‘ฟิทช์’ คงเครดิต BBB+ มองไทยเสถียรภาพ

หลังจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2.7% มาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี


หลังจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2.7% มาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 3% ต่อปี จากปัจจัยบวก 4 ด้านหลัก คือ การบริโภคภาคเอกชน, การส่งออกสินค้า, การท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน

ล่าสุดวันที่ 8 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings (Fitch) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ณ ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดย Fitch คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเติบโตจาก 2.6% เป็น 3.1% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง 

โดยคาดว่าปี 2568 นักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐและภาคเอกชนเป็นสำคัญ

อีกทั้งกรอบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค มีความเข้มแข็งในการรับมือกับความท้าทาย อาทิ รายได้ต่อหัว และดัชนีธรรมาภิบาล (World Governance Indicators: WGI) เมื่อเปรียบเทียบประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (Peers) อย่างไรก็ดีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้มุมมองความเสี่ยงทางการคลังในระยะปานกลางเพิ่มขึ้นได้

ภาคการคลังยังมีเสถียรภาพ แม้รัฐบาลจะยังดำเนินนโยบายขาดดุล โดยปี 2568 จะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ Peers ที่ 3.2% ขณะที่รัฐบาล มีความพยายามปรับลดการขาดดุลงบประมาณ เพื่อเข้าสู่สมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) อันมีผลให้ระดับหนี้สาธารณะปรับเข้าสู่ระดับมีเสถียรภาพใกล้เคียงกับค่ากลางของ Peers ระยะต่อไป

ในส่วนของหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ครอบคลุมหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง, กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 61.2% ของ GDP ภายในปี 2569 และจะยังคงอยู่ในระดับดังกล่าวไปจนถึงปี 2571 สะท้อนถึงการปรับลดงบประมาณรายจ่ายแบบค่อยเป็นค่อยไปหลังจากปี 2568

กรณีหนี้สาธารณะของประเทศไทย ครอบคลุมหนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจกู้ หรือกระทรวงการคลังค้ำประกันมีอายุเฉลี่ยยาวและต้นทุนดอกเบี้ยต่ำมีส่วนช่วยสนับสนุนการสร้างเสถียรภาพทางการคลังในระยะปานกลาง อีกทั้งรัฐบาลสามารถระดมทุนด้วยต้นทุนต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับ Peers เนื่องจากตลาดการเงินภายในประเทศเอื้ออำนวยและมีการบริหารการคลังที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ปี 2567 คาดว่าจะอยูที่ 6% ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางของ Peers ที่ 9%

ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) แข็งแกร่ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2.1% ในปี 2567 เป็น 2.9% ในปี 2568 อีกทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศ ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 7.4 เดือน ขณะที่ค่ากลางของ Peers อยู่ที่ 5.6 เดือน นอกจากนี้ประเทศไทย จะยังคงรักษาสถานะเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิ (Large Net External Creditor) ทั้งระดับประเทศ (Sovereign) และระดับเศรษฐกิจโดยรวม (Economic-Wide Basis)ปี 2568 ที่ระดับ 36.9% และ 43.0% ของ GDP ตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ BBB และ A

ปัจจัยสำคัญที่ Fitch จะติดตามและพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย อาทิ ความสามารถในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะปานกลาง, การลดลงของสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Debt/GDP) อย่างมีนัยสำคัญ ความผันผวนทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการปรับตัวทางการคลังล่าช้ากว่าที่คาดการณ์

อนึ่งกระทรวงการคลังโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีดำริให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะติดตามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจและการบริหารหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ

สุภชัย ปกป้อง

Back to top button