‘สเต็มเซลล์’ แพทย์ก้าวหน้า & กฎหมายล้าหลัง.!?
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มรู้จักสเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิด ผ่านรูปแบบการใช้รักษาโรคเลือดต่าง ๆ หรือธุรกิจด้านความงาม
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มรู้จักสเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิด ผ่านรูปแบบการใช้รักษาโรคเลือดต่าง ๆ หรือธุรกิจด้านความงาม แต่ว่าวิวัฒนาการสเต็มเซลล์ เพื่อการรักษาโรคมีความก้าวหน้าขึ้นมาก มีการประยุกต์นำสเต็มเซลล์มาใช้เพื่อการรักษาโรคต่าง ๆ หลากหลายมากขึ้น
โดยมีการประมาณมูลค่าอุตสาหกรรมสเต็มเซลล์ทั้งโลก อยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงปี 2020 และคาดว่าจะสูงถึง 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงปี 2026 หรืออัตราเติบโต 8.80-10.2% ต่อปี เทียบกับอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมสุขภาพโดยรวมเฉลี่ยปีละ 5%
งานวิจัยจาก Grand View Research บริษัทวิจัยทางการตลาดของสหรัฐฯ ที่มีฐานข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับ 46 อุตสาหกรรมใน 25 ประเทศหลักทั่วโลก ระบุว่า มูลค่าตลาดเซลล์ต้นกำเนิด (stem cells) ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 15,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 513,400 ล้านบาท ช่วงปี 2024 และจะเติบโตอัตราเฉลี่ย (CAGR) อยู่ที่ 11.41% ช่วงตั้งแต่ปี 2025-2030
ปัจจัยหลักมาจากการพัฒนาด้าน Precision Medicine และจำนวนสถานที่ผลิตเซลล์บำบัด รวมถึงจำนวนการทดลองทางคลินิกที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งความก้าวหน้าในการบำบัดด้วยเซลล์ต้นกำเนิดและวิศวกรรมเนื้อเยื่อ สร้างความตื่นตัวสู่การรักษาโรคหลายชนิด พร้อมกันนี้ความต้องการที่เพิ่มขึ้น สำหรับการจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิดและงานวิจัยที่เพิ่มขึ้น เกี่ยวกับการผลิต และการจัดเก็บ การตรวจสอบคุณสมบัติพื้นฐานจําเพาะของเซลล์ต้นกำเนิด นั่นส่งผลให้มีการประเมินว่าจะกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมได้
รัฐบาลหลายประเทศ มีการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาเวชศาสตร์การฟื้นฟูสภาวะเสื่อมอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลประเทศแคนาดา ลงทุนประมาณ 6.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อวิจัยเวชศาสตร์การฟื้นฟูสภาวะเสื่อมช่วงเดือนมี.ค. 2020 มีการใช้เพื่อสนับสนุนโครงการวิจัย 9 โครงการ และการทดลองทางคลินิก 4 ครั้ง เพื่อพัฒนาวิธีการรักษาใหม่สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม
กลุ่มธุรกิจการจัดเก็บคัดแยกเซลล์ มีส่วนแบ่งรายได้ 33.43% ปี 2024 ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บเซลล์ไขกระดูก การสกัดเลือดจากสายสะดือและการสกัดเลือด กลุ่มการเก็บเกี่ยวไขกระดูก มีส่วนแบ่งรายได้สูงสุด จากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งความตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้น อัตราการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นของมะเร็งในเลือด และการเข้าถึงการบำบัดด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกทำได้ง่ายมากขึ้น
กลุ่มผลิตภัณฑ์การบำบัดด้วยเซลล์ต้นกำเนิด มีส่วนแบ่งรายได้ 59.33% ช่วงปี 2024 ในด้านการสร้างรายได้ จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเติบโตของธนาคารเซลล์ต้นกำเนิด รวมถึงบริษัทเซลล์บำบัดหลายแห่งกำลังเปลี่ยนธุรกิจเพื่อไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เซลล์บำบัดด้วยเซลล์ต้นกำเนิด
กลุ่มบริษัทเภสัชกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ มีส่วนแบ่งรายได้ 54.19% ช่วงปี 2024 จากโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของการทดลองทางคลินิกและการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมเชิงกลยุทธ์ ควบคู่กับการปรับปรุงบริการด้านการดูแลสุขภาพ รวมถึงจำนวนการทดลองทางคลินิกที่เพิ่มมากขึ้น
ในเชิงการวิจัยพัฒนาและการทดลองทางคลินิก ถือว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยทางด้านสังคมผู้สูงอายุ และการเกิดขึ้นของโรคต่าง ๆ แต่ในเชิงการกำหนดกฎเกณฑ์หรือข้อกฎหมาย เพื่อรองรับนวัตกรรมที่เกิดขึ้น อาจยังดูไม่สอดคล้องเท่าที่ควร
นั่นอาจทำให้สุดท้าย Stem Cell ทำได้แค่เพียง “การจัดเก็บหรือคัดแยกเซลล์” แต่ไม่สามารถต่อยอดเชิงการแพทย์หรือเชิงพาณิชย์ได้เลย..!!??
สุภชัย ปกป้อง