หุ้น ปลา หมา และ แมวพลวัต 2016

เวลาที่ตลาดหุ้นคึกคัก ดัชนีตลาดเป็นขาขึ้น บรรยากาศเข้าสู่ภาวะกระทิง หนังสือว่าด้วย “รวยด้วยหุ้น” ของบรรดาศาสดาจอมปลอมแห่งตลาดหุ้นจะขายดีมาก เข้าข่ายวางขายแผงหน้าร้านหรือจุดที่โดดเด่นที่สุด แม้กระทั่งหนังสือแนะนำที่เลวที่สุด ก็ดันทุรังติดอันดับกับเขาด้วย เข้าสูตร “เรือทุกลำลอย เมื่อน้ำหลาก (แม้กระทั่งเรือรั่ว)”


วิษณุ โชลิตกุล

 

เวลาที่ตลาดหุ้นคึกคัก ดัชนีตลาดเป็นขาขึ้น บรรยากาศเข้าสู่ภาวะกระทิง หนังสือว่าด้วย “รวยด้วยหุ้น” ของบรรดาศาสดาจอมปลอมแห่งตลาดหุ้นจะขายดีมาก เข้าข่ายวางขายแผงหน้าร้านหรือจุดที่โดดเด่นที่สุด แม้กระทั่งหนังสือแนะนำที่เลวที่สุด ก็ดันทุรังติดอันดับกับเขาด้วย เข้าสูตร “เรือทุกลำลอย เมื่อน้ำหลาก (แม้กระทั่งเรือรั่ว)”

ถึงวันนี้ เมื่อตลาดหุ้นโรยตัวหาความแน่นอนไม่ได้ นักลงทุนรายย่อยติดหุ้นกันระงมคิดไม่ตกว่าจะทิ้งหุ้นตัดขาดทุนหรือถือต่อเพื่อดูพอร์ตขาดทุนทางบัญชีย่อยยับ ตำราหรือหนังสือจำพวก “รวยด้วยหุ้น” ฝุ่นขึ้นบนชั้นหนังสือ และบ้านผู้คนที่เคยเป็นนักลงทุน “วีไอจำเป็น”เกลื่อนก่น

งานสัมมนาของนักวิเคราะห์ระดับ “เซียนเรียกพ่อ”เงียบเหงาเป็นป่าช้า มีคนร่วมฟังหร็อมแหร็ม เข้าบรรยากาศซบเซาของตลาด เพราะเกิดวิกฤตศรัทธาชั่วคราว

สถานการณ์ที่ตลาดโอนเอนเป็นสนต้องลมยามนี้ การแนะนำกลยุทธ์ “หย่อนเบ็ดน้ำลึก” ซึ่งเป็นการช้อนหุ้นในยามตลาดขาลง ก็เป็นปริศนาที่ถูกตั้งคำถามว่ามีความเสี่ยงมากมายแค่ไหน  และกลายเป็นคำถามยอดฮิต

วิธีการหย่อนเบ็ดน้ำลึก เป็นหนึ่งในวิธีการที่ถูกตั้งคำถามว่า การนำเอาเทคนิคการจับปลาด้วยเบ็ด เพื่อหาปลาชะโด หรือปลาบู่ ที่ดำกบดานอยู่ก้นแม่น้ำตัวใหญ่ๆไม่ใช่ปลาซิวปลาสร้อยที่หากินบนผิวน้ำหรือน้ำตื้น จะยังคงมีปลาหน้าโง่ที่ไหนเข้ามาติดกับ เพราะทฤษฎีที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่แรงเทขายออกมาจนเข้าเขต “ขายมากเกิน” (oversold) แล้ว โอกาสที่จะมีการรีบาวด์กลับสั้นๆ เพื่อลดความร้อนแรงของการขายจะเกิดขึ้นเสมอ ส่วนจะรีบาวด์ระยะสั้นประเภท แมวตายเด้ง หรือ ปรับตัวทางเทคนิคเพื่อทำกำไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ปัญหาสำคัญของการหย่อนเบ็ดน้ำลึก อยู่ที่ความเสี่ยงคือ ปลาตัวใหญ่มีให้จับไม่มาก ทำนองเดียวกัน ชาวประมงที่ออกเรือ ที่จะต้องมีความชัดเจนของทางเลือกว่า เรือของตนเองนั้น ออกแบบมาเพื่อจับปลาวาฬ หรือปลาซิว ซึ่งจะมีพฤติกรรมที่ต่างกันไป

ความสำเร็จของ กลยุทธ์หย่อนเบ็ดน้ำลึก ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ดังเช่นกรณีของ นาธาน ร็อธไชลด์แห่งตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เคยกล่าวเอาไว้โด่งดังว่า “เมื่อเลือดนองถนน ให้เข้าซื้อ” ส่วนความล้มเหลวในการหย่อนเบ็ดน้ำลึกอยู่ที่ว่า คาดเดาก้นแม่น้ำหรือบ่อน้ำผิดพลาด โดยเฉพาะจุดต่ำสุดของราคาหุ้น (ในเงื่อนเวลานั้นๆ) เป็นสิ่งที่ยากจะคะเนคาดเดาได้ง่ายๆ จึงเป็นเรื่องพูดง่ายทำยากโดยปริยาย

