China Plus One เกมต่อกร Trade war
กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศจีน มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด
กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศจีน มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต จากเดิมเน้นการใช้แรงงานเป็นหลัก เพื่อก้าวสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มูลค่าสูงขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า โดรน หุ่นยนต์ เครื่องบิน อันเป็นที่ประจักษ์ในปัจจุบัน
โดยจีนพยายามรักษาสถานะ “โรงงานของโลก” และสร้างสมดุลห่วงโซ่การผลิต ด้วยการกระจายฐานการผลิตออกสู่ประเทศต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงว่าด้วยเรื่อง สงครามทางการค้า (Trade war) โดยเฉพาะประเทศกลุ่มอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ที่มีความน่าสนใจการลงทุนสูง
จนเป็นที่มาของนโยบาย China Plus One หรือที่เรียกว่า กลยุทธ์ China+1 นั่นเอง
ข้อมูล ณ สิ้นปี 2562 บริษัทจีน มีการขยายธุรกิจเกือบ 130 ประเทศทั่วโลก โดยงานวิจัยของ Pew Research Center และ The Brunswick Group ระบุว่า ตลาดเกิดใหม่กำลังน่าสนใจ ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะนักลงทุนชาวจีน ให้เข้ามาลงทุนในภูมิภาค และนอกเหนือจากการเข้าลงทุนกลุ่ม “ประเทศตลาดเกิดใหม่” บรรดา “ประเทศพัฒนาแล้ว” พยายามสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนเพื่อดึงดูดนักธุรกิจชาวจีนให้เข้าไปลงทุนธุรกิจการเงินและการท่องเที่ยวเช่นกัน
รายงานจาก the Asean+3 Macroeconomic Research Office มีการประเมินว่าภายในปี 2573 เศรษฐกิจอาเซียนจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของตลาดโลก ด้วยเงินลงทุนของจีนในภูมิภาคนี้กว่า 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2578
โดยเฉพาะ “สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ” ภาคอุตสาหกรรมจีน มีการย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนมากกว่าการเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ โดยตรง ที่มีอุปสรรคทางการค้าหลายประการ จากข้อพิพาททางการค้าที่เกิดขึ้น
ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เป็นนโยบายการค้าที่สร้างแรงดึงดูดให้นักธุรกิจจีนและนักธุรกิจทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนทางตรง (FDI) ในไทยและอาเซียน โดยเฉพาะทุนนิยมตะวันตกที่ย้ายฐานการลงทุนออกจากฮ่องกง จากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนกับฮ่องกง
นับว่าปัญหาการเมืองของจีน และสงครามการค้า กลายเป็นปัจจัยหลักสนับสนุนการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น ตลอดจนการสร้างงานให้เพิ่มขึ้นอีกหลายล้านตำแหน่งในอนาคต
ผลพวงจากนโยบาย China Plus One สร้างโอกาสให้ประเทศหลายทางด้วยกัน..
1)การพัฒนาทักษะแรงงานและโอกาสการได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านการขยายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย (Knowledge Transfer) นั่นทำให้แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีคุณภาพมีประสิทธิภาพ มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น
2)การเพิ่มขึ้นของปริมาณการจ้างงานในประเทศไทย เนื่องจากการจัดตั้งบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรม ต้องการบุคลากรและแรงงานท้องถิ่นจำนวนมาก
3)การเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) จากการพัฒนาเศรษฐกิจและภาคการส่งออก อันเกิดจากการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ประชากรมีรายได้มากขึ้น เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ
4)การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคในพื้นที่ที่มีการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถรองรับการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5)การสร้างโอกาสให้บริษัทสัญชาติไทยที่มีศักยภาพขยายการค้าการลงทุนสู่ประเทศใหม่ ๆ โดยการเรียนรู้ประสบการณ์ และความชำนาญของบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีนและขยายการลงทุนมายังประเทศไทย
การกลับมาของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนโยบายกีดกันการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างเข้มข้น อาจทำให้ไทยมีโอกาสรับประโยชน์จากสหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น
ในทางกลับกันมีความเสี่ยงที่จีนจะใช้กลุ่มประเทศอาเซียน อันเป็นช่องทางผ่านสินค้าส่งไปสหรัฐฯ เพื่อเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะใช้มาตรการตอบโต้กลับกับประเทศที่เป็นทางผ่านให้กับสินค้าจีนสู่สหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน