BTS-BEM จะเป็นอย่างไร? เมื่อรัฐเร่งนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย

รัฐบาลเอาแน่! ดึงสัมปทานรถไฟฟ้ากลับรัฐฯ ปูทางนโนบาย 20 บาท ครบทุกสี-ทุกสาย เกิดขึ้นจริงภายใน ก.ย.68


เส้นทางนักลงทุน

รัฐบาลเอาแน่! กรณีการดึงสัมปทานรถไฟฟ้ากลับมาเป็นของรัฐ ปูทางให้นโนบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายและครบทุกสี ครบทุกสาย เกิดขึ้นได้จริงภายในเดือนกันยายน 2568

โดยล่าสุด “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … เพื่อจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมมาชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารแก่เอกชนผู้รับสัมปทาน คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาผู้แทนราษฎรได้ภายในเดือนธันวาคม 2567 นี้ เพื่อให้พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2568

เรื่องนี้ถือเป็น 1 ในนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “สุริยะ” โต้โผใหญ่จึงต้องทั้งผลักทั้งดันออกมาให้ได้ตามแผน

เมื่อพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว จะมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อจัดหาเงินทุนมาสนับสนุนนโยบาย อาทิ ส่วนแบ่งรายได้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, กองทุนอนุรักษ์พลังงาน, การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) และงบประมาณ

กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังจะร่วมกันศึกษาแนวทางดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า จะเป็นการระดมทุนจากนักลงทุนระยะเวลา 30 ปี วงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท

เม็ดเงินที่ได้จะนำไปซื้อคืนสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลงและเป็นธรรม เข้าถึงได้ง่าย

ประเด็นดังกล่าวนี้จะมีผลโดยตรงกับผู้ประกอบการรถไฟฟ้า ทั้งบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แต่ผลที่จะเกิดขึ้นนั้นจะกระทบในด้านบวก หรือด้านลบ และกระทบใครมากกว่ากัน???

สําหรับ BEM นั้น มีการประเมินว่าจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสําคัญ เนื่องจากมีสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับภาครัฐอย่างชัดเจน ดังนั้นหากนโยบายต่าง ๆ ส่งผลเชิงลบต่อรายได้และกระแสเงินสด ก็จะต้องมีการชดเชยส่วนต่างคืนกลับมาในระดับที่ใกล้เคียงกัน

BEM เป็นเจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีอายุสัญญาสัมปทานอีก 26 ปี ถึงเดือนมีนาคม 2593 มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 4.3 แสนคนต่อวัน และมีค่าโดยสารเฉลี่ย 29.7 บาทต่อเที่ยว กรณีหากรัฐบาลกําหนดค่าโดยสารที่ 20 บาทต่อเที่ยว ก็ต้องชดเชยส่วนต่างให้ 9.70 บาทต่อเที่ยว หรือเท่ากับ 4.20 ล้านบาทต่อวัน

นักวิเคราะห์มีการมองกันว่า รัฐบาลจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อซื้อคืนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดย BEM จะนําเงินที่ได้รับจาการขายคืนสัมปทานไปชําระหนี้สถาบันการเงิน และรับจ้างภาครัฐในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เช่นเดียวกับที่ใช้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ในรูปแบบ PPP-Gross Cost โดยไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องจำนวนผู้โดยสาร

เมื่อรวมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เพิ่งลงนามสัญญาสัมปทานยาว 30 ปี อิงประมาณการปัจจุบัน หากรัฐบาลซื้อคืนสัมปทาน เบื้องต้นมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดจากทั้ง 2 โครงการจนสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทาน อยู่ที่ราว 1.5-2.0 แสนล้านบาท

ขณะที่ BTS ในฐานะผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีชมพู สายสีเหลือง จะได้รับผลบวกที่มากกว่า เพราะรถไฟฟ้าสายสีเขียวมูลค่าการลงทุน 5.0 หมื่นล้านบาท จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 จากนั้นกรุงเทพมหานครจะเปลี่ยนเป็นสัญญาจ้าง BTS เดินรถ ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2572-2 พฤษภาคม 2585

ส่วนสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี เหลือสัญญาสัมปทานอีก 29 ปี โดยจะสิ้นสุดในปี 2595 แต่ทั้ง 2 สายยังอยู่ในภาวะขาดทุน ดังนั้นหาก BTS ขายคืนให้ภาครัฐจะช่วยลดผลการขาดทุนในแต่ละปีลง และได้สัมปทานเป็นสัญญาจ้างเดินรถในระยะยาวมาแทน ซึ่งไม่มีความเสี่ยง

กำไรของ BTS ยังคงอ่อนแอจากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพูที่จะยังขาดทุนจาก Financing Cost ประมาณ 1.6 พันล้านบาทต่อปี และต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีกว่าถึงจะคุ้มทุน ทั้งนี้สายสีเหลืองมีผู้โดยสารเฉลี่ย 4.0 หมื่นคนต่อวัน ส่วนสายสีชมพูเฉลี่ย 6.0 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่จุดคุ้มทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.0 แสนคนต่อวัน

ทำให้มีการฟันธงว่า การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ BTS เพื่อซื้อคืนสัมปทานสายสีเขียวน่าจะไม่ติดขัดอะไร โดย BTS ก็น่าจะขอเยียวยาจากภาครัฐเพื่อลดการขาดทุน

ประเมินคร่าว ๆ ณ จุดนี้ เมื่อรัฐบาลเดินหน้าซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ทั้ง BTS และ BEM น่าจะได้รับผลบวกด้วยกันทั้งคู่

Back to top button