THG กงกรรม ‘หมอบุญ’.!
กลายเป็นคดีใหญ่และฉาวโฉ่สะเทือนวงการตลาดหุ้นส่งท้ายปีมังกรไฟอีกก็ว่าได้ กรณี “นพ.บุญ วนาสิน” ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรีและผู้ถือหุ้น THG
กลายเป็นคดีใหญ่และฉาวโฉ่สะเทือนวงการตลาดหุ้นส่งท้ายปีมังกรไฟอีกก็ว่าได้ กรณี “นพ.บุญ วนาสิน” หรือ “หมอบุญ” ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรีและผู้ถือหุ้น บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG พร้อมภรรยา ลูกสาว และพวกรวม 9 คน ถูกหมายจับในความผิดฐานฉ้อโกงและฟอกเงิน หลังมีพฤติกรรมชักชวนหลอกลงทุนธุรกิจสุขภาพ มูลค่าความเสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท
ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้น่าจะเห็นการ take action จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้วยการกล่าวโทษ “หมอบุญ” ในข้อกล่าวหาการนำสินทรัพย์ของบริษัทมหาชน นั่นคือโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่ THG ถือหุ้นใหญ่ ไปใช้ค้ำประกันหนี้ส่วนตัว…ซึ่งต้องจับตากันต่อไป…
กลับมาที่พฤติกรรมของ “หมอบุญ” แม้กระทำในนามส่วนตัว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเชื่อมโยงกับ THG…ซึ่งเริ่มเห็นเค้าลาง (ร้าย) มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา หลังพบรายการอันควรสงสัยจากสองบริษัทลูก คือ บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด (THB) และบริษัท ที เอช เฮลท์ จำกัด (THH) ไปปล่อยกู้ให้กับบริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มครอบครัววนาสิน เงินต้นรวมดอกเบี้ยมูลค่า 112.80 ล้านบาท
และ THB ปล่อยกู้ให้กับบริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ RTD เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวน 10 ล้านบาท รวมทั้งกรณีที่ THH จัดซื้อสินค้าทิพย์จากบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ รวมเป็นเงิน 55 ล้านบาท
ไม่หมดเท่านั้น ยังพบรายการอันควรสงสัยที่เกิดขึ้นในปี 2566 มูลค่าความเสียหาย 63 ล้านบาท เพิ่มอีกต่างหาก
เลยเป็นเหตุให้ THG ต้องตั้งสำรองฯ เต็มจำนวนในงบไตรมาส 3/2567 รวม 172 ล้านบาท ส่งผลให้พลิกมาขาดทุนบักโกรก 352.17 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 3/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 310 ล้านบาท…งั้นถ้าบอกว่า THG ถูกกงกรรม “หมอบุญ” เล่นงาน ก็คงไม่ผิดน่ะสิ…
โอเค…แม้ THG ได้ตั้งสำรองฯ เต็มทั้งจำนวนไปแล้ว แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่าจะเจ็บแต่จบ หรือเจ็บไม่รู้จบกันแน่ เพราะไม่รู้ว่าจะมีธุรกรรมอันควรสงสัยงอกขึ้นมาอีกอ๊ะป่าว..??
ขณะที่บริษัทฯ ออกมายืนยันว่า รายการอันควรสงสัยทั้งหมด “ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทฯ โดยปัจจุบันบริษัทฯ ยังดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามปกติ และไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานปกติแต่อย่างใด” ก็ตามนั้น
แต่ถ้าไปเช็กสถานะทางการเงิน ก็น่าเป็นห่วงอยู่หนา เนื่องจาก ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 THG มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในกระเป๋า 782.16 ล้านบาท แต่มีส่วนของหนี้สินระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีปาไป 1,687.85 ล้านบาท ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้สถาบันการเงินอยู่ที่ 1,66.04 ล้านบาท และหนี้อื่น ๆ อีก 21.81 ล้านบาท
ส่วนตัวเลขทางการเงินอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) 9 เดือนปี 2567 อยู่ที่ 1.31 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 9 เดือนปี 2566 ที่ 1.16 เท่า ซึ่งแย่ลง, อัตราส่วนความสามารถชำระดอกเบี้ย 9 เดือนปี 2567 อยู่ที่ 0.50 เท่า ลดลงจาก 9 เดือนปี 2566 ที่ 3.86 เท่า ก็แย่ลงมาก ด้านอัตราส่วนสภาพคล่อง (Current ratio) 9 เดือนปี 2567 อยู่ที่ 0.49 เท่า ลดลงจาก 9 เดือนปี 2566 ที่ 0.68 เท่า ก็แย่ลง และอัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็ว (Quick ratio) 9 เดือนปี 2567 เท่ากับ 0.35 เท่า ลดลงจาก 9 เดือนปี 2566 ที่ 0.44 เท่า แย่ลงเช่นกัน
สะท้อนว่า สถานการณ์โดยรวมไม่ค่อยสู้ดี…
ดีนะเนี่ยที่หนี้หุ้นกู้ยังไม่ถึงกำหนดไถ่ถอน…พอมีเวลาให้หายใจ โดยมีหุ้นกู้ 2 ชุด ได้แก่ หุ้นกู้ชุดที่ 1 วงเงิน 700 ล้านบาท อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 28 พ.ค. 2570 และหุ้นกู้ชุดที่ 2 วงเงิน 1,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 28 พ.ค. 2572
แต่เอ๊ะ…ไหนบอกว่าไม่กระทบสภาพคล่องของบริษัทไง…แล้วไหงมติบอร์ดให้ศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงิน ด้วยการพิจารณาเพิ่มทุนและขายสินทรัพย์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องล่ะ…มันดูย้อนแย้งกันนะ
ก็น่าคิด ถ้า THG เพิ่มทุนจริง…นาทีนี้ใครจะกล้ามาใส่เงินเพิ่มทุน (คงมีแค่กลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหงเท่านั้น) ครั้นจะออกหุ้นกู้ ก็คงไม่มีใครกล้าซื้อหรอกมั้ง..??
เรียกว่าเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่ถูกเอากระดูกมาแขวนคอซะงั้น…
ว่าไปแล้ว กงกรรม “หมอบุญ” แม้ไม่ถึงขั้นทำให้ THG เจ็บปางตาย…แต่ก็บอบช้ำภายในไม่น้อย…พอดูออกแหละ..?!
…อิ อิ อิ…
……………………………………..
หมายเหตุ : กรณีไม่พบว่า “นางคำนวณ คงศุภลักษ์” ผู้ก่อตั้งบริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) หรือ TMAN มีการรายงานการซื้อขายหุ้นตาม “แบบ 59” ตามที่ถูกตั้งข้อสังเกตในคอลัมน์ “สำนักข่าวรัชดา” (21 พ.ย. 2567) โดยข้อเท็จจริงพบว่า “นางคำนวณ” ไม่ได้เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร TMAN จึงไม่มีหน้าที่ต้องรายงานตามแบบ 59 ดังกล่าว