PHG เข้าเพื่อ Exit.!?
ทำเอาตกอกตกใจ...จู่ ๆ ก็มีบิ๊กล็อตหุ้นบริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PHG ที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แค่ปีเศษ ๆ
ทำเอาตกอกตกใจ…จู่ ๆ ก็มีบิ๊กล็อตหุ้นบริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PHG ที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แค่ปีเศษ ๆ (เข้าวันที่ 6 ก.ค. 2566 ด้วยไอพีโอ 21 บาท) ซึ่งเป็นบิ๊กล็อตก้อนใหญ่จำนวน 58.08 ล้านหุ้น คิดเป็น 19.36%
ที่สำคัญ เป็นการขายบิ๊กล็อตของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม หรือกลุ่มผู้ก่อตั้ง PHG นั่นแหละ…ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขายล้างพอร์ต…นำโดย “ดวงใจ ตระกูลช่าง” ขายหุ้นจำนวน 30.45 ล้านหุ้น คิดเป็น 10.15% ส่งผลให้เหลือถือหุ้น 21.88 ล้านหุ้น คิดเป็น 7.29% ถัดมาเป็น “กมลกฤช ตระกูลช่าง” ขายล้างพอร์ตจำนวน 16.90 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.64%
ด้าน “ธนัญชภัสสร เศรษฐาตินันทน์” ก็ขายล้างพอร์ตจำนวน 7.96 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.65% และ “ฤทัยรัตน์ ตระกูลช่าง” ขายล้างพอร์ตจำนวน 2.75 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.92%
ส่วนคนที่มารับซื้อก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA ซึ่งเดิมถือหุ้น PHG อยู่แล้วจำนวน 15.42 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.14% ส่งผลให้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 73.50 ล้านหุ้น คิดเป็น 24.50% ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ทันที…
แหม๊…ไม่ยอมถือเกิน 25% รู้นะว่าคิดอะไรอยู่..??
ส่วนเบื้องหน้าเบื้องหลังการขายบิ๊กล็อตของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมเป็นยังไง…อันนี้มิอาจทราบได้
แต่น่าสนใจ…before & after ของ PHG..!! เริ่มที่ before ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โครงสร้างต่าง ๆ อาจยังไม่ชัดเจน ไม่ได้สะท้อนแวลูที่แท้จริง…ส่วน after พอเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มาแล้ว มีการประเมินแวลู มูลค่าที่แท้จริงของ PHG ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น..!!
การขายหุ้นของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมก็เลยมีคำตอบของทั้ง 2 ฝ่าย…ฝ่ายผู้ขายคือผู้ถือหุ้นเดิม และฝ่ายผู้ซื้อคือ ROJNA
แล้วถ้าถามว่าใครได้…ใครเสีย..??
ในมุม ROJNA ซึ่งธุรกิจดั้งเดิมทำนิคมอุตสาหกรรม มาสู่ธุรกิจใหม่โรงพยาบาล ผิวเผินเหมือนจะไม่ใช่…เป็นปลาคนละน้ำ แต่อย่าลืมว่าโรงพยาบาลแพทย์รังสิตเป็นตัวตึงย่านรังสิต ซึ่งไม่ไกลออกไปเป็นแหล่งที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ทำให้ฐานลูกค้าโรงพยาบาลแพทย์รังสิตเป็นกลุ่มประกันสังคมที่เป็นหนุ่มสาวโรงงานในนิคมฯ นั่นแหละ…ซึ่งดูแล้วมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง…ก็ถือเป็นการลงทุน
และด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 24.50% ก็สามารถกำหนดทิศทางนโยบายของ PHG ได้…
แถมยังเป็นการต่อยอดในระบบนิเวศ เช่น การสร้างแวลูให้กับกลุ่มลูกค้าโรงงานที่อยู่ในนิคมฯ ด้วยการทำโปรโมชั่นพิเศษต่าง ๆ กับโรงพยาบาลแพทย์รังสิต เป็นต้น
อ้อ…ถ้าเหลือบไปดูอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนของ PHG ก็พอใช้ได้ ล่าสุดยีลด์อยู่ที่ 3.27%
ส่วนในมุมของผู้ถือหุ้นเดิม…หากขายนอกตลาดฯ จะมีความซับซ้อน อาจไม่เหมาะ…แต่เมื่อเข้าตลาดฯ มาแล้ว โครงสร้างต่าง ๆ ชัดเจน ทำให้ 1)ออกของ (ขาย) ได้สะดวกโยธิน 2)ขายได้ราคาดี (ผู้ถือหุ้นเดิม ไม่ว่าจะขายที่ราคาไหน…ก็มักจะมีกำไรเสมอ) และ 3)การขายหุ้นในตลาดฯ ไม่ต้องเสียภาษีนะออเจ้า…
อย่าบอกนะว่า เข้า (ตลาดฯ) มาเพื่อ Exit..!?
ซึ่งแม้ผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้ไม่ได้ถือหุ้น PHG แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ PHG ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางหลากหลายสาขา โดยเฉพาะศูนย์หัวใจ 24 ชั่วโมง ซึ่งมีศักยภาพในการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด, ศูนย์ผ่าตัดโรคอ้วน ที่สามารถผ่าตัดได้ทุกรูปแบบ รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเฉพาะทางแม่และเด็ก ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ยังคงอยู่
นั่นทำให้การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด…โปรดรับทราบตามนี้
ส่วนนโยบายผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่จะเปลี่ยนไปยังไง..?? ไม่รู้ ๆ ๆ ๆ
…อิ อิ อิ…