LGBTQ มูลค่าเพิ่มท่องเที่ยวสีรุ้ง
จากกรณี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จะเริ่มมีผลใช้บังคับ 22 ม.ค. 68 พร้อมคาดว่าจะมีรายได้จาก “การท่องเที่ยวสีรุ้ง”
จากกรณี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” (พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567) มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จะเริ่มมีผลใช้บังคับ 22 ม.ค. 68 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวเกิดการตื่นตัว พร้อมคาดหมายว่าจะมีรายได้จาก “การท่องเที่ยวสีรุ้ง” กว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 68,000 ล้านบาท)
โดย “ประเทศไทย” ถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ต่อจากไต้หวัน และเนปาล ที่รับรองการสมรสเพศเดียวกันจะช่วยให้ไทย มีส่วนแบ่งจากตลาดท่องเที่ยว LGBTQ มีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
สำหรับ LGBTQ คือ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่เป็นรสนิยมความชอบของแต่ละบุคคลไป โดยมีตัวอักษรย่อของแต่ละกลุ่มเพศ เริ่มจาก L ย่อจาก Lesbian กลุ่มผู้หญิงรักผู้หญิง, G ย่อจาก Gay กลุ่มชายรักชาย, B ย่อจาก Bisexual กลุ่มที่รักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง, T ย่อจาก Transgender กลุ่มคนข้ามเพศ จากเพศชายเป็นเพศหญิงหรือเพศหญิงเป็นเพศชาย และ Q ย่อจาก Queer หมายถึงกลุ่มคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่ง โดยไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศและความรัก
เหตุที่ทำให้ LGBTQ ถูกมองว่าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาพรวมตลาดการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เติบโตขึ้นอย่างมาก
โดยผลวิจัยของ Out Now Consulting ร่วมกับ World Travel Market (WTM) พบว่า นักท่องเที่ยว LGBTQ ทั่วโลก มีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวสูงกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณกว่า 6.64 ล้านล้านบาท
สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ออกเดินทางท่องเที่ยว เพื่อพักผ่อนและหลบหนีจากความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน (Relax & Escape) คล้ายกับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ กิจกรรมที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ กีฬากลางแจ้ง หรือกิจกรรม Soft Adventure เช่น การเดินป่า กีฬาทางน้ำ รวมทั้งการท่องเที่ยวยามค่ำคืน หรือ กิจกรรม Nightlife (ปาร์ตี้ยามค่ำคืน)
สิ่งสำคัญที่ทำให้ “ท่องเที่ยวสีรุ้ง” มีแนวโน้มเติบโตเติบโตสูงมาจากปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมายในหลายประเทศ การที่ภาครัฐและภาคเอกชนประเทศต่าง ๆ มีสถานที่และบริการที่เป็นมิตรกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น (LGBTQ Friendly)
หรือการจัดงานอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนี้อย่าง Pride Parade เพื่อเฉลิมฉลองกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ บราซิล แคนาดา รวมถึงไทยด้วย
มีหลายประเทศรวมถึงไทยเองจัดให้ชาว LGBTQ เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีศักยภาพ เพราะเป็นกลุ่มที่เลือกจะเดินทางพักผ่อน แม้ว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ก็ตาม โดยพบว่ากลุ่มนี้เฉลี่ยมีการเดินทางท่องเที่ยวเฉลี่ย 8 ครั้งต่อปี
ที่สำคัญมีการเลือกเข้าพักโรงแรมแบบ 5 ดาว หรือรีสอร์ตพูลวิลล่า พร้อมใช้บริการสปาหรือเลือกร้านอาหารที่ดี แต่ไม่ได้จำกัดแต่ร้านอาหารแพง แต่ยังมีอาหารสตรีทฟู้ด หากมีคุณภาพและชื่อเสียงที่ดี เนื่องจากลุ่มนี้ที่มีพฤติกรรมกล้าลองอะไรใหม่ ๆ เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
สำหรับไตรมาส 3/67 (ก.ค.-ก.ย. 67) ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวไทยทั้งสิ้น 8.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 22% และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 455,143 ล้านบาท (ฟื้นตัวกลับมาประมาณ 90% เทียบกับปี 2562)
โดย ‘ประเทศจีน’ เป็นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาไทยมากสุด มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 1.80 ล้านคน ตามด้วยมาเลเซีย 1.21 ล้านคน และอินเดีย 4.81 แสนคน
จึงชักเริ่มน่าสนใจแล้วว่าการท่องเที่ยวสีรุ้ง จากกลุ่ม LGBTQ จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมได้มากน้อยเพียงใด
เพราะนี่คือ Niche Market (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) ชั้นดีเลยก็ว่าได้..!!??
สุภชัย ปกป้อง