผู้ทำสัญญา หมายความว่า การอ้างสิทธิของแต่ละฝ่ายก็จะยังคงอยู่ตามกฎหมาย ผลสำเร็จของการเจรจาจะเป็นอย่างไร จะไม่เป็นการทำลายการอ้างสิทธิ ไทยจึงต้องรักษาสิทธิการอ้างสิทธินี้ ไทยไม่ต้องตกลงอะไรทั้งนั้น จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าสิ่งที่ไทยได้ ได้สมประโยชน์ของไทย ดังนั้น ไทยจึงไม่ยอมรับการอ้างสิทธิของกัมพูชา และกัมพูชาเองก็ไม่ได้ยอมรับการอ้างสิทธิของไทย
อย่างไรก็ตาม การมีเอ็มโอยู 44 ทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับ ถือเป็นพื้นฐานที่ดีที่จะดำเนินการเจรจา และกลไกที่มีการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทยกัมพูชา หรือ JTC จะเป็นตัวกำหนดนโยบายใหญ่ จะขับเคลื่อนได้ เพราะมีองค์ประกอบส่วนราชการที่ครบถ้วน ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กองทัพ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. และยังมีองค์ประกอบย่อย ซึ่งมีความคล่องตัวสามารถประชุมบ่อยครั้งได้ เมื่อมีความคืบหน้าก็รายงานให้ JTC ทราบได้
ประเด็นที่มีการนำมาโจมตีกันนอกเหนือจากเกาะกูดคือ การเจรจาผลประโยชน์พื้นที่ทางทะเล และการเจรจาผลประโยชน์ทางทรัพยากร ก็มีคณะทำงานแยก เรื่องผลประโยชน์พื้นที่ทางทะเลมีอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ เป็นประธานคณะทำงาน การเจรจาผลประโยชน์ทรัพยากร มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นประธาน ทั้งสองคณะทำงานร่วมกัน และรายงานให้ JTC ทราบเป็นระยะ ที่สำคัญคือคณะกรรมการเพื่อดำเนินการเรื่องเหล่านี้ยังไม่ได้มีการตั้ง พูดง่าย ๆ คือ ครม.ยังไม่ได้พิจารณาแต่อย่างใด
โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเสนอคณะทำงานต่าง ๆ ใน JTC ให้ ครม.พิจารณาเร็ว ๆ นี้ เมื่อ ครม.อนุมัติองค์ประกอบแล้วจึงจะจัดการประชุมฝ่ายไทย และติดต่อทางการกัมพูชาให้จัดองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกันเพื่อเปิดการเจรจา สรุปขณะนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น มากไปกว่านั้นหลักการของการเจรจานั้น ประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องยอมรับข้อตกลงนี้ และผลที่ได้จากการเจรจาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และสอดคล้อง เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การปลุกกระแสคลั่งชาติจึงไม่ใช่เรื่องที่เอามัน และมีเป้าหมายเพื่อทำลายล้างฝ่ายที่ไม่ชอบขี้หน้าเพียงอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ประเทศจะได้รับ รวมไปถึงต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เรียกร้องด้วย เหมือนที่เคยกล่าวหาและฟ้อง นพดล ปัทมะ คราวดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศเรื่องแถลงการณ์ร่วม หรือ joint communique กรณีเขาพระวิหาร ศาลฎีกาชี้ว่า การดำเนินการของนพดลไม่มีความผิด ประเทศไทยได้ประโยชน์จากกรณีดังกล่าว แต่พวกที่ให้ร้าย ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใด ๆ นี่คือความสามานย์
อรชุน