GPI ผลัดใบใหม่.!

ถ้าพูดถึง GPI หลายคนน่าจะรู้ว่าก่อตั้งโดยชายที่ชื่อ “ปราจิน เอี่ยมลำเนา” โดยเริ่มต้นจากธุรกิจแมกกาซีนที่เกี่ยวกับยานยนต์


ถ้าพูดถึงบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI หลายคนน่าจะรู้ว่าก่อตั้งโดยชายที่ชื่อ “ปราจิน เอี่ยมลำเนา” โดยเริ่มต้นจากธุรกิจแมกกาซีนที่เกี่ยวกับยานยนต์ภายใต้ชื่อ “นิตยสารกรังด์ปรีซ์” ต่อมาแตกไลน์ไปสู่นิตยสารออฟโรด ซึ่งเป็นนิตยสารที่เจาะลึกสำหรับแวดวงรถประเภทรถขับเคลื่อน 4 ล้อ

จากนั้นขยายไปทำนิตยสารเฉพาะกลุ่ม “เอ็กซ์โอ ออโต้สปอร์ต” เน้นจับกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบการแต่งรถ, นิตยสารวันเวลา (WANVELA) ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับนาฬิกา รวมทั้งหนังสือพิมพ์รายปักษ์ที่ชื่อ “ยวดยาน”

ขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้บุกเบิกจัดงานมหกรรมยานยนต์ขึ้นในประเทศไทย ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Bangkok International Motor Show” หรือที่หลายคนเรียกสั้น ๆ ว่า “งาน Motor Show” ซึ่งเป็นที่รู้จักจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นแม็กเน็ต…เป็นตัวแทนประเทศไทย ที่แต่ละปีทุกค่ายรถยนต์ใช้เป็นเวทีในการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ โชว์สมรรถนะของรถยนต์มายาวนานเกือบ 5 ทศวรรษ โดย Motor Show 2025 จัดเป็นปีที่ 46 แล้ว

ส่วนอีกขา ก็มีสนามแข่งรถพีระ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต พัทยา เป็นสนามแข่งรถ ใช้ทดสอบสมรรถนะรถรุ่นต่าง ๆ รวมถึงจัดอีเวนต์ต่าง ๆ เป็นอีกขาที่เดิมเคยทำรายได้ให้กับ GPI เป็นกอบเป็นกำ แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันถูกสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานระดับโลกแย่งซีน…อุ๊ย แย่งชิงรายได้ไป…

ต่อมาในช่วงปลายปี 2560 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ GPI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากธุรกิจครอบครัวก็กลายเป็นบริษัทมหาชน และมีการแตกไลน์ไปหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งการขยายไปตลาดต่างประเทศ ด้วยการจัดตั้งบริษัท Grand Prix International (Myanmar) Ltd. ในประเทศเมียนมา เพื่อรองรับการจัดงาน Yangon International Motor Show ณ ประเทศเมียนมา

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ GPI เปลี๊ยนไป๋…แต่ตัวที่เป็นรายได้หลักหนีไม่พ้นงาน Motor Show แต่เนื่องจากการจัดงานเป็นซีซั่น ทำให้ผลประกอบการของ GPI ค่อนข้างสวิงริงโก้ โดยจะโดดเด่นแค่ช่วงไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ของปีเท่านั้น ส่วนไตรมาสที่เหลือกำไรจะดร็อปลง…บางไตรมาสถึงขั้นพลิกขาดทุนเลยทีเดียว..!!

จากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้ GPI ต้องแก้เกมธุรกิจด้วยการแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะแปรรูป ธุรกิจตกแต่งรถยนต์ รวมทั้งนำความเชี่ยวชาญด้านการจัดงานเอ็กซิบิชั่นและอีเวนต์เกี่ยวกับยานยนต์มาต่อยอดสู่การจัดงานอีเวนต์ในรูปแบบอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายขึ้น

มาล่าสุดเปลี่ยนอีกครั้ง…เป็นการเปลี่ยนหัวเรือใหญ่ จาก Gen 1 มาสู่ Gen 2 นั่นคือ เปลี่ยนจาก “ปราจิน เอี่ยมลำเนา” (พ่อ) มาเป็น “แอม”–พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา (ลูกชายคนเล็ก)…โดย “ปราจิน” ประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ แล้วแต่งตั้ง “แอม”–พีระพงศ์ขึ้นมาแทน มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา…

แต่ “ปราจิน” ก็ยังไม่ได้หายหน้าหายตาไปไหน ยังคงดูอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร ส่วน “แอม”–พีระพงศ์ นอกจากจะนั่งซีอีโอแล้ว ยังควบตำแหน่งกรรมการบริษัท กรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี, กรรมการบริหารความเสี่ยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน, และกรรมการบริหาร อีกด้วย

น่าจับตาการผลัดใบครั้งนี้…เป็นการเปลี่ยนผ่านจากไม้เก่ามาเป็นไม้ใหม่ ภายใต้การนำของ “แอม”–พีระพงศ์ จะนำพา GPI ไปยังไง..?? คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ส่วนที่ไม่ต้องรอการพิสูจน์ นั่นคือ GPI เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเงินปันผลค่อนข้างสูง ยีลด์เฉลี่ยปีละ 5-7% เชียวหนา…

…อิ อิ อิ…

Back to top button