พาราสาวะถี อรชุน
ส่ง สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลออกมาขอโทษขอโพยสื่อและประชาชนที่เกิดอาการฟิวส์ขาดแสดงอารมณ์โมโหโกรธาต่อหน้าธารกำนัลเมื่อวันประชุมครม.อังคารที่ผ่านมา พอผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงไม่มาขอโทษด้วยตัวเอง ไก่อูรีบบอกนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.มีภารกิจต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
ส่ง สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลออกมาขอโทษขอโพยสื่อและประชาชนที่เกิดอาการฟิวส์ขาดแสดงอารมณ์โมโหโกรธาต่อหน้าธารกำนัลเมื่อวันประชุมครม.อังคารที่ผ่านมา พอผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงไม่มาขอโทษด้วยตัวเอง ไก่อูรีบบอกนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.มีภารกิจต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
ในส่วนของนักข่าวคงไม่มีใครติดใจเอาความกับพฤติกรรมดังว่าของท่านผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะชินและเห็นกันเป็นปกติเสียแล้ว แต่เหตุการณ์เมื่อวันอังคารมันเกิดขึ้นต่อหน้าผู้คนจากหลายองค์กรที่มารอมอบของ มาโปรโมตกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมันไม่น่าจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับท่านผู้นำ การมีจุดเดือดต่ำมันหมายถึงวุฒิภาวะของคนเป็นผู้นำ
ที่สรรเสริญอ้างว่า เป็นปกติของปุถุชนคนธรรมดาย่อมมีอารมณ์ได้บ้าง นั่นใช้ได้กับบุคคลทั่วไป ในฐานะผู้นำประเทศและผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาด จะต้องหนักแน่นมากกว่าคนธรรมดาหลายเท่าตัวนัก หากนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ให้ดูอดีตนายกฯหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นตัวอย่าง เบื้องหลังไม่รู้ว่าจะเจ็บปวดขนาดไหน แต่เบื้องหน้าไม่เคยปริปากหรือตีโพยตีพายในยามที่ถูกยิงคำถามแบบแรงๆ
บางครั้งมีการเล่นงานไปถึงครอบครัวโดยเฉพาะน้องไปป์ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน เต็มที่อดีตนายกฯหญิงก็ขอความเห็นใจ ไม่แสดงอารมณ์ขุ่นมัวใดๆทั้งสิ้น ตรงนี้จะอ้างเรื่องบุคลิกภาพ ความเป็นชายชาติทหารมันน่าจะฟังไม่ขึ้น เพราะอดีตผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดอย่าง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็ไม่เคยแสดงกิริยากร่างหรือระเบิดอารมณ์ต่อหน้าสาธารณชนเช่นนี้
มีข่าวเล็ดลอดมาจากวงในสาเหตุที่ทำให้ท่านผู้นำเต็มไปด้วยอารมณ์บูดในเช้าวันนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใส่หมวกอย่างหนักหน่วงและพาดพิงไปถึงท่านผู้นำ โดยก่อนที่จะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลมีการเรียกนายทหารระดับผู้บังคับการกองพันขึ้นไป ไปต่อว่าที่ปล่อยให้มีการแสดงออกในลักษณะขัดหูขัดตาอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับการโทรตาม จตุพร พรหมพันธุ์ ไปปรับทัศนคติที่กองทัพภาคที่ 1 ด้วยหรือไม่
อย่างที่เห็นหลังเปิดร่างแรกสู่สายตาประชาชนก็อื้ออึงไปด้วยเสียงวิจารณ์อย่างหนักหน่วง ไม่เว้นแม้กระทั่งพวกเดียวกันเอง ที่ล่าสุดเป็นคิวของ เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. และ บรรเจิด สิงคเนติ อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ โดยรายแรกชี้ไปที่การให้อำนาจองค์กรอิสระล้นฟ้า
โดยเทียนฉายแสดงความกังวลถึงความมีอิสระขององค์กรอิสระ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติให้บางองค์กรมีความเป็นอิสระมากจนอาจจะควบคุมไม่ได้ ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัว โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่มีความอิสระแตกต่างกับศาลปกครองและศาลยุติธรรม ซึ่งการบริหารงานภายในมีความเป็นอิสระอีกรูปแบบหนึ่ง รวมถึงการได้มาของตุลาการทั้ง 9 คนที่แตกต่างจากศาลอื่นๆ และการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการ ผู้พิพากษาที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้นด้วย
สิ่งสำคัญคือไม่พบเรื่องการตรวจสอบการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรอิสระ หลายองค์กรยังมีความลึกลับมาก เรื่องแบบนี้ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญ ไม่ควรอยู่ในกฎหมายลูกเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ขณะที่ความเป็นอิสระขององค์กรอิสระควรที่จะเป็นในบางเรื่องไม่ใช่ทั้งหมด ในฐานะคนที่ทำหน้าที่ประธานในวันที่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับด๊อกเตอร์ปื๊ดจึงมีน้ำหนักน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนบรรเจิดเป็นห่วงเรื่องที่ กรธ.กำหนดระบบเลือกตั้งส.ส. ที่ให้ใช้บัตรลงคะแนนเลือกตั้งใบเดียว อันจะเป็นผลทำให้พรรคที่มีนายทุนเป็นเจ้าของเข้มแข็งมากขึ้น พรรคที่เป็นตัวแทนของประชาชนอ่อนแอ แน่นอนว่าข้อห่วงใยนี้ย่อมไม่ธรรมดาเช่นกัน การให้ความสำคัญกับทุกคะแนนเสียงที่หลายคนกังขามาตั้งแต่ต้นคนอย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ คงดันทุรังต่อไป
ในสองประเด็นที่คนกันเองของ คสช.แสดงความเห็น มีมุมมองทางวิชาการจาก สิริพรรณ นกสวน อย่างน่าสนใจ โดยกรณีของการเลือกตั้งนั้นจะเกิดการเลือกตั้งกำมะลอ ที่คะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนไม่ส่งผลอย่างแท้จริงในการจัดตั้งรัฐบาล เปิดให้เจตนารมณ์ของประชาชนถูกนำไปกล่าวอ้างบิดเบือน เพราะความรู้สึกมีประสิทธิภาพทางการเมือง หรือ Political Efficacy หมายถึงความไว้ใจ ความศรัทธา และตระหนักว่าเสียงของตนมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางการเมืองของประชาชนจะต่ำลง
มีสร้างมาตรการคัดง้างเสียงข้างมาก หรือ Counter-Majoritarian Measures คือให้อำนาจองค์กรอิสระ ศาลและเสียงข้างน้อย ไม่เพียงแต่เหนี่ยวรั้ง แต่ถึงกับบดบังเสียงข้างมาก จนถึงขั้นที่อาจทำให้ระบบการเมืองเสียดุลยภาพ และขาดการตรวจสอบ-ถ่วงดุล ทั้งแนวตั้งและแนวระนาบ มาตรการดังกล่าวปรากฏให้เห็นในหลายหมวด และมาตราของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใส่หมวก
นอกจากนั้น ยังจะเกิดสภาวะกฎหมายสูงสุดคู่ขนาน หรือ The Duality of Supreme Laws คือแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ คสช.และอำนาจบังคับใช้มาตรา 44 จะยังดำรงอยู่ต่อไปอีกถึง 15 เดือน เนื่องจาก กรธ.ได้ประกาศสูตร 8-2-5 อันได้แก่ การยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ การให้เวลาสนช.พิจารณาและให้ความเห็นชอบ ก่อนจะดำเนินการเพื่อจัดการเลือกตั้ง ในช่วง 15 เดือนดังกล่าว ประเทศไทยจะมีทั้งรัฐธรรมนูญและมาตรา 44 ของ คสช.ควบคู่กันไป
ความล่าช้าในการจัดการเลือกตั้งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยไม่จำเป็นนี้ จะทำให้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญลดความสำคัญลงอย่างถึงที่สุด ทั้งนี้สิ่งที่ต้องตระหนักให้มากสำหรับผู้ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งไม่รู้ว่ามีหรือไม่ นั่นก็คือ รัฐธรรมนูญที่ดีควรเป็นรัฐธรรมนูญแห่งภูมิปัญญา มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างเสถียรภาพ ปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ให้เกิดผู้รับผิดชอบในการกระทำ เปิดให้มีส่วนร่วมและสะท้อนเจตนารมณ์จากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง