พาราสาวะถี
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลังการประชุมคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีที่บ้านพิษณุโลกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลังการประชุมคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีที่บ้านพิษณุโลกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยมีการเชิญ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมหารือด้วย ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง แพทองธาร ชินวัตร จะสื่อสารกับสังคมว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต จาก 7 เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ ประเด็นแบบนี้ไม่จำเป็นต้องอธิบายความอะไรให้เมื่อยตุ้ม กับข้ออ้างที่ว่าให้ไปศึกษาโดยละเอียดก่อนนั้น ถือเป็นทางลงที่นุ่มนวลที่สุดแล้ว
รู้กันอยู่ มีความพยายามที่จะขยับอัตราแวตกันมาหลายหน ตั้งแต่ยุคของรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ แค่เปอร์เซ็นต์เดียวยังยาก ด้วยเหตุผลความเดือดร้อนของประชาชนที่กำลังเผชิญ ดังนั้น การที่จะปรับเพดานไปถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ต่อให้มีการชี้แจงสวยหรูยังไง ไม่มีทางที่รัฐบาลจะไปรอด เพราะเท่ากับเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน ในภาวะข้าวยากหมากแพง ถามว่าแวตที่เพิ่มขึ้นใครคือผู้รับกรรม เหตุผลที่อ้างว่าก็จะไปปรับลดภาษีนิติบุคคลให้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มองมุมไหนก็ไม่เห็นว่าประโยชน์จะเกิดกับคนส่วนใหญ่ แบบนี้เข้าทำนอง แค่คิดก็ผิดแล้ว
ไม่ต้องรอฟังเสียงจากประชาชน แม้แต่ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจน โดยมองว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มภาระให้เกษตรกรมากขึ้น ในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพ หากกระทรวงการคลังยังคงจะขับเคลื่อนตามที่ปรากฏเป็นข่าว กระทรวงเกษตรฯ ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน นี่แค่พรรคร่วมรัฐบาลพรรคเดียว เชื่อว่าพรรคอื่นคงมองไม่ต่างกัน แม้กระทั่งคนในพรรคเพื่อไทยเอง
การสั่งเบรกหัวทิ่มของแพทองธารจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว มีเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนให้ทำอีกเยอะแยะ การขยับตัวแบบนี้ไม่ใช่การโยนหินถามทาง แต่จะเป็นแสดงอาการให้เห็นเหมือนว่ารัฐบาลกำลังถังแตก บ่มีไก๊ไร้น้ำยาที่จะหาเงิน หรือบริหารงบประมาณได้อย่างมืออาชีพ ไม่สมกับที่คนส่วนใหญ่ตั้งความหวังไว้ ประจวบเหมาะกับที่ ครม.เพิ่งสั่งให้กระทรวงการคลังกลับไปทบทวนการจ่ายเงินหมื่นบาทเฟสสองให้กับกลุ่มสูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปออกไปก่อน เลยกลายเป็นเรื่องขนมผสมน้ำยา
ทั้งที่ความจริงกรณีเงินหมื่นบาทเฟสสองนั้น เกิดจากข้อทักท้วงของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เห็นว่า กรณีที่กระทรวงการคลังเสนอให้ ครม.พิจารณากำหนดให้โครงการดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของกรอบหลักการในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 และนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาไว้ และขอความเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรอบการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ให้ความเห็นชอบหลักการของกรอบหลักการของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้งหนึ่งนั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีการเสนอให้ ครม.พิจารณารายละเอียดของโครงการตามมติ ครม.ดังกล่าว และโดยที่โครงการนี้มีรายละเอียดบางประการแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรอบการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567
อีกประเด็นสำคัญคือ เนื่องจากกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจ่ายเงินซ้ำครั้งที่ 3 ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ยังจ่ายเงินไม่สำเร็จตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ควบคู่กับการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินตามโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 จากการดำเนินโครงการหลายโครงการในช่วงเวลาเดียวกัน จึงอาจเกิดความซ้ำซ้อนหรือความคลาดเคลื่อนของข้อมูลได้
จึงเห็นควรมอบหมายกระทรวงการคลังบริหารจัดการกลุ่มเป้าหมายของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินตามโครงการที่พึงจะได้รับและมิให้เกิดความซ้ำซ้อน รวมทั้งให้พิจารณากำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ โดยไม่ขัดกับที่ ครม.เคยได้เห็นชอบไว้
แม้จะดูไม่เกี่ยวกับเรื่องของงบประมาณ เป็นการทักท้วงในข้อกฎหมายเพื่อความถูกต้องจากกฤษฎีกา แต่ก็ทำให้เห็นว่า กระบวนการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลเพื่อดำเนินโครงการในลักษณะประชานิยมนั้น ไม่ได้ทำง่ายและรวดเร็วเหมือนที่ผ่านมา ต้องรอดูถ้ากลับมาเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ได้ แสดงว่าปัญหาที่เจอไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่หากยังยืดเยื้อก็ชวนให้คิดกันอยู่ไม่น้อย มีอุปสรรคใดที่มากกว่าข้อกฎหมายหรือไม่ ความล่าช้าที่ลากออกไป ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นในแง่ความสามารถในการแก้ปัญหาของรัฐบาล เพราะไม่ใช่แค่จะจ่ายไม่ทันเดือนมกราคมนี้ แต่จะกระทบไปถึงกลุ่มใหญ่ที่ต่อคิวรอด้วย
โหมโรงรอกันแล้วก่อนที่จะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่สองของปีนี้ ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ พรรคประชาชนในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน จองกฐินขู่ฟ่อด ๆ จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแน่นอน แม้ว่าอุ๊งอิ๊งเพิ่งจะบริหารประเทศมาได้แค่ 3 เดือนก็ตาม เพราะมีประเด็นที่สังคมเคลือบแคลงไม่ว่าจะเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ดินเขากระโดง สถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งดู ๆ แล้วที่พอมีน้ำหนักน่าจะเป็นปัญหาที่ดินเผือกร้อนในความรับผิดชอบของพรรคภูมิใจไทยมากกว่า
พิจารณาจากปมปัญหา กระบวนการบังคับใช้กฎหมายของกรมที่ดิน ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ อนุทิน ชาญวีรกูล กับพื้นที่ปัญหาคือเขากระโดง บุรีรัมย์ มันชัดเจนในแง่ของการชี้ชวนให้สังคมเข้าใจได้ว่าเป็นการแก้ปัญหารักษาผลประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบหรือแค่ช่วยใครบางคนบางตระกูลกันแน่ เรื่องนี้ถ้าทำการบ้านกันมาดี เชื่อว่าจะสร้างราคาให้กับฝ่ายค้านได้มากกว่าไปจับผิดในประเด็นอื่น
อรชุน