พี่เบิ้มอ่อนหัดพลวัต 2016
ถึงวันนี้ ทางการจีนต้องเริ่มยอมรับโดยดุษณีว่า การพยายามควบคุมกลไกเศรษกิฐอย่างเบ็ดเสร็จด้วย “มือที่มองเห็น” ของรัฐฯนั้น มี้ทุนมหาศาลเพียงใด ที่สำคัญอาจจะคุ้มค่า หรือไม่ก็ถึงขนาดสูญเปล่าได้ง่ายดายเหลือเกิน
วิษณุ โชลิตกุล
ถึงวันนี้ ทางการจีนต้องเริ่มยอมรับโดยดุษณีว่า การพยายามควบคุมกลไกเศรษกิฐอย่างเบ็ดเสร็จด้วย “มือที่มองเห็น” ของรัฐฯนั้น มี้ทุนมหาศาลเพียงใด ที่สำคัญอาจจะคุ้มค่า หรือไม่ก็ถึงขนาดสูญเปล่าได้ง่ายดายเหลือเกิน
ตัวเลขที่เปิดเผยออกมาล่าสุดว่าทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีน ลดลง 9.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม ร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากการที่ธนาคารกลางจีนทำการเทขายค่าเงินดอลลาร์เพื่อปกป้องสกุลเงินหยวน และเพื่อสกัดกั้นกระแสเงินไหลออกจากประเทศที่เพิ่มมากขึ้น
การล้างผลาญครั้งสำคัญดังกล่าว ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนในเดือนมกราคมปรับตัวลงมาคงเหลือแตะระดับ 3.23 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 2012 และเป็นการร่วงลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์
ปี ค.ศ. 2015 ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนถูกล้างผลาญรุนแรง คิดเป็นมูลค่าโดยรวมแล้ว ลดลงไป 5.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 13% ของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ (เท่ากับทุนสำรองเงินตราทั้งหมดของสวิตเซอร์แลนด์) จาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ 1) การแทรกแซงตลาดหุ้นที่ร่วงแรงใน ครึ่งหลังของปี 2015 ด้วยวงเงินมหาศาล ซึ่งลงท้ายก็ล้มเหลว 2) การแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนหลังจากการลดค่าเงินหยวนทั้งตลาดในประเทศและตลาดออฟชอร์ที่ฮ่องกง นับแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เนื่องจากเงินทุนไหลออกช่วง 6 เดือนที่ผ่านมารวม 4.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถึงเดือนมกราคมปีนี้
แม้ทุนสำรองฯของจีนจะยังคงเป็นทุนสำรองฯที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่การล้างผลาญเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างมหาศาลเพื่อประคองนโยบายรัฐโดยหวังว่าความปกติ (หมายถึงการเติบโตเป็นขาขึ้นต่อเนื่องแบบใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา) จะกลับคืนมา ยังคงเป็นปริศนาว่า เป็นแนวทางที่เหมาะสมเพียงใด
เสียงวิพากษ์ความเหมาะสมจของการพยายามอย่างน่าเวียนหัวแบบ “หมอมือใหม่” ของหน่วยงานรัฐทางด้านเศรษฐกิจจีน ในการสร้างสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติเรียกว่า “พลังทีมชาติ” (national team forces) ป้องกันดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และอื่นร่วงต่ำกว่า หรือการป้องกันค่าเงินหยวนที่ไม่จำเป็น เป็นสิ่งที่น่าจะสะท้อนว่า โมเดลเศรษฐกิจตั้งแต่ยุคเติ้ง เสี่ยว ผิง หมดประสิทธิผลแล้วเป็นสำคัญ ไม่ได้มีความหมายเป็นอย่างอื่น
ผลพวงจากการล้างผลาญทุนสำรองดังกล่าว สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่ในระยะกลางและยาวแล้ว ยังถือว่าไม่สามารถตอบโจทย์แก้ไขปัญหาที่ใหญ่กว่า 3 เรื่อง คือ 1) การไหลออกของทุนจากประชาชนที่มีเงินออมไปต่างประเทศ หรือ ภาคธุรกิจที่ต้องการทำแคร์รี่เทรดย้อนศรจากการแข็งค่าดอลลาร์หรือเยนในอนาคต หรือกองทุนเก็งกำไรที่ถอนตัวจากตลาดหุ้นจีน 2) ปัญหาหนี้สินที่มีโอกาสเป็นหนี้เน่าหรือ NPLs จำนวนมหาศาลทั้งในระบบการเงินและในตลาดทุนจากการเสื่อมถอยของสินทรัพย์ ราคาหุ้นที่ถัวเฉลี่ยแล้ว มีค่าพี/อีสูงเกินพื้นฐานที่สุดในโลก
