TRUE – JAS และ 4Gลูบคมตลาดทุน
ฝุ่นยังคงไม่หายตลบหลังการประมูล 4G โดยเฉพาะบนคลื่นความถี่ 900 MHz
ธนะชัย ณ นคร
ฝุ่นยังคงไม่หายตลบหลังการประมูล 4G โดยเฉพาะบนคลื่นความถี่ 900 MHz
อย่างกรณีของ ทรูฯ ดูผิวเผินเหมือนจะไม่มีปัญหา
เพราะสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ที่จะเข้ามาซัพพอร์ตด้านการเงิน เหมือนจะลงตัวแล้ว
นั่นก็คือ มาจากธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง หรือเป็นรูปแบบ ซินดิเคทโลน
ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงไทย กรุงเทพ และไอซีบีซี (ไทย)
ทั้งหมดเฉลี่ยจะให้ทรูฯ รายละ 16,600 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 73,000 ล้านบาทพอดีกับวงเงินประมูลเลยล่ะ
กรณีของไทยพาณิชย์ หรือ SCB กับกลุ่มซีพีนั้น เขาเป็นพันธมิตรกันมานาน และเข้าใจว่า SCB เองก็พร้อมให้ความช่วยเหลือเต็มที่ บนพื้นฐานการบริหารความเสี่ยงที่เป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคาร
ส่วนไอซีบีซี นี่ก็มาจากประเทศจีน
ก่อนหน้านี้ก็ทราบกันอยู่ว่าทรูฯ นั้นมีพันธมิตรจากประเทศจีนเข้ามาถือหุ้น นั่นก็คือ ไชน่าโมบายล์
หากจะมีไอซีบีซีเข้ามาร่วมวงด้วยก็ไม่น่าแปลกใจอะไร
ประเด็นที่คนกำลังให้ความสนใจคือ กรณีของแบงก์กสิกรไทย หรือ KBANK และกรุงไทย(KTB)
แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้บริหารของ KBANK จะออกมาบอกว่า จะนำเรื่องของกลุ่มทรูฯ เกี่ยวกับประเด็น 4G เข้าในที่ประชุมบอร์ดในวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา
แต่ปรากฏว่า ล่าสุด ผู้บริหารของธนาคารถูกสั่งห้ามให้ข่าวเรื่องนี้ซะแล้ว
ท่ามกลางข่าวที่ว่า บอร์ดของกสิกรไทย ยังไม่ได้นำประเด็นเรื่องของทรูฯเข้ามาในที่ประชุมในวันนั้น หรืออาจจะต้องมีการพิจารณาอะไรเพิ่มเติมนั่นแหละ
ไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้น นอกจาก KBANK และกลุ่มทรูฯ
ส่วนแบงก์กรุงไทยเองนั้น ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวของ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้สอบถามคุณวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB ว่าเป็นแบงก์ที่ร่วมปล่อยกู้ 4G ด้วยหรือไม่
คำตอบที่ได้รับคือ “ไม่มี” และ “ไม่มีแนวโน้มจะปล่อยกู้”
แต่มีแหล่งข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์ยืนยันว่า มี “กรุงไทย” ร่วมด้วย
ส่วนแหล่งข่าวอีกคนก็ออกมาบอกกรณีนี้ว่า บอร์ดของกรุงไทย อาจไม่ตอบรับกับการปล่อยกู้ 4G ให้กับกลุ่มทรูฯ
ทว่าพอมาอาทิตย์นี้ กลุ่มทรูฯประกาศเพิ่มทุน 6 หมื่นล้านบาท แบบสายฟ้าแลบทันที
บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์จากหลายสำนัก คำนวณตัวเลขทางการเงินกลุ่มทรูฯใหม่ พร้อมลดราคาเป้าหมายหุ้น TRUE ทันที โบรกฯ บางแห่งให้เหลือ 3.30 บาท บางแห่งให้ไว้ 6.00 บาท
ขายซิครับ..รออะไรล่ะ?
และนั่นทำให้หุ้น TRUE ร่วงลงอย่างหนัก 0.50 บาท มาที่ 6.60 บาท เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ก.พ.
มีคนตั้งคำถามว่า การเพิ่มทุนของทรูฯ เป็นการแนะนำของบรรดานายแบงก์หรือเปล่า
ก็เลยต้องไปถามนายแบงก์ครับ
คำตอบคือ “ไม่น่าใช่”
แต่เข้าใจว่า ทรูฯอาจไม่ต้องการมีหนี้เพิ่มขึ้น และการขอสินเชื่อเพื่อลงทุน 4G อาจไม่ได้ใช้เงิน(ในรอบแรกๆ) จากสถาบันการเงินสูงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เรื่อง “วิศวกรรมทางการเงิน” ต้องยกให้กลุ่มทรูฯเขาครับ
พวกเขาเอาตัวรอดได้…
ส่วนเรื่องของ JAS ก่อนหน้านี้ก็เคยเขียนไปแล้ว
ส่วนล่าสุดไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรเหมือนกัน เพราะตอนนี้นายแบงก์ต่างปิดปากเงียบเรื่องของ 4G กันหมด
และนั่นทำให้เกิดการตีความกันไปต่างๆ ว่า ตื้นลึกหนาบางนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ จะสนับสนุน หรือไม่สนับสนุน หรือสนับสนุนแค่ไหน อย่างไร
และ JAS ต้องทำวิศวกรรมการเงินแบบทรูฯ หรือไม่
แต่ที่แน่ๆ คือ การขอการสนับสนุนทางการเงินของ JAS นั้น จะต้องเป็นแบบ ซินดิเคทโลน
หรือมีสถาบันการเงินหลายแห่งให้การสนับสนุนทางการเงิน และคงไม่สามารถใช้สถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งเพียงรายเดียวได้แน่นอน
ยกเว้นแต่จะไม่ได้ขอกู้เงินจำนวนมาก
แต่อย่าลืมว่า สายสัมพันธ์ของ JAS และนายแบงก์หลายๆ แห่ง ไม่ใช่ขี้ไก่นะครับ
ไม่อย่างนั้น JAS ก้าวมาถึงจุดนี้ไม่ได้
เพียงแต่ว่า JAS อาจต้องไปทำการบ้านที่นายแบงก์ให้โจทย์ไปเพิ่มเติมอีก ก็อาจจะแค่นั้น
ล่าสุด คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ออกมาฟันธงครับ
“ผู้ชนะประมูลใบอนุญาตให้บริการระบบเครือข่าย 4G บนคลื่น 900 MHz ทั้ง 2 ราย คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) และบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด จะจ่ายเงินค่าใบอนุญาตภายในกำหนดวันที่ 21 มี.ค. 59 นี้อย่างแน่นอน”
หากรายใดไม่จ่ายตามกำหนดก็ต้องถูกปรับตามเกณฑ์
และเข้าสู่ขั้นตอนการประมูลใหม่
แต่กทค.ก็เชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้