พาราสาวะถี

การเมืองของฝ่ายกุมอำนาจ นอกเหนือจากเร่งทำงานตามนโยบาย เพื่อผลงานปรากฏเป็นรูปธรรมแล้ว คู่ขนานกันคือ เตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป


การเมืองของฝ่ายกุมอำนาจ นอกเหนือจากเร่งทำงานตามนโยบาย เพื่อผลงานปรากฏเป็นรูปธรรมแล้ว คู่ขนานกันคือ เตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป เหตุผลคือ สส.ที่มีสังกัดเวลานี้ที่เห็นชัดอย่างกลุ่มของ ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังไงก็ต้องปัดตูดหนีจากพลังประชารัฐไปสวมสีเสื้อพรรคกล้าธรรมที่ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ นั่งเป็นหัวหน้ารออยู่ ขณะที่พรรคซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นอย่างโอกาสใหม่ เป็นที่แน่ชัดว่าจะมี สส.จากพรรคขนาดกลางพรรคหนึ่ง หรืออาจหลายพรรคย้ายไปซบ

เป็นการเตรียมความพร้อมอยู่ในปีกของพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองยังไงเสีย หากสามารถจัดสรรผลประโยชน์ ณ ปัจจุบันให้ลงตัว ทำงานยืนระยะอยู่จนครบวาระ หลังเลือกตั้งครั้งหน้า ยังจะเป็นขั้วการเมืองเดิมที่จะจับมือกันบริหารประเทศต่อไป อยู่ที่ว่าพรรคไหนจะได้จำนวน สส.เท่าไหร่ ค่อยไปเจรจา ต่อรองกันในส่วนของเก้าอี้รัฐมนตรีเท่านั้น ที่มั่นใจกว่าใครเพื่อนคงหนีไม่พ้นเพื่อไทย หลังเห็นการกลับมาของนายใหญ่แล้ว ทำให้บรรยากาศในพื้นที่ การตอบรับจากประชาชนคึกคักทันตาเห็น

การประกาศพร้อมส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้นายก อบจ.แทบทุกแห่ง เป็นภาพสะท้อนความมั่นใจของแกนนำพรรค ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาสร้างความฮึกเหิม เพิ่มคะแนนนิยมในทุกแห่งที่ไป การแสดงออกทางการเมือง ถ้อยคำที่ปราศรัยบนเวที เลือกที่จะไม่สาดซัดใส่ศัตรู แต่ชูแนวทาง ชี้ทิศทางการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล รวมทั้งการวาดฝัน สร้างความหวังให้กับคนที่ได้ยินได้ฟัง ผู้ที่เคยสำเร็จ สร้างผลงานมาก่อน ย่อมได้รับความน่าเชื่อถือเป็นธรรมดา

คิวงานไปช่วยผู้สมัครนายก อบจ.หาเสียงเดือนธันวาคมของนายใหญ่คลอดแล้ว ประเดิมที่อุบลราชธานี แล้วไปต่อที่เชียงใหม่ ปิดจ๊อบส่งท้ายที่ศรีสะเกษ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง 6 ข้อกล่าวหาทักษิณและเพื่อไทย ปมถูกครอบงำ เป็นเหมือนการตอกย้ำว่า ความเคลื่อนไหว การแสดงออกทางการเมืองของอดีตนายกฯ นั้น เป็นสิทธิที่คนไทยโดยทั่วไปสามารถทำได้ เมื่อทุกอย่างอยู่ในกรอบของกฎหมาย เดินกันไปตามกติกาย่อมไม่มีปัญหา

ประเด็นที่ว่าเรื่องร้องเรียนลักษณะเดียวกันยังมีคาอยู่ที่ กกต. ถามต่อว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องด้วยมติเอกฉันท์ใน 5 ข้อกล่าวหา และเสียงข้างมากใน 1 ข้อกล่าวหา มีเหตุผลอันใดที่จะต้องดันทุรังหรือเห็นเป็นอย่างอื่น การอ้างว่ากระบวนการพิจารณาใช้กฎหมายคนละฉบับก็เป็นไปตามหลักการ เมื่อพฤติกรรมตามที่มีการกล่าวหาเป็นไปในลักษณะเดียวกัน จึงมองไม่เห็นผลที่จะแตกต่างกัน หลักฐานคงไม่มีอะไรใหม่ ไม่ต้องพูดถึงพยาน คงมีแค่ข่าวตัดแปะจากสื่อต่าง ๆ ที่อ้างคุณแหล่งข่าวนั่นเอง

