พาราสาวะถี

จะสร้างความประทับใจขนาดไหน เป็นความหวังให้คนส่วนใหญ่ได้หรือไม่ ฟังจากปากของ แพทองธาร ชินวัตร ที่จะนำ ครม.พร้อมคณะชุดใหญ่ แถลงผลงานรอบ 90 วัน


จะสร้างความประทับใจขนาดไหน เป็นความหวังให้คนส่วนใหญ่ได้หรือไม่ ฟังจากปากของ แพทองธาร ชินวัตร ที่จะนำ ครม.พร้อมคณะชุดใหญ่ แถลงผลงานรอบ 90 วัน และชี้ทิศนำทางถึงนโยบายที่จะขับเคลื่อนไปอีกในช่วงระยะเวลาที่เหลือของรัฐบาล ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะขอลางานในเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 1 วัน สวมหัวโขนหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พาบิดา ทักษิณ ชินวัตร พร้อมครอบครัวทั้งหมดขึ้นรถไฟที่สถานีบางบำหรุไปร่วมสัมมนา สส.ของพรรคที่หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์

ในแง่การทำงานของรัฐบาล จะเห็นได้ว่ากระบวนการตัดสินใจต่อการเดินหน้างานที่สำคัญหลายเรื่องนั้นไม่ได้เหลือคราบไคลความเด็ดขาดเหมือนยุคของทักษิณ หรือรัฐบาลอื่นภายใต้การนำของพรรคนายใหญ่ ตั้งแต่คราว เศรษฐา ทวีสิน โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่เป็นนโยบายเรือธงก็ถูกดึงให้ช้า อันเนื่องมาจากเสียงคัดค้านรอบทิศ ฟังจาก พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลังล่าสุด เกี่ยวกับการดึงจังหวะจ่ายเงินหมื่นเฟสสองออกไป ทำให้รู้เลยว่ามีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ

ขณะเดียวกัน ความเป็นรัฐบาลผสม แม้จะมีเสียงมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้ตัดสินใจทุกเรื่องได้โดยไม่ต้องฟังเสียงเพื่อนร่วมทาง ประกอบกับท่าทีของแต่ละพรรคโดยเฉพาะภูมิใจไทย ก็เด่นชัดเหลือเกินว่า มีความเห็นไม่ตรงกันในหลายเรื่อง และพร้อมที่จะขวางลำทันทีแบบไม่เกรงใจกัน นั่นเป็นเพราะเสียง สส.ของพรรคสีน้ำเงิน มีผลต่อการโหวตในสภา เช่นเดียวกับการมี สว.ที่เป็นพวก จึงทำให้ทุกครั้งที่ส่งเสียงเตือน พรรคแกนนำยอมที่จะรับฟังแต่โดยดี

กรณีร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหมที่เสนอโดย ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทยพร้อมคณะ ก็ทำท่าว่าจะต้องถอนกฎหมายกลับไปพิจารณา เป็นภาษาที่ใช้เพื่อให้ดูสวยหรู แต่ความเป็นจริงคือคงไม่มีการนำเสนอกลับมาใหม่ ไม่ใช่แค่เสียงไม่เอาด้วยจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะภูมิใจไทย แต่ท่าทีของฝ่ายคนมีสีไม่น่าจะแฮปปี้ต่อการดำเนินการครั้งนี้ด้วย เห็นชัดเจนว่า เป็นความพยายามที่จะเอาการเมืองไปยุ่งกับกองทัพว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารระดับนายพล

ข้ออ้างเป็นการป้องกันการรัฐประหารฟังไม่ขึ้น เห็นกันอยู่ว่าการถูกยึดอำนาจตั้งแต่ยุคทักษิณ มาจนถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากการสุมหัว วางแผนของอำนาจนอกระบบ โดยเฉพาะกับคนที่เคยไปเกาะโต๊ะขอเก้าอี้มาแล้วนั่นเอง ดังนั้น ประสาผู้ที่มีบทเรียนมาแล้วต้องละเอียด รัดกุม อะไรที่สุ่มเสี่ยง เป็นแรงกระทบกระแทกใส่รัฐบาลลูกสาว นายใหญ่จะต้องส่งสัญญาณแรงไปให้ฝ่ายขับเคลื่อน อย่าหาเหตุสร้างแรงกระเพื่อม สะเทือนต่อเสถียรภาพของฝ่ายกุมอำนาจเด็ดขาด

