ปี 68 หุ้นแบงก์ยังเด่น
มีประเด็นที่น่าสนใจจากดัชนีตลาดหุ้นไทยปิด ณ สิ้นปี 2567 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ลดลง 1.10% หรือจาก 1,415.85 จุด มาอยู่ที่ 1,400.21 จุด
มีประเด็นที่น่าสนใจจากดัชนีตลาดหุ้นไทยปิด ณ สิ้นปี 2567 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ลดลง 1.10%
หรือจาก 1,415.85 จุด มาอยู่ที่ 1,400.21 จุด
ความน่าสนใจที่ว่านี้ มาจากหุ้นในกลุ่มธนาคารในรอบปี 2567 กลับปรับเพิ่มขึ้น สวนทางกับภาพรวมของดัชนี
หากเราย้อนหลังกลับไปดูดัชนีหุ้นแบงก์ ณ สิ้นปี 2566
จะพบว่า ดัชนีกลุ่มแบงก์หรือ SET Bank อยู่ที่ 383.24 จุด
แต่ ณ สิ้นปี 2567 ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารขึ้นมาอยู่ที่ 400.66 จุด เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า +4.54%
ความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นกลุ่มแบงก์ในรอบปี 2567 ยังพบอีกว่า เคยลดลงมาแตะจุดต่ำสุดที่ 344.21 จุดในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2567
จากนั้นดัชนีฯ ปรับขึ้นเรื่อย ๆ
และวิ่งขึ้นมายังจุดสูงสุดของปี 2567 ที่ระดับ 412.18 จุดเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2567
หากเราคำนวณแล้วคิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ช่วงที่ดัชนีหุ้นแบงก์ลงมาต่ำสุดและขึ้นมาที่จุดสูงสุดนั้น จะบวกมากถึง 9.98% ในช่วงเวลาเพียง 1 เดือนครึ่งเท่านั้น
ปัจจัยสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในกลุ่มธนาคาร
หลัก ๆ มาจากเรื่องของ “ดอกเบี้ย”
หากย้อนกลับไปปีก่อน มีการวิเคราะห์กันว่า “ดอกเบี้ยนโยบาย” ของสหรัฐฯ รวมถึงประเทศไทยนั้น
จะอยู่ในช่วงของการเป็น “ขาลง”
ปี 2567 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา 3 ครั้ง
ครั้งแรกเดือนกันยายนจำนวน 0.50%
ครั้งที่สองเดือนพฤศจิกายน จำนวน 0.25%
และครั้งที่สามเดือนธันวาคม จำนวน 0.25%
ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ของประเทศไทย มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา 1 ครั้งคือ 0.25% (ครั้งแรกในรอบ 4 ปี)
ก่อนจะเข้าสู่ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2567
บรรดานักวิเคราะห์ทั้งของต่างประเทศและไทย ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่านโยบายด้านดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ นั้น
จะทำให้ดอกเบี้ยเข้าสู่ขาลง (แรง) อย่างต่อเนื่อง
ทำให้เราเห็นหุ้นในกลุ่มธนาคารของไทย ราคาค่อย ๆ ปรับฐาน ดัชนี SET Bank ย่อตัว
เพราะมีการประเมินเกี่ยวกับตัวเลข Net Interest Margin (NIM) หรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบรรดาแบงก์ไทย จะหดตัวลง และส่งผลต่อ “กำไรสุทธิ”
แต่เมื่อข้อมูลจากการวิเคราะห์เรื่องดอกเบี้ยไว้ก่อนหน้านี้เปลี่ยนแปลงไป
หรือที่มองกันว่าดอกเบี้ยจะปรับลงค่อนข้างแรงนั้น
กลับกลายเป็นว่าทั้งเฟด และ กนง.ของไทยอาจจะปรับลดดอกเบี้ยไม่ได้มากอย่างที่ประเมินกันไว้
ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารดีดกลับอย่างรวดเร็ว
นำโดยหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ทั้ง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB
และ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB)
ดอกเบี้ยที่ยังค้างเติ่งในระดับสูง จะทำให้แบงก์ขนาดใหญ่จะยังคงรับผลบวกในด้านของ NIM ต่อไป
และว่ากันว่า จะรับผลบวกลากยาวไปเกือบตลอดปี 2568
ในปีนี้ (2568) มีการคาดการณ์อีกเช่นกันว่า กนง.อาจจะปรับลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง
และจำนวนสองครั้งที่ว่านี้ ยังไม่น่าจะกระทบกับตัวเลข NIM ของกลุ่มแบงก์อย่างมีนัยฯ มากนัก
ประกอบกับการตั้งสำรองฯ ของหุ้นแบงก์ยังคงอยู่ระดับสูง บวกกับต่างคุมหนี้เสียได้ และมีมาตรการภาครัฐเข้ามาช่วยเสริมอีกด้านด้วย
ทำให้ปี 2568 หุ้นในกลุ่มแบงก์ยังคงสดใส
นักวิเคราะห์จึงมีคำแนะนำกันว่า หากราคาหุ้นในกลุ่มแบงก์ย่อนั่นคือ “จังหวะซื้อ”
แต่เมื่อราคาปรับขึ้นมาให้หาจังหวะ “ขายทำกำไร”
หรือหุ้นแบงก์บางหุ้นที่ปันผลสูง เช่น SCB TISCO TTB จะซื้อถือยาวก็ได้
ธนะชัย ณ นคร