กลยุทธ์เกี่ยวกับการหาปลา ยังไม่รอบด้านเพียงพอ สำหรับสถานการณ์ที่ค่อนข้างคลุมเครือในตลาด ดังนั้น จึงมีอีก 2 ทฤษฎีที่นักลงทุนมักจะได้ยินอยู่เสมอนั่นคือ “ทฤษฎีหมากวดแมว” (Cats and Dogs Theory)  กับ “ทฤษฎีหมาของดาว” (Dogs of the Dow)

ต้นเค้าเริ่มแรกของทฤษฎีแรก มาจากคำสะแลงฝรั่งว่า  หมา (Dogs) ซึ่งใช้เรียกโดยนัยว่าเป็นหุ้นที่ผลประกอบการย่ำแย่ต่ำกว่าการประเมินและราคาหุ้นถดถอยถึงพื้น ต่อมา ขยายความเป็นการไล่จับกันของหมาและแมวในการ์ตูนซีรี่ส์ทางโทรทัศน์ เพื่อใช้เรียกปรากฏการณ์ของตลาดหุ้นขาขึ้น ซึ่งหุ้นที่แม้จะเลวแสนเลวอย่างไร (บางครั้งขาดทุนต่อเนื่อง) จะถูกนักเก็งกำไรพากันขุดซากขึ้นมาเล่นเก็งกำไร เพราะเหมาะสำหรับการสร้างราคา ด้วยเหตุที่ว่า ราคาถูกมาก และมีสภาพคล่องเดิมต่ำ

ทฤษฎีนี้ มีลักษณะใกล้เคียงกับคำว่า “เรือทุกลำลอย เมื่อน้ำหลาก” เพราะหมายความว่า เมื่อตลาดเป็นขาขึ้นเข้าสู่ภาวะกระทิง  และหุ้นบลูชิพหรือพื้นฐานเด่น พากันวนเวียนเล่นรอบของการทะยานขึ้นจนราคาตื้อไม่สามารถขึ้นไปต่อได้อีก นักวิเคราะห์ และข่าวลือจะทำให้มีการขุดคุ้ยเอาหุ้นนอกสายตาที่เคยถูกละทิ้ง (บางช่วง เคยมีการเรียกหุ้นเหล่านี้ว่า หุ้นซอมบี้) เอามาเล่นเก็งกำไรระยะสั้นๆ ในลักษณะ “หมากวดแมว” ที่ฟู่ฟ่าระยะสั้นๆ แล้วก็จบรอบ กลับไปที่เดิม บางครั้งอยู่ในลักษณะ  “สงครามวันเดียว” เสียด้วยซ้ำ

ส่วนนิยามของทฤษฎี หมาของดาว (ดาว ในที่นี้ คือชื่อย่อของดัชนีดาวโจนส์อุตสาหกรรมในตลาดนิวยอร์ก) หมายถึงในช่วงเวลาที่มั่นใจว่า ตลาดกำลังอยู่ที่จุดต่ำสุด และมีโอกาสที่จะกลับเป็นขาขึ้นค่อนข้างยาวพอสมควรในระยะกลางหรือยาว การเข้าซื้อหุ้นบลูชิพ 10 ตัวในรายการ (สหรัฐฯคือ ในบัญชีดาวโจนส์ หรือ S&P500  ส่วนในญี่ปุ่นคือหุ้นใน นิกเกอิ ส่วนตลาดหุ้นไทยไทยคือหุ้นในบัญชี SET50) เพื่อที่จะพบว่า ท้ายที่สุด พอร์ตของหุ้นทั้ง 10 ตัว จะให้ผลตอบแทนในระดับ “ชนะตลาด” เสมอ

เหตุผลเบื้องหลังสัมฤทธิผลในการซื้อแบบนี้ อยู่ที่ หุ้นเหล่านี้ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีผลประกอบการดี มีธรรมาภิบาลสูง และมีฐานะการเงินแข็งแกร่งในระดับหัวกะทิเสมอ ที่สำคัญจ่ายปันผลสม่ำเสมอ

วิธีการสุ่มซื้อ “หุ้นหัวกะทิ” ดังกล่าว จะต้องมีการพิจารณาปรับพอร์ตเป็นระยะ เพราะตามสถิติแล้วพอร์ตแต่ละครั้งจะใช้ได้ไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ของตลาดจะเปลี่ยนไปรวดเร็วมากขึ้นกว่าในอดีต และคาดเดายากขึ้นด้วย

ตามสถิติย้อนหลังนี้ สามารถใช้ได้อย่างแท้จริงในกรณีของตลาดขาขึ้น แต่ในกรณีที่ตลาดเป็นขาลง อาจจะให้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามได้ จึงต้องระวังความเสี่ยงเอาไว้ด้วย แต่ก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่เรียบง่าย และไม่ต้องเหนื่อยยาก หรือพึ่งพานักวิเคราะห์มากเกินไป

เรื่องของหุ้น ที่เกี่ยวข้องกับปลา หมา และแมว จึงเป็นปรากฏการณ์ที่นักลงทุนสามารถปรับนำมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในยามที่ตลาดกำลังปั่นป่วนยามนี้ แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นตามทฤษฎีหรือไม่ คงต้องขึ้นกับฝีมือของนักลงทุนเองเป็นสำคัญ 

Back to top button