พาราสาวะถี
ประเดิมภารกิจช่วยผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานีหาเสียงวันแรกวานนี้แค่น้ำจิ้ม ภาพของคนเรือนหมื่นแห่แหนมาต้อนรับ ทักษิณ ชินวัตร
ประเดิมภารกิจช่วยผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานีหาเสียงวันแรกวานนี้แค่น้ำจิ้ม ภาพของคนเรือนหมื่นแห่แหนมาต้อนรับ ทักษิณ ชินวัตร ที่วัดศรีนคราราม อำเภอกุมภวาปี เป็นการตอกย้ำความเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดงได้เป็นอย่างดี ชิมลางปราศรัยเรียกน้ำย่อย ก่อนที่ของจริงวันนี้ (14 พฤศจิกายน) คิวขึ้นเวทีของนายใหญ่วางไว้แน่นตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เริ่มกันที่เก้าโมงครึ่งบริเวณทุ่งศรีเมืองบ้านดุง ปราศรัยกับชาวอำเภอบ้านดุง และอำเภอทุ่งฝน คาดว่าจะมีมวลชนมาฟัง 8,000-10,000 คน
จากนั้นเบรกการปราศรัยด้วยการพบปะพ่อค้า นักธุรกิจ ผู้นำท้องถิ่นในจังหวัดอุดรธานีช่วงเวลาบ่ายสามโมงครึ่งถึงสี่โมงครึ่ง และขึ้นเวทีปราศรัยกับประชาชนในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอหนองวัวซอ (บางส่วน) และอำเภอหนองหาน (บางส่วน) คาดว่าจะมีมวลชนมาฟังไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในช่วงประมาณสามทุ่มครึ่ง เป็นการจัดหนักจัดเต็ม ต้องดูกันว่าท่วงทำนอง ลีลายังคงจะขึงขัง เข้มข้นเหมือนในอดีตหรือไม่
แต่ด้วยความที่เคยเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง งานนี้นอกจากทักษิณแล้ว ยังมีการหนีบเอา ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไปขึ้นเวทีด้วย ช่วยเรียกแขกได้อีกทาง หลังจากเจิมการหวนกลับคืนเวทีปราศรัยใหญ่หนนี้แล้ว เชื่อได้เลยว่าการเลือกตั้งนายก อบจ.อีกหลายพื้นที่ในจังหวัดทางภาคอีสาน นายใหญ่จะต้องได้รับการตั้งเป็นผู้ช่วยหาเสียงอีกเป็นแน่ นี่คือสัญญาณชัดเจนเป็นการทวงคืนความยิ่งใหญ่ของพรรคแกนนำรัฐบาลกลับคืนมา
ส่วนการที่คู่แข่งสำคัญอย่างพรรคประชาชน เรียกตัว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กลับมาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กลับมาช่วยผู้สมัครหาเสียงที่อุดรธานี คล้อยหลังไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากทักษิณกลับไปแล้วนั้น เป็นการชี้ให้เห็นอีกเช่นกันว่า แกนนำพรรคฝ่ายค้านในระนาบบริหารปัจจุบัน ไม่มีตัวชูโรงไร้ตัวจุดกระแสความนิยม เมื่อประเมินผลจากการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่ผ่านมา เก้าอี้นายก อบจ.อุดรฯ หนนี้คงหนีไม่พ้นเป็นของผู้สมัครจากเพื่อไทย อยู่ที่ว่าคู่แข่งจะแพ้ขาดลอยหรือตีคู่สูสีเท่านั้น
หากพิจารณาจากผลการเลือกตั้ง สส.ครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าจากจำนวนผู้แทนราษฎร 10 เขต พรรคแกนนำรัฐบาลกวาดไปได้ 7 เก้าอี้ พลาดท่าเสียทีให้กับผู้สมัครของพรรคก้าวไกลในเขตเลือกตั้งที่ 1 อำเภอเมืองอุดรธานี เฉพาะตำบลหนองบัว ตำบลหมากแข้ง ตำบลบ้านเลื่อม และตำบลนาดี และอีก 2 เก้าอี้เป็นของผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย ที่เวลานี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นคนของเพื่อไทยไปแล้ว จึงพอจะทำนายผลเลือกตั้งที่จะออกมาได้ว่าแนวโน้มของคะแนนจะเป็นอย่างไร
การเมืองภาพใหญ่ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ค่อนข้างจะหงอยเหงา เพราะ แพทองธาร ชินวัตร เดินทางไปปฏิบัติภารกิจในการเยือนลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และร่วมประชุมเอเปคที่เปรู กว่าจะเดินทางกลับมาก็วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายนโน่น จุดโฟกัสของรัฐบาลจึงไปอยู่ที่ปมเอ็มโอยู 44 และกรณีเกาะกูด ซึ่งการที่หลายฝ่ายต่างดาหน้ากันออกมายืนยัน มันก็ทำให้ความพยายามในการที่จะฮึดสู้ ปลุกกระแสเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก ด้วยที่เป็นเรื่องห่างไกลจากความเดือดร้อนของประชาชน
