พาราสาวะถี อรชุน

ดุดันทีเดียวสำหรับท่วงทำนองของ พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาแสดงความเห็นโดยไม่แทงกั๊ก”ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย”หรือฉบับใดๆก็ตามที่เกิดมาจากการรัฐประหาร โดยก่อนหน้านั้นเจ้าตัวได้ประกาศกร้าวไม่เห็นด้วยกับไอ้ อี คนไหนที่ถือโอกาสบัญญัติให้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่แก้ไขยาก จนแทบจะปิดทางการแก้ไข


ดุดันทีเดียวสำหรับท่วงทำนองของ พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาแสดงความเห็นโดยไม่แทงกั๊ก”ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย”หรือฉบับใดๆก็ตามที่เกิดมาจากการรัฐประหาร โดยก่อนหน้านั้นเจ้าตัวได้ประกาศกร้าวไม่เห็นด้วยกับไอ้ อี คนไหนที่ถือโอกาสบัญญัติให้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่แก้ไขยาก จนแทบจะปิดทางการแก้ไข

ในความเห็นของพิเชษฐก็คือ หลังจากมีการปฏิวัติเมื่อปี 2475 เราต้องเคารพต่อรัฐธรรมนูญที่เราได้ขอพระราชทานมาจากพระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้าล้นกระหม่อมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 แต่รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ บกพร่องอย่างไรตามกาลเวลาและสถานการณ์ เราต้องแก้ไข

การปิดประตูตายของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ทำกันอยู่เวลานี้ ก็เพื่อเปิดทางให้ผู้มีอำนาจมาถือเป็นข้ออ้างฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับ โดยไม่ต้องแก้ไข เลี่ยงคำว่า กบฏ มาเป็นคำว่า รัฐประหาร แย่งอำนาจที่แท้จริงของประชาชน มาเป็น รัฏฐาธิปัตย์ ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ฉีกรัฐธรรมนูญพระราชทานฉบับเดิมทิ้ง ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ฝ่ายตัวเอง แล้วตั้งพรรคพวกตัวเองและนักลากตั้งเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ลิดรอนอำนาจประชาชนและกำจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

แน่นอนว่า ด้วยข้อกล่าวหาที่หยิบยกขึ้นมากันอย่างง่ายดายนั่นก็คือ นักการเมืองและการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นความชั่วช้า สามานย์ แต่ในทางกลับกันต้องเสียงบประมาณเพื่อเลี้ยงดูนักร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ และสารพัด รวมแล้วหลายหมื่นล้านบาท รวมไปถึงความเสียหายเกี่ยวเนื่องและศักดิ์ศรีที่ต้องเสียไปในสังคมประชาคมโลกที่ไม่อาจประมาณการได้

จากนั้นจึงตอบท้ายว่า ดูออกและเข้าใจหรือยัง ทำไมต่างชาติจึงรังเกียจเรา ทำไมมาตรการต่อต้านเศรษฐกิจไทยจากประชาคมโลกจึงถาโถมกันมาทุกด้าน ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงได้ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญต้องเป็นสากลในทุกมาตรา สามารถให้คนดูได้ ไม่ว่าจะที่มาหรือที่ไปอย่างไร และไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญมีการแก้ไขบ่อย การเขียนอะไรที่แตกต่างจึงควรจะไปบัญญัติที่จุดอื่น ไม่มีการเขียนรัฐธรรมนูญซ่อนอำนาจอย่างที่กลัวกัน

แต่ก็อีกนั่นแหละ การดำเนินการของ มีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ กรธ.ไม่น่าจะดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางดังว่านั้น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมิติทางการเมือง ที่ฟังบรรดาโฆษก กรธ.ออกมาแก้ต่างกันแต่ละครั้ง หากจะทบทวนก็จะดำเนินการในหมวดสิทธิเสรีภาพ แต่เรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองถ้าประชาชนเห็นด้วยกับ กรธ.ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปแก้ไขตามเสียงเรียกร้องของนักการเมือง

ที่หลายคนสงสัยคงเป็นแล้วเสียงประชาชนที่ กรธ.จะนำมาเป็นตัวตัดสินนั้น ถามว่าจะวัดกันอย่างไร ถ้าจะใช้เวทีที่ไปจัดกันใน 4 ภูมิภาค ไม่น่าจะเป็นความชอบธรรม เพราะเวทีดังว่าเป็นที่รู้กันล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนที่จัดตั้งกันมาแทบทั้งสิ้น ทางที่ดีควรจะเปิดเวทีกลางให้กลุ่มเห็นต่างได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง นั่นต่างหากจึงจะเป็นที่ยอมรับ