การใช้ช่องทางนิติสงครามหนนี้เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของฝ่ายที่จ้องจะล้มรัฐบาล โดยยืมมือพวกนักร้องที่ทำมาหากินเป็นอาชีพมาเล่นงานเท่านั้น ยิ่งได้เห็นท่าทีของพรรคการเมืองครึ่งบกครึ่งน้ำ ส่วนที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านตั้งป้อมเรียกร้องประเด็นเอ็มโอยู 44 สอดรับกับการประกาศนำม็อบครั้งสุดท้ายในชีวิต ยิ่งทำให้เห็นถึงขบวนการความเคลื่อนไหว ไม่ต้องบอกว่าเป็นเพราะความคิดเห็นตรงกัน มองเห็นปัญหาร่วมกัน หรือเป็นการสมคบคิดมีผลประโยชน์ร่วมกัน

เพราะมองเห็นภาพเบื้องหลังขบวนการเช่นนี้กระมัง ทำให้อุ๊งอิ๊งถึงเรียกร้องว่าอย่าใช้ประเด็นนี้มาโจมตีรัฐบาล เอ็มโอยู 44 มีมานานแล้ว เรื่องความแตกแยกที่ทำให้คนเข้าใจผิดมันไม่ได้มี ต้องฟังข้อมูลที่จริงให้ครบ อย่าเอาเรื่องของกระแสหรือความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศมาทำให้เป็นประเด็นที่จะกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ พร้อมย้ำว่า ตนเป็นนายกฯ ของประเทศไทย ไม่มีทางเห็นประเทศใดสำคัญกว่าประเทศไทย ขอให้มั่นใจตรงนี้ไว้อย่างหนึ่ง ตนเกิดในแผ่นดินนี้ไม่มีทางที่จะเห็นที่ไหนดีกว่าบ้านเรา ขอให้มั่นใจในจุดนี้ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคุยด้วยเหตุผล ด้วยการตกลงระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ดี 

ความจริงปัญหาว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิไม่ได้มีแค่ในส่วนที่เกิดขึ้นกับกัมพูชาเท่านั้น ในอดีตกับแนวชายแดนฝั่งมาเลเซียก็มีปัญหา ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษานายกฯ ได้นำเอาข้อมูลมาชี้ให้เห็นภาพ ไทยกับมาเลเซียเคยมีข้อพิพาทเรื่องดินแดน เพราะทั้ง 2 ประเทศใช้หลักเกณฑ์ในการประกาศเขตแดนทางทะเลและกำหนดไหล่ทวีปแตกต่างกัน ไทยอาศัยเส้นขอบของเกาะโลซิน มาเลเซียไม่เห็นด้วย บอกว่าควรใช้ฝั่งเป็นเส้นมัธยฐาน เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงเกิดพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร ห่างจากปัตตานี 180 กิโลเมตร จากสงขลา 260 กิโลเมตร และห่างจากโกตาบารูของมาเลเซีย 150 กิโลเมตร

การเจรจาแบ่งอาณาเขตทางทะเลระหว่างสองประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2515 จนได้ทำความตกลงเพื่อให้สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลบริเวณที่เหลื่อมล้ำร่วมกัน และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วม เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของประเทศทั้งสองในอ่าวไทย โดยเรียกพื้นที่ตรงนั้นว่า พื้นที่พัฒนาร่วม เมื่อปี 2522

ภายใต้เงื่อนไขของระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต สัดส่วน 50:50 เป็นเวลา 50 ปี ถือเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ด้านปิโตรเลียมร่วมกัน และแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ จนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติในเวทีระหว่างประเทศ การดำเนินการมีทั้งราบรื่นและติดขัด จนในที่สุดองค์กรร่วมนี้ก็ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 มีการตั้งบริษัท ทรานส์ไทย มาเลเซีย (ประเทศไทย) และทรานส์ไทย มาเลเซีย (ประเทศมาเลเซีย) ในปี 2543 และสามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้ในปี 2548 รวมเวลาตั้งแต่เกิดข้อพิพาท จนถึงการใช้ผลประโยชน์ร่วมกัน 33 ปี

จากข้อมูลปี 2562 พื้นที่ดังกล่าวผลิตก๊าซธรรมชาติได้ประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผลิตคอนเดนเสทหรือก๊าซเหลวได้ประมาณ 16,700 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมรายได้ระหว่าง 2 ประเทศ ณ ขณะนั้น 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สร้างงานมากกว่า 50,000 ตำแหน่ง สนับสนุนทุนวิจัยให้มหาวิทยาลัยทั้ง 2 ประเทศ 16 โครงการ มากกว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ บอกแล้วว่าเรื่องแบบนี้มันมีข้อพิสูจน์ที่อธิบายกันได้ แต่บางพวกรู้อยู่แล้วแต่ทำเป็นแกล้งโง่ หูหนวก ตาบอด หาเหตุ สร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดปัญหา

อรชุน

Back to top button