ความจริงความพยายามที่จะป้องกันการรัฐประหารนั้น หากจะทำกันจริงก็ควรจะใช้ช่องทางการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ใช่การรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญเหมือนที่เผด็จการสืบทอดอำนาจยัดไส้ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับอยู่ยาว ถามว่า ทำได้จริงหรือ หากฝ่ายการเมืองร่วมแรงร่วมใจ ไม่กลัวกันจนเกินไป สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีบทบัญญัติของการป้องกันการปฏิวัติรัฐประหาร และป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญ และทำลายประชาธิปไตยไว้

หลายคนอาจมีความเห็นแย้งว่า ต่อให้เขียนกฎหมายไว้อย่างไรสุดท้ายเมื่อฝ่ายกองทัพทำการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญก็ไม่มีความหมาย ตรงนี้คงต้องอาศัย 1 ในอำนาจอธิปไตยตามกระบวนการประชาธิปไตยนั่นก็คือ ฝ่ายตุลาการให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด เหมือนที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา พูดในวันรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาว่า “ตุลาการ ศาล ก็มีส่วนเหมือนกัน ทำไมศาลฎีกาจึงบอกว่าปฏิวัติแล้วเป็นรัฏฐาธิปัตย์ กบฏมีอำนาจสูงสุดได้ทันที ศาลยอมรับอย่างนั้นได้อย่างไร”

มุมมองของวันนอร์นั้นเห็นว่า ในอดีตอาจจะยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เพราะมันเป็นกฎหมายสมัยนโปเลียน แต่วันนี้หมดยุคแล้ว ประเทศพัฒนาแล้วต่างเห็นตรงกันว่า การปฏิวัติก็คือกบฏ อำนาจตุลาการทำไมถึงคิดตรงข้ามกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ ไม่ใช่การก้าวล่วงหรือให้ร้ายอำนาจตุลาการ แต่เป็นความเห็นของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติที่เห็นว่า เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว หากจะป้องกันการรัฐประหารในอนาคต รัฐธรรมนูญไม่ถูกฉีกทิ้ง การบัญญัติข้อห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีผู้ตัดสินที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจที่มาจากปลายกระบอกปืนด้วยเช่นกัน

ถือเป็นความเห็นจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่โดยสถานะจะไม่แสดงออกในทางหนึ่งทางใด เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาในความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลที่เกิดจากการพลิกขั้วด้วยสถานการณ์บังคับ จึงไม่ใช่การอิงแอบ หรือแสดงท่าทีในเชิงพินอบพิเทาต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรต้องหาจุดร่วมเพื่อเป็นจุดยืนอันเข้มแข็งทั้งในมิติทางการเมือง และแนวทางการบริหาร เพื่อให้คนส่วนใหญ่เกิดความเชื่อมั่น ไม่ต้องห่วงเรื่องความนิยมของพรรคต้นสังกัด หรือหวังผลไปถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป

สำหรับประเด็นเอ็มโอยู 44 ที่ สนธิ ลิ้มทองกุล พาพวกไปยื่นหนังสือผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบฯ พร้อมขีดเส้น 15 วันต้องมีคำตอบนั้น ยังมองไม่เห็นว่าจะสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลได้อย่างไร ในเมื่อตามกระบวนการคณะกรรมการด้านเทคนิคหรือ JTC ที่จะต้องไปคุยกับทางฝั่งกัมพูชายังไม่ได้ตั้ง และไม่รู้ว่าจะตั้งได้เมื่อไหร่ ที่ได้ยินได้ฟังจากฝ่ายรัฐบาลมาตลอดคือจะเร่งทำให้เร็วที่สุด คำตอบในลักษณะนี้เท่ากับการยื้อเวลาไปเรื่อย ๆ ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบอะไร

สิ่งที่แกนนำรัฐบาลเห็นตรงกันในการรับมือกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มเรียกร้องต่าง ๆ หากเป็นกลุ่มเดือดร้อนที่แท้จริง จะตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหาทางช่วยเหลือ ส่วนม็อบมีเบื้องหลังก็ปล่อยให้เป็นไปตามสภาพ จุดติดหรือไม่แนวโน้มคงยาก เพราะความเดือดร้อนที่อยู่ตรงหน้า เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะให้โอกาสรัฐบาลได้ทำงาน ต้องดูหลังแถลงผลงาน 90 วันไปแล้ว หากสร้างความหวัง และมีความเป็นไปได้ที่คุณภาพชีวิตของประชาชนจะได้รับการดูแลให้ดีขึ้น ก็ไม่มีเหตุใดที่จะต้องไปสั่นคลอน บั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาล

อรชุน

Back to top button