PTTGC ปลดโซ่ตรวน ‘อาซาฮี’
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้งบงวดไตรมาส 3/2567 ของ PTTGC บริษัทในกลุ่ม ปตท. มีตัวเลขขาดทุนสุทธิมโหฬาร 19,312.14 ล้านบาท
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้งบงวดไตรมาส 3/2567 ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัทในกลุ่มปตท. มีตัวเลขขาดทุนสุทธิมโหฬาร 19,312.14 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,426.66 ล้านบาท…ซึ่งมากกว่าครึ่งมาจากการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์จากบริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (PTTAC) (เป็นบริษัทร่วมที่ PTTGC ถือหุ้นในสัดส่วน 50%) จำนวน 8,937 ล้านบาท…
เลยเป็นที่มาของตัวเลขที่ซ้ำเติมการขาดทุนของ PTTGC นอกเหนือจากการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์จาก Vencorex และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องรวม 8,574 ล้านบาท รวมทั้งขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันอีก 3,912 ล้านบาท ซึ่งเป็น 3 ปมหลักที่ฉุดงบในไตรมาส 3/2567 ของ PTTGC…
แต่ไฮไลต์คงอยู่ที่ “พีทีที อาซาฮี” ซึ่งค้างคามานานหลายปี..!!
ที่จริง “พีทีที อาซาฮี” ไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขโดยตรงของ PTTGC หรอกนะ…แต่ถูกนำมาฝากเลี้ยงจากการปรับโครงสร้างภายในกลุ่มปตท.ช่วงปี 2560
แบ็กกราวด์ของ “พีทีที อาซาฮี” ถูกก่อตั้งเมื่อเดือน ส.ค. 2549 โดยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กับพันธมิตรบริษัท อาซาฮี คาเซอิเคมิคอลส์ คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น แต่ละฝ่ายถือหุ้นเท่า ๆ กันฝ่ายล่ะครึ่ง…
โดยเริ่มดำเนินการในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2556 ถือเป็นโรงงานปิโตรเคมีเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลกที่ผลิตสารอะคริโลไนไตรล์ (AN) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกและเส้นใยอะคริลิค โดยใช้ก๊าซโพรเพนจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. เป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงสารเมทิลเมตะคริเลต (MMA) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตแผ่นอะคริลิคใสและสีทาบ้าน ทำให้สามารถลดการนำเข้าสาร AN และ MMA หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และบางส่วนยังส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้อีกด้วย
ในเชิงยุทธ์ศาสตร์ ก็ไม่ผิดอะไร…เป็นการเติมเต็มห่วงโซ่ของกลุ่มปตท.ให้ครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ…แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน อะไร ๆ ก็เปลี๊ยนไป๋…ทำให้ “พีทีที อาซาฮี” แทนที่จะเป็นกองหนุน กลายเป็นกองฉุด ขนาดที่ว่าพันธมิตรอย่าง “อาซาฮี คาเซอิเคมิคอลส์ คอร์ปอเรชั่น” ยังถอดใจต้องถอนสมอการลงทุนไปแล้ว..!!
เคสนี้ก็คล้ายคลึงกับกรณีบริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ซึ่งทำธุรกิจเหล็กกลางน้ำกับเหล็กปลายน้ำ เริ่มจากรับเหล็กแท่ง (Slab) จากโรงถลุงเหล็ก (ต้นน้ำ) มาผ่านกระบวนการรีด กลายเป็นเหล็กแผ่นรีดร้อนหรือรีดเย็น เพื่อจำหน่ายต่อให้กลุ่มปลายน้ำนำไปต่อยอดเป็นเหล็กชนิดหรือรูปแบบต่าง ๆ เพื่อใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่อไป
ตอนนั้นสิ่งที่ SSI ไม่มีคือ โรงถลุงเหล็ก หรือต้นน้ำ…SSI เลยเติมเต็มห่วงโซ่ด้วยการไปซื้อโรงถลุงเหล็ก Teesside Cast Product (TCP) ในประเทศอังกฤษ จากบริษัท Tata Steel UK (บริษัทในกลุ่ม Tata Steel ผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลก) ช่วงปี 2554 แต่สิ่งที่ตามมาคือภาระหนี้ก้อนโต 50,000-60,000 ล้านบาท
ที่น่าเจ็บใจ แทนที่โรงถลุงเหล็กจะช่วยเสริมส่ง กลับกลายเป็นทุกขลาภ ตอนนั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จนเกิดภาวะเหล็กล้นตลาด ทำให้งบการเงิน SSI ขาดทุนต่อเนื่อง ในที่สุดต้องประกาศหยุดผลิตเหล็กแท่งแบนไป…ผลพวงดังกล่าว ทำให้ SSI ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และเป็นหนึ่งในเหตุผลทำให้ต้องถูกเพิกถอนออกจากบริษัทจดทะเบียน…ปิดฉากหุ้น SSI ไปโดยปริยาย..!!
กลับมาที่ PTTGC แม้ไม่ถึงขั้นเจ๊ง แต่ก็ต้องตั้งด้อยค่าไปเกือบหมื่นล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 3/2567 ได้ตั้งด้อยค่าไปหมดแล้ว ก็คงไม่มีการตั้งด้อยค่าจาก “พีทีที อาซาฮี” อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากปิดกิจการไปแล้ว…
เท่ากับ PTTGC ได้ปลดโซ่ตรวนจาก “พีทีที อาซาฮี” เสียที..!!
นั่นแปลว่าในงบไตรมาส 4/2567 ก็จะไม่มีรายการพิเศษจาก “พีทีที อาซาฮี” อีกแล้วน่ะสิ…
ค่อยโล่งอกหน่อย…ถือเป็นการยอมเจ็บเพื่อจบอะนะ..!!
งั้นถามว่างบไตรมาสต่อ ๆ ไปจะกลับมาดีเว่อร์วังอลังการอ๊ะป่าว..?? อันนี้ยังตอบยาก
อย่าลืมว่า PTTGC ยังมีตัวถ่วง…อุ๊ย ปัจจัยลบอีกเพียบนะจิบอกให้..!?
…อิ อิ อิ…