สัญญาณสับสนพลวัต 2016
เริ่มพูดกันหนาหูมากขึ้นในหมู่นักกลยุทธ์การลงทุนระดับโลกว่า เกมของการลงทุนจากนี้ไปคือเกมว่าด้วยความผันผวน เพราะแรงเหวี่ยงของตลาดเก็งกำไรในลักษณะขึ้นไม่มาก ลงไม่ลึกเป็นปรากฏการณ์หลักที่ทำให้การคาดเดาอนาคตทำได้ยาก เพราะมีการส่งสัญญาณสับสนตลอดเวลาไม่ขาด
วิษณุ โชลิตกุล
เริ่มพูดกันหนาหูมากขึ้นในหมู่นักกลยุทธ์การลงทุนระดับโลกว่า เกมของการลงทุนจากนี้ไปคือเกมว่าด้วยความผันผวน เพราะแรงเหวี่ยงของตลาดเก็งกำไรในลักษณะขึ้นไม่มาก ลงไม่ลึกเป็นปรากฏการณ์หลักที่ทำให้การคาดเดาอนาคตทำได้ยาก เพราะมีการส่งสัญญาณสับสนตลอดเวลาไม่ขาด
ข้อเท็จจริงที่ว่า ราคาหุ้นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ระดับโลกในตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ยามนี้ ซื้อขายกันที่ระดับต่ำกว่าวิกฤตการเงินเมื่อ 7 ปีที่แล้วในยามที่ตลาดหุ้นเยอรมนีเป็นขาลงชัดเจน
เช่นเดียวกัน ดัชนีฮั่งเส็งของตลาดฮ่องกงอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับเมื่อ 4 ปีก่อน กลายเป็นตลาดหุ้นที่ค่าพี/อีแค่ 8.4 เท่า ต่ำสุดในเอเชีย และต่ำสุดในรอบ 5 ปีทำให้เกิดคำถามว่า ราคาหุ้นและตลาดหุ้นดังกล่าวสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงแค่ไหน เพราะสถานการณ์ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ยังมีความไม่ชัดเจนว่า จะกดดันให้ดัชนีตลาดฮ่องกงที่ว่าถูกมาก ยังมีถูกกว่าได้อีกหรือไม่ แม้ว่ายามนี้จะเกิดภาวะ “ขายมากเกิน” ไปแล้วชัดเจน
ตัวเลขการจ้างงานและว่างงานของสหรัฐฯก็ขัดแย้งกันเอง การว่างงานต่ำแค่ 4.9% ขัดแย้งกับการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง แม้ว่าค่าแรงเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตัวเลขผลประกอบการหุ้นเทคโนโลยีและสินค้าบริโภคถดถอยลงต่ำกว่าคาดหมายมาก ทำให้ยากจะคาดเดาว่า ตลาดจะไปทางไหนหากเฟดฯยังจะพยายามขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากตัวเลขจีดีพีของสหรัฐฯกลับอ่อนตัวลงเพราะการใช้จ่ายที่อ่อนตัว และการส่งออกที่ถดถอยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 รวด
ค่าดอลลาร์ที่ถดถอยลงในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพราะตลาดเริ่มไม่แน่ใจทิศทางของเฟดฯ ก็ทำให้ราคาสินค้าน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มรวนเร ไม่ยอมลงอีกต่อไปทั้งที่ยังไม่มีข่าวดีว่าภาวะสินค้าล้นตลาดจะสิ้นสุดลง ก็เป็นปริศนาอีกเช่นกันว่าถึงก้นเหวแล้วหรือเป็นแค่ปรากฏการณ์เฉพาะหน้า
ราคาน้ำมันก็เช่นกัน ลมปากหลายครั้งของรัฐมนตรีรัสเซียเรื่องจะมีการเจรจาลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงในกลุ่มชาติผลิตน้ำมันส่งออก ก็ทำให้ราคาน้ำมันทะยานจากจุดต่ำสุดอย่างผันผวนได้ ท่ามกลางการรอคอยผลเจรจาเมื่อวานนี้ระหว่างตัวแทนของเวเนซุเอลากับซาอุดีอาระเบีย ว่าจะออกหัวหรือก้อย
คำถามว่าด้วยสหสัมพันธ์เชิงสถิติระหว่างราคาหุ้น (รวมดัชนีตลาดหุ้น) และเศรษฐกิจมหภาค เป็นไปในทางสอดรับหรือตรงกันข้ามกัน ไม่ใช่คำถามใหม่ และยังคงเป็นคำถามที่ไม่มีสูตรสำเร็จรูปตายตัว เพราะคำตอบล้วนขึ้นกับเงื่อนไขภายนอกมากมายมาเกี่ยวข้องด้วย
สัญญาณสับสนและความผันผวนเช่นนี้ ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามว่าประโยคเด็ดเก่าแก่ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ที่ว่า “จงกลัว เมื่อนักลงทุนในตลาดสวมวิญญาณกระทิง จงกล้าเมื่อนักลงทุนในตลาดสวมวิญญาณหมี” จะยังคงใช้การได้หรือไม่ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่หน้าตักใหญ่โตแบบกองทุนทั้งหลาย