ถ้าจะหยิบยกเอาประเด็นที่เป็นปัญหาในร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองและพรรคการเมือง เช่น กรณีการให้อำนาจองค์กรอิสระอย่างล้นฟ้าจนถูกมองว่า เป็นการสร้างมาตรการคัดง้างเสียงข้างมาก โดย สิริพรรณ นกสวน ได้แยกแยะเพื่อให้เห็นภาพอย่างน้อยใน 2 ประเด็นก็คือ มาตรา 207 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในมาตรา 207 หรือ มาตรา 7 เดิม

อำนาจนี้จะส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและเหนือรัฐธรรมนูญเอง ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมีวุฒิสภาเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และ วาระสามต้องมีส.ส.ทุกพรรคการเมืองที่มีส.ส.ไม่น้อยกว่า 10 คนเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 นอกจากนั้น ส.ส.ของแต่ละพรรคที่มีเสียงน้อยกว่าสิบหากรวมกัน 10 คนขึ้นไป ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

จึงเป็นการเพิ่ม blackmail potential ให้พรรคขนาดเล็ก เรียกได้ว่าเปิดช่องให้เกิดการแสดงหาผลประโยชน์และการต่อรองได้อย่างเต็มที่ ขณะที่หากต้องการแก้ประเด็นคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ หรืออำนาจหน้าที่ของศาลขององค์กรอิสระ ต้องทำประชามติ ที่คือเงื่อนตายที่มีชัยผูกไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ยิ่งมองไปยังระบบการเลือกตั้งส.ส.ที่ใช้บัตรใบเดียวผ่านระบบจัดสรรปันส่วนผสม จะพบว่าเทคนิคการเลือกตั้งเช่นนี้ จะทำให้พรรคขนาดกลางที่ไม่ชนะการเลือกตั้งมีอำนาจต่อรองสูงว่าจะเลือกร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคใด นี่คือคำอธิบายสำคัญว่าผลเลือกตั้งจะไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนและอาจถูกบิดเบือนได้โดยง่าย

เช่นเดียวกับการให้พรรคเสนอรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี 3 คน เท่ากับเปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก ซึ่งคนที่พรรคเสนอชื่ออาจไม่ใช่คนที่ประชาชนชอบ ส่งผลให้เสียงของประชาชนไร้ความหมาย ความยุ่งยากดังกล่าวจะทำให้หลังเลือกตั้งเกิดการเสียเวลาไปกับการบริหารการเมือง ซึ่งส่งผลให้เวลาในการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต้องลดลงตามไปด้วย

ยังไม่หมดเท่านั้นปัญหาสำคัญของพรรคการเมืองคงเป็นกรณีนโยบายที่จะนำไปช่วยเหลือดูแลประชาชน หากถูกกล่าวหาว่าเป็นนโยบายประชานิยมจะไม่สามารถถูกนำไปใช้หาเสียงและนำไปใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินได้ ซึ่งดูแล้วขัดแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดหน้าที่ของรัฐเอาไว้เยอะแยะไปหมดทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

เหนือสิ่งอื่นใดหากรัฐบาลดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนไปแล้ว แต่องค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. กกต. หรือ  สตง. มีความประสงค์จะทักท้วงนโยบายดังกล่าวก็สามารถทำได้ตามอำนาจที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มอบให้ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการชะลอหรือหยุดโครงการที่กำลังไปแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนก็ตาม

อย่างที่บอกไว้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อคลี่ดูโดยละเอียดแล้ว จะพบจุดซุกซ่อนเงื่อนปมวางกับดักกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งไว้ยั้วเยี้ยไปหมด ด้วยปัจจัยเช่นนี้นี่ไงที่ทำให้ฝ่ายการเมืองจะต้องออกมาทักท้วงและบางพรรคถึงกับประกาศคว่ำร่างกันเลยทีเดียว แต่ก็ยังมีบางพรรคที่แทงกั๊กสงวนท่าที แน่นอนว่า คงไม่ต้องบอกว่าเพราะเหตุใด หากจะตรวจสอบว่าพรรคใดที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง พรรคใดแอบอิงอยู่กับอำนาจนอกระบบ จังหวะเช่นนี้น่าจะเห็นกันชัดเจนมากขึ้น

Back to top button