มอง SET ไซด์เวย์ รอดูมาตรการกระตุ้น ศก. เพิ่มเติม
InnovestX มองว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. ที่สูงขึ้นนั้น เป็นผลจากปัจจัยต้นทุน (Cost-push) เป็นหลัก โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านอาหารและการขนส่ง
InnovestX มองว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. ที่สูงขึ้นนั้น เป็นผลจากปัจจัยต้นทุน (Cost-push) เป็นหลัก โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านอาหารและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นจาก 0.12% (p.p.) เป็น 0.26% (p.p.) จากฐานราคาน้ำมันสำเร็จรูปปี 2023 ที่ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.6 ดอลลาร์ต่อแกลลอน จาก 3.9 ดอลลาร์ในเดือนก่อน ด้านเงินเฟ้อจากราคาบ้านเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ผลจากแรงกดดันในอดีต ด้านเงินเฟ้อจากค่าจ้างและองค์ประกอบอื่นชะลอต่อเนื่อง บ่งชี้ Fed สามารถลดดอกเบี้ยได้ในเดือน ธ.ค.
InnovestX มองว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นมากหลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง รวมถึงหลายฝ่ายกังวลเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบจากสงครามการค้าเนื่องจากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินหยวนมากที่สุดในเอเชีย นอกจากนั้น ดัชนีค่าเงินบาททั้งรูปแบบปกติและเมื่อหักผลเงินเฟ้อ (NEER และ REER) ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งกว่า 26.7% และ 6.4% นับตั้งแต่ปี 2012 ตามลำดับ
ในส่วนของการเติบโตของสินเชื่อจีนที่ต่ำกว่าคาด และการที่ทางการจีนออกมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น InnovestX มองว่า (1) มาตรการการเงินต่าง ๆ ตั้งแต่ปลาย ก.ย. ยังไม่สามารถกระตุ้นความต้องการสินเชื่อได้อย่างมีนัยสำคัญ ผลจากการขาดความเชื่อมั่น (2) ตลาดอสังหาฯ ยังน่ากังวล โดยแม้ยอดขายที่อยู่อาศัยในเดือน ต.ค. จะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ แต่ยังฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอ โดยผู้ประกอบการรัฐได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นมากกว่าเอกชน ทั้งนี้ InnovestX มองว่า มาตรการลดภาษีอสังหาฯ อาจช่วยกระตุ้นการซื้อขายในระยะสั้นได้บ้าง แต่ปัญหาสำคัญคือ ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ในระยะต่อไป เศรษฐกิจจีนอาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
ส่วนตลาดหุ้นไทย InnovestX มองช่วงสั้น SET จะแกว่งตัว Sideway โดยปัจจัยต่างประเทศค่อนข้างจำกัดหลังตลาดรับรู้ปัจจัยบวกจากนาย โดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ไปแล้ว สะท้อนได้จากผลตอบแทนและกระแสเงินที่ไหลเข้าไปยังหุ้นกลุ่มการเงินและหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ รวมถึงกระแสเงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้น EM และตลาดหุ้นจีนจากความกังวลเรื่องนโยบายปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ส่วนปัจจัยในประเทศมองอาจอยู่ในช่วงปรับประมาณการของ บจ. และกำไรตลาด หลังภาพรวมกำไรไตรมาส 3/67 ออกมาต่ำกว่าคาด อีกทั้งยังมีประเด็นต้องติดตามจากบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมหารือออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในวันที่ 19 พ.ย. และลุ้นศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องคดียุบพรรคเพื่อไทยในวันที่ 22 พ.ย.นี้ ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนจึงแนะนำให้ “Selective Buy” ใน 4 ธีมหลักที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ดังนี้
1.หุ้น Event Play ที่คาดได้อานิสงส์บวกจากรัฐเตรียมพิจารณาออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อาทิ แจกเงินหมื่นบาทเฟส 2, ช้อปดีมีคืน (Easy E-Receipt) แนะนำกลุ่มค้าปลีก อาทิ CPALL, CPAXT, CRC, HMPRO, TNP
2.หุ้นที่ได้อานิสงส์บวกจากดอลลาร์แข็งค่า/บาทอ่อนค่า แนะนำกลุ่มที่มีรายได้จากการส่งออก CPF, DELTA และกลุ่มท่องเที่ยว อาทิ AWC, AOT, MINT
3.หุ้น Earning Play ซึ่งมองมีโมเมนตัมกำไรไตรมาส 4/67 จะเติบโตดีเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อน อีกทั้งแนะนำ Outperform เลือก BCP, GULF, OSP, CBG, AMATA, AU และ TIDLOR
4.หุ้นที่จ่ายปันผลสูงและคาดได้อานิสงส์จากการเป็นเป้าหมายสะสมของกองทุนวายุภักษ์และกองทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีช่วงปลายปี อาทิ SSF, RMF และ THAIESG แนะนำหุ้น SET100 ที่คาดให้ Dividend Yield ขั้นต่ำปีละ 3.5% และมี ESG Rating สูงตั้งแต่ระดับ AA-AAA และ CG ระดับ 5 ดาว อีกทั้งมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตได้ในปี 2025 เลือก BBL, ADVANC, HMPRO, BCP
สุกิจ อุดมศิริกุล