ความสับสนของสัญญาณทางเศรษฐกิจ สะท้อนออกมาในความผันผวนของตลาด (แม้จะมีความพยายามบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกัน) ทำให้มีคำถามว่า สัญญาณทางเทคนิคของตลาดที่สร้างขึ้นมา จะยังคงเชื่อถือได้หรือไม่
ตัวอย่างใกล้ตัวมากที่สุด เมื่อดัชนีตลาดไทยคือ SET ทะลุแนวต้านมายืนเหนือ1,300 จุดเมื่อวันพฤหัสบดี แม้ทำท่าแผ่วปลายในวันศุกร์ แสดงว่าดัชนีจะไม่หลุดลงไปใต้ 1,300 จุดอีกแล้วใช่หรือไม่… คำตอบที่ชัดเจน ยังไม่มีใครกล้าฟันธง เพราะความเป็นไปได้ที่จะหลุดลงไปใต้แนวดังกล่าวยังมีอยู่ เช่นกันกับโอกาสที่จะทะยานต่อไปเหนือ 1,320 ก็ยังไม่ได้สูญสลายไปไหน
คำว่าสัญญาณสับสน ไม่ปรากฏในนิยามของตลาดเก็งกำไร รวมทั้งตลาดหุ้น เพราะมีแต่คำว่า สัญญาณผิดพลาด เนื่องมาจากสัญญาณทางเทคนิคที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่สามารถบ่งชี้ทิศทางของราคาหรือดัชนีในอนาคตได้ชัดเจน แต่มีความคลุมเครือภายใต้ข้อจำกัดของเวลาข้อมูล (ข้อมูลฉ้อฉล) และกระบวนคิดที่ใช้พิเคราะห์ข้อมูล
การฝ่าข้ามสัญญาณที่ผิดพลาดดีที่สุดคือ ต้องพึ่งพาประสบการณ์ในการถอดรหัสสัญญาณผิดพลาดดังกล่าว ซึ่งไม่ง่าย เพราะต้องพึ่งพาการอ่านสัญญาณหลายอย่างพร้อมกัน ในวงการหุ้น ดัชนีที่ต้องอ่านพร้อมกันเพื่อถอดรหัส ต้องมีทั้งสัญญาณแท่งเทียน MACD SSTO RSI Bollinger band แต่สัญญาณเหล่านี้ไม่เพียงพอ เพราะยังต้องมีปัจจัยภายนอกมาเป็นตัวแปรส่งอิทธิพล
ถึงกระนั้น ก็ยังมีคำเตือนอีกว่า สัญญาณผิดพลาดนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดหมายได้อีก โดยเฉพาะในตลาดหุ้นขนาดเล็กอย่างชาติกำลังพัฒนา เพราะว่ากระแสฟันด์โฟลว์จากทุนเก็งกำไรข้ามชาติถือว่ามีอิทธิพลที่ไม่อาจปฏิเสธได้
กระแสฟันด์โฟลว์จะเข้าหรือออกโยงใยเข้ากับค่าเงินสกุลหลักอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะค่าดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นตัวแปรของค่าเงินจึงเป็นปัจจัยข้างเคียงที่ไม่สามารถมองข้ามได้ แต่เนื่องจากตลาดค่าเงินนั้นแปรเปลี่ยนหาความแน่นอนไม่ได้เช่นกัน ยามใดที่แปรปรวนมากความผันผวนที่ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงรุนแรง ก็ยิ่งทำให้สัญญาณผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่ายมาก
กรณีของตลาดหุ้นไทยเมื่อวันศุกร์ มีโอกาสสูงมากที่จะทะลุยืนเหนือ 1,310 จุด แต่ก็ผ่านไปไม่ได้ ทั้งที่ต่างชาติ กองทุนและพอร์ตโบรกเกอร์รวมพลังซื้อค่อนข้างเยอะ แต่ก็ไม่อาจทนแรงขายของรายย่อยได้ ก็เป็นปริศนาว่า รายย่อยกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลของตลาดหุ้นไทยแต่เมื่อใด ถาวร หรือชั่วคราว หรือเป็นแค่ปรากฏการณ์พิเศษชั่ววันเดียว
สรุปแล้ว การก้าวข้ามสัญญาณผิดพลาดในตลาดหุ้น ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในยามที่สัญญาณทางเศรษฐกิจทั่วโลกสับสน
การป้องกันตัวด้วยวิธีที่ปลอดภัยรองลงมา ในกรณีที่ไม่สามารถถอดรหัสสัญญาณผิดพลาดได้ดี ย่อมหนีไม่พ้นวิธีการโบราณที่ง่ายๆ ไม่ต้องซับซ้อน คือ การป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า ในกรณีอ่านสัญญาณไม่ถูกต้อง คำแนะนำที่เป็นไปได้มากสุดคือ การถือเงินสดเอาไว้ถัวเฉลี่ย
วิธีนี้ เป็นไปตามหลัก กำไรน้อย ดีกว่า ขาดทุนหรือติดหุ้นยาว
ส่วนทางเลือกอื่นๆ นั้น อาจจะมีอยู่ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยม