Apple ลงทุนอิเหนาแลกขาย iPhone 16
นับว่าเป็นข่าวที่ฮือฮาไม่น้อยเมื่อมีรายงานว่า Apple เสนอแผนลงทุนมูลค่ากว่า 336 ล้านบาท แก่กระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย
นับว่าเป็นข่าวที่ฮือฮาไม่น้อยเมื่อมีรายงานว่า Apple เสนอแผนลงทุนมูลค่ากว่า 336 ล้านบาท แก่กระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อยกเลิกการห้ามจำหน่าย iPhone 16 ในอินโดนีเซีย
การยื่นข้อเสนอเพิ่มการลงทุนในประเทศ จาก Apple มีขึ้นหลังจากรัฐบาลอินโดนีเซีย สั่งห้ามจำหน่าย iPhone 16 ในประเทศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม เล็งเห็นว่า Apple ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดในการใช้ชิ้นส่วนหรือวัสดุที่ผลิตในประเทศอย่างน้อย 40% สำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้
รายงานจากรัฐบาลอินโดนีเซีย บ่งชี้ว่า Apple มีการลงทุนในประเทศ ผ่านสถาบันพัฒนาเพียง 1.5 ล้านล้านรูเปียห์ ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1.7 ล้านล้านรูเปียห์
กรณีการห้ามขาย iPhone 16 ดังกล่าว เป็นความพยายามของ “ปราโบโว ซูเบียนโต” ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่จะกดดันให้บริษัทต่างชาติ เพิ่มการผลิตในประเทศและปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ Google Pixel ของบริษัท อัลฟาเบท เนื่องจากมีการลงทุนในประเทศ ต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้
ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหานี้ Apple เสนอแผนการลงทุนโรงงานเมืองบันดุง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงจาการ์ตา จะช่วยให้สามารถผลิตอุปกรณ์เสริมและส่วนประกอบสำหรับอุปกรณ์ของแอปเปิลได้
แผนลงทุนดังกล่าวต้องใช้เงินประมาณ 10 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง Apple มองว่าเป็นราคาเพียงเล็กน้อย เพื่อแลกกับการเข้าถึงผู้บริโภค 278 ล้านคนของอินโดนีเซีย ที่จำนวนประชากรมากกว่าครึ่งมีอายุต่ำกว่า 44 ปี และเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการใช้เทคโลโลยี
ทั้งนี้ Apple เป็นเหมือนกับบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติอื่น ๆ โดยไม่มีโรงงานเป็นของตัวเอง แต่จำเป็นต้องร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่น เพื่อผลิตชิ้นส่วนและประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้สมบูรณ์
แม้ว่านโยบาย “ปราโบโว” ที่คล้ายกับนโยบายของอดีตประธานาธิบดี โจโก วีโดโด โดยปี 2566 มีการผลักดันให้บริษัท ไบท์แดนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของติ๊กตอก ต้องเพิ่มการลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์ ในการจับมือกับบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซีย อย่าง “โทโกพีเดีย” ที่ดำเนินการภายใต้ “โทโกกรุ๊ป”
ขณะนั้นรัฐบาลอินโดนีเซีย ต้องการป้องกันการไหลเข้าของสินค้าจีน ที่มีราคาถูกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังของไบท์แดนซ์ เพื่อเป็นการรักษาอุตสาหกรรมค้าปลีกของประเทศไว้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อินโดนีเซีย พยายามผลักดันบริษัทต่างชาติ ให้เพิ่มการผลิตในประเทศ ดูได้จากช่วงต้นปีที่ผ่านมา อินโดนีเซีย สั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์กว่า 1,000 รายการ ตั้งแต่ Mac Book จนถึงยางรถยนต์และสารเคมี ทำให้บริษัท แอลจี อิเล็กทรอนิกส์ ถูกห้ามไม่ให้นำเข้าชิ้นส่วนสำคัญเพื่อผลิตเครื่องซักผ้าและโทรทัศน์ได้
จากการสำรวจ พบว่า สัดส่วนการผลิตต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ลดลงจาก 21.1% ในปี 2557 เหลือเพียง 18.7% ช่วงปีที่ที่ผ่านมา
โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนต่อข้อเสนอของแอปเปิล ขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายและรายละเอียดต่าง ๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ดีคาดการณ์ว่ากระทรวงอุตสาหกรรม จะสามารถประกาศผล การตัดสินใจช่วงเร็ว ๆ นี้