สิ่งสำคัญคือ เอ็มโอยูที่ทำขึ้นเมื่อต่างฝ่ายก็อ้างสิทธิในพื้นที่ปัญหา ต้องอาศัยการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อยุติเท่านั้น เมื่อยังไม่มีการเจรจาย่อมมองไม่เห็นว่าประเทศไทยจะเสียเปรียบตรงไหน มากไปกว่านั้น แม้การเจรจาจะหาบทสรุปได้ ใช่ว่าทุกอย่างจะจบลงและเป็นไปตามที่ทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกัน ต้องนำกลับมาถามความเห็นประชาชนผ่านตัวแทนคือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ก็จะใช้ที่ประชุมรัฐสภา ไม่มีช่องทางไหนที่รัฐบาลจะลักไก่ไปยินยอม ประเคนผลประโยชน์ให้ฝ่ายตรงข้ามได้แม้แต่น้อย
พอเห็นกลไก กระบวนการที่เกี่ยวข้อง ทำให้แนวร่วมที่จะคล้อยตามการปลุกกระแสจึงร่อยหรอ ส่วนข้อเรียกร้องที่ว่าสามารถยกเลิกเอ็มโอยูฝ่ายเดียวได้ โดยไม่ต้องรอให้ทางกัมพูชาเห็นดีเห็นงามด้วย ปกรณ์ นิลประพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นแล้วว่า ทำได้แต่ไม่ควร เพราะจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องให้เกียรติกัน เมื่อเริ่มมาด้วยกัน เวลาจะยกเลิก หลักการคือจะต้องพูดคุยกัน การกระทำในลักษณะสุดโต่งได้นำมาซึ่งความเสียหายใหญ่หลวง กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาแล้วในยุคของรัฐบาลในค่ายทหาร ต่อเนื่องถึงยุคเผด็จการสืบทอดอำนาจ
ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากถูก สว.เบรกหัวทิ่มในร่าง พ.ร.บ.ประชามติด้วยการให้กลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น จนต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา ที่ปรากฏว่าล่าสุดมีข้อเสนอพบกันครึ่งทางด้วยการใช้เสียงข้างมากชั้นครึ่ง นั่นก็คือ กรณีผู้ออกมาใช้สิทธิให้เป็นไปตามเดิมคือออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง ส่วนจำนวนเสียงเห็นชอบให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากชี้ขาด แทนการใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ
เพิ่มเติมมาในข้อเสนอใหม่ด้วยการให้ทำประชามติผ่านไปรษณีย์ เพื่อประหยัดต้นทุน ไม่ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา จูงใจให้คนมาใช้สิทธิทำประชามติมากขึ้น ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมมีมติเชิญตัวแทนบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เข้าชี้แจงในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ แนวทางดังว่าขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเพื่อไทยจะเห็นด้วยหรือไม่ โดย จาตุรนต์ ฉายแสง สส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคมองว่า ไม่มีประโยชน์สิ่งที่ได้แค่กฎหมายประชามติเร็วขึ้น แต่ผลยังเป็นเหมือนเดิมคือทำประชามติไม่ผ่าน ในฐานะคนที่ยึดหลักการเจตนารมณ์ที่ได้บอกประชาชนอย่างหนักแน่น นี่เป็นการถอยเพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญผ่าน
แนวทางที่จาตุรนต์มองเห็น และความจริงแกนนำของเพื่อไทยควรจะเดินตามนี้ นั่นก็คือ ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันยึดร่างกฎหมายประชามติตามร่างเดิมคือเสียงข้างมากชั้นเดียว นั่นเท่ากับว่า ต้องรอไป 180 วัน เมื่อการเดินเกมของ สว.สายสีน้ำเงินเจตนาดึงให้ช้าไม่ทัน ไม่ว่าจะมีใครหนุนหลังก็ตาม เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้สมรู้ร่วมคิด เพื่อไทยต้องเลือกที่จะเดินแนวทางนี้ สุดท้ายถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ด้วยเสียงของ สว.ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ ก็ไม่ใช่ความผิด ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง
อรชุน