KBANK รุกนาโนไฟแนนซ์.!
คงพูดได้เต็มปากว่า แบงก์สีเขียว KBANK เป็นเจ้าแห่งสินเชื่อขนาดกลางและขนาดเล็ก พิสูจน์ได้จากพอร์ตสินเชื่อ SME
คงพูดได้เต็มปากว่า แบงก์สีเขียว ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เป็นเจ้าแห่งสินเชื่อขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือสินเชื่อ SME พิสูจน์ได้จากพอร์ตสินเชื่อ SME ที่มีสัดส่วน 27.21% ของพอร์ตสินเชื่อรวม มากสุดในบรรดา TOP 4 แบงก์ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์สีน้ำเงิน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, แบงก์สีม่วง บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และแบงก์สีฟ้า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB
แม้จะมีฐานลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเยอะ แต่ด้วยข้อจำกัดของแบงก์ ทำให้ที่ผ่านมายังไม่เห็น KBANK ลงไปเล่นในตลาดนาโนไฟแนนซ์ หรือมีชื่อทางการว่า สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับโดยตรง ซึ่งเป็นกลุ่มรายย่อยลงไปอีก เพราะอาจผิดจารีตประเพณีของแบงก์…
เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เน้นปล่อยให้กับรายย่อยที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ อย่างกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระ และบุคคลที่ต้องการสร้างอาชีพ ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยรวมค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมเพดานสูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปี
ว่าไปแล้ว ก็เป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนก็สูงปรี๊ดดดเช่นกัน เพราะสามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงถึง 36% ต่อปี ก็เป็น High Risk, High Return แหละ
เลยเป็นที่มาของ KBANK แจ้งธุรกรรมการเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 50.16% ของบริษัท ทีทูพี โฮลดิ้ง จำกัด (T2PH) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งคอมปานี ที่ถือหุ้นในบริษัทอื่น หนึ่งในนั้นคือบริษัท เลนด์โนเวท จำกัด (Lendnovate) ซึ่งประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์
ไม่หมดเท่านี้ T2PH ยังมีอีก 2 บริษัทที่จะเข้ามาซัพพอร์ตในเรื่องของระบบและแพลตฟอร์ม ได้แก่ บริษัท ทีทูพี จำกัด (T2P) ประกอบธุรกิจให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ บริการสนับสนุนบริการแก่ผู้รับบัตร บริการชำระเงินแทน บริการโอนเงินด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ และตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ และบริษัท ดีพบล็อค จำกัด (DeepBLOK) ประกอบธุรกิจให้บริการ Loyalty Platform ทั้งสำเร็จรูปและแบบปรับเปลี่ยนตามความต้องการ สำหรับกลุ่มร้านค้าหรือลูกค้าองค์กร และธุรกิจให้บริการพัฒนา Platform หรือระบบ IT เพื่อสนับสนุนบริการทางการเงิน
ที่จริง KBANK ไม่ได้ใหม่ถอดด้ามสำหรับตลาดนี้ เคยชิมลางมาบ้างแล้ว จากการจัดตั้งนอนแบงก์ที่ชื่อ บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือที่รู้จักภายใต้แบรนด์ LINE BK ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (บริษัทลูกของ KBANK) กับบริษัท ไลน์ ไฟแนนเซียล เอเซีย (บริษัทลูกของ บริษัท ไลน์ คอร์ป) ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมตั้งแต่เงินฝาก บัตรเครติด สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์รวมอยู่ด้วย
LINE BK จึงมีสถานะเป็นหลานของแบงก์กสิกรไทย…
จากประสบการณ์ดังกล่าว คงเห็นแล้วว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ ทำให้ต้องหันไปพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ และที่สำคัญยังไม่มีเจ้าไหนครองตลาดนี้อย่างชัดเจน…ก็มองเป็นโอกาสในการเข้าไปชิกเค้ก
ขณะที่ศักดิ์และศรีของ KBANK ซึ่งเป็นแบงก์ใหญ่ ก็น่าจะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ไม่น้อย…อย่างน้อย ๆ ก็ดูมีภาษีเหนือกว่าไฟแนนซ์ห้องแถวแหละ…
โอเค…แม้พอร์ตสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อาจน้อยนิด เมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อรวมของ KBANK ซึ่ง ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567 อยู่ที่ 2.43 ล้านล้านบาท เลยทำให้ไม่เร้าใจ…ไม่สามารถทำให้หุ้นวิ่งร้อนแรงได้ แต่ถือเป็นสตอรี่ใหม่ที่น่าสนใจ…
ส่วนทำแล้วจะชัคเซสแค่ไหน..?? ยังไม่มีใครตอบได้
คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์…
…อิ อิ อิ…