แม้ว่าล่าสุด นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียง ก็ยังคงออกมาระบุว่า รัฐบาลจีนยังคงให้ความสำคัญและทุ่มเทรักษาเสถียรภาพ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เดินหน้าปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยลดทอนอำนาจฝ่ายบริหาร เพื่อกระจายอำนาจ รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบยกระดับคุณภาพการบริการให้ทันสมัยและจะนำไปสู่การเปิดเสรี
เช่นเดียวกัน ธนาคารกลางจีนก็ยังออกมาเน้นการจะดำเนินนโยบายการเงินที่รอบคอบรัดกุมต่อ พร้อมหาจุดสมดุลระหว่างการคุมเข้มและการผ่อนคลายทางการการเงิน โดยจะกระตุ้นอุปสงค์ให้สอดคล้องกับการปฏิรูปด้านอุปทาน เป้าหมายสำคัญคือ พัฒนาประสิทธิภาพของโครงสร้างการเงินและสินเชื่อ เพื่อช่วยสร้างการเติบโตใหม่ ที่เน้นการปฏิรูปและนวัตกรรมมากขึ้นในการจัดสรรทรัพยากร พร้อมกับปกป้องความเสี่ยงทางการเงิน
คำแถลงของนายกรัฐมนตรีจีน และของธนาคารกลางจีน ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าตอกย้ำสิ่งที่กระทำมาแล้วถูกต้องเสมอ ซึ่งมีคนเห็นว่าเป็นแค่จิตวิทยาแบบ “มะนาวหวาน” เท่านั้นเอง ในขณะที่ความเชื่อมั่นต่อมาตรการของอำนาจรัฐจีน ถดถอยลงต่อเนื่อง ตัวเลขเงินทุนไหลออกลุล่าสุดที่ 1 ล้านล้านดอลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา ฟ้องความไม่เชื่อมั่นชัดเจน
มูลค่าหนี้ทั้งระบบที่เป็นทางการของสถาบันการเงินจีนล่าสุด อยู่ที่ระดับ 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ใหญ่กว่ายอดหนี้รวมของสถาบันการเงินในสหรัฐฯถึง 2 เท่าตัว ในช่วงเศรษฐกิจยังเป็นขาขึ้น สัดส่วนของหนี้ที่เกิดจากการฉ้อฉลของระบบสถาบันการเงิน และผู้บริหารกิจการอาจจะไม่ปรากฏชัดเจน แต่ในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัวปัญหา “น้ำลดตอผุด” ทยอยกันโผล่ขึ้นมาโดดเด่น
จนถึงวันนี้ หน่วยงานรัฐจีน ยังไม่สามารถหาคำตอบสำหรับโจทย์ว่าด้วยการแก้ปัญหาที่ดีกว่ามาตรการเก่าๆ ที่เคยงัดมาใช้อย่างลองผิดลองถูก ซึ่งเป็นการ “ปะผุ” มากกว่าแก้อย่างถึงรากฐาน
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ในช่วงปี 2014 ความพยายามของทางการจีนในการล้างหนี้และป้องกันฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ทำให้เงินที่กองสุมอยู่ในธุรกิจดังกล่าวด้านหนึ่งหายไปหลบซ่อนในต่างประเทศ ผ่านกระบวนการโพยก๊วน หรือ แคร์รี่เทรดย้อนศร อีกส่วนหนึ่ง เคลื่อนย้ายมาที่ตลาดหุ้น และออกฤทธิ์จนเกิดฟองสบู่ตลาดหุ้นในครึ่งแรกของปี 2015 ที่ดัชนีตลาดเซี่ยงไฮ้วิ่งทะยานขึ้นมากถึง 150% อย่างผิดปกติ ดังที่ทราบกันดี แล้วก็ฟองสบู่แตกทำให้รัฐเข้ามาโอบอุ้ม
ยามที่จีนกำลังเพียรพยายามที่จะก้าวข้ามหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคสมัยว่าด้วย “กับดักชาติรายได้ปานกลาง” ด้วยการปรับดุลยภาพเศรษฐกิจใหม่ เพราะตระหนักดีว่า โมเดลเศรษฐกิจยุคเติ้ง เสี่ยว ผิง ที่เริ่มมีอาการ “เครื่องหลวม” มีส่วนทำให้เสถียรภาพของตลาดเงินและตลาดทุนปั่นป่วนวุ่นวาย
การร่อยหรอของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ เป็นคำถามที่ท้าทายของรัฐจีนอย่างมาก แต่ที่ท้าทายยิ่งกว่า อยู่ที่ว่า จีนจะยอมรับหรือไม่ว่าบนเส้นทางสู่ทุนนิยมนั้น การปล่อยให้ “มือที่มองไม่เห็น” ทำงานบางส่วน ย่อมปลดปล่อยภาระของ “พี่เบิ้ม” ที่อ่อนหัดได้ดีกว่ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จ