Intel จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อ Nvidia ผู้นำด้านชิป AI จะเข้ามาแทนที่ Intel อดีตผู้ผลิตชิปรายใหญ่สุดของโลก
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อ Nvidia ผู้นำด้านชิป AI จะเข้ามาแทนที่ Intel อดีตผู้ผลิตชิปรายใหญ่สุดของโลก ในดัชนี Dow Jones Industrial Average มีผลเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา
ตลอด 128 ปีที่ผ่านมา Dow Jones มีการปรับเปลี่ยนหุ้นในดัชนีมาแล้วกว่า 50 ครั้ง สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านจากยุคอุตสาหกรรมหนักสู่ยุคดิจิทัลและการที่ Nvidia เข้ามาแทนที่ Intel ครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณของการก้าวสู่ยุค AI อย่างเต็มตัว
หลังจากอยู่ในดัชนี Dow Jones มากว่า 25 ปี Intel ได้อำลาดัชนี Dow Jones ไปแล้ว
ขณะที่ Nvidia ก้าวขึ้นเป็นสมาชิก “3 Trillion Dollar Club” หรือ กลุ่มบริษัทชั้นนำที่มีมูลค่าตลาด (Market Cap) เกิน 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 102.7 ล้านล้านบาท) ร่วมกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft และ Apple
โดยปี 2567 นับเป็นปีทองของ Nvidia เมื่อราคาหุ้นพุ่งทะยานกว่า 180% และหากนับตั้งแต่ต้นปี 2566 ราคาหุ้น Nvidia ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า ด้วยแรงหนุนหลักจากกระแส AI ที่กำลังร้อนแรงไปทั่วโลก
เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ระบบ AI รุ่นใหม่จึงถือกำเนิดขึ้น ระบบใหม่นี้ไม่เพียงแต่ตอบคำถามเท่านั้น แต่ยังทำงานและแก้ปัญหาได้โดยอัตโนมัติ ระบบ AI “แบบตัวแทน” เหล่านี้พร้อมปฏิวัติอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การดูแลสุขภาพไปจนถึงการเงิน โดยรับเอาเป้าหมายที่ซับซ้อนทั้งหลาย และขับเคลื่อนผลิตภาพในหลากหลายรูปแบบที่เรายังไม่เคยสัมผัสประสบการณ์แบบนั้นมาก่อน
Matt Wood เจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ระดับโลกของ PwC กล่าวถึงวิวัฒนาการของ AI ว่า โดยเน้นย้ำถึงการเปลี่ยนผ่านจากระบบคำถาม-คำตอบพื้นฐาน ไปสู่ระบบแบบตัวแทนขั้นสูง ที่สามารถทำภารกิจหลาย ๆ อย่างแทนผู้ใช้งานได้ ระบบเหล่านี้จะตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่นการจองเที่ยวบินหรือการจัดการการลงทุนโดยการสร้างและกรอกรายการสิ่งที่ต้องทำโดยอัตโนมัติ
หลังจาก Pat Gelsinger ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Intel ประกาศเกษียณจากตำแหน่งและมีผลทันที 1 ธ.ค. 67 ท่ามกลางการแข่งขันที่ขับเคี่ยวอย่างดุเดือดของอุตสาหกรรมชิป กดดันให้แผนฟื้นฟูธุรกิจ Intel ช่วงที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
มีรายงานว่าบอร์ดบริหาร Intel ไม่พอใจแผนฟื้นฟูที่ใช้งบประมาณสูงและไม่พบความคืบหน้า จากแผนของ Gelsinger ตามกำหนดการเดิมจะใช้เวลา 4 ปี ในการฟื้นฟูธุรกิจ อย่างไรก็ตามบอร์ดบริหารให้ทางเลือก แก่ Gelsinger ว่าจะเกษียณหรือถูกปลดออกจากตำแหน่ง จนสุดท้ายเขาเลือกก้าวลงจากตำแหน่ง CEO บริษัทชิปยักษ์ใหญ่ ที่มีบทบาทสำคัญของอุตสาหกรรม ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งไม่ถึง 4 ปี
รายงานระบุว่า David Zinsner ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินและ Michelle Johnston Holthaus รองประธานบริหารกลุ่มธุรกิจประมวลผลสำหรับลูกค้า (Client Computing) จะทำหน้าที่เป็น CEO รักษาการร่วมกัน (co-CEOs) โดยที่บอร์ดบริหารกำลังมองหาผู้ที่จะมารับตำแหน่ง CEO ถาวรต่อไป
แม้ครั้งหนึ่ง Intel จะเคยเป็นบริษัทผลิตชิปที่ใหญ่สุดและมีมูลค่าสูงสุดในสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนโฉมโลกแห่งพีซี (PC) ทำให้โลกเข้าสู่ยุคแห่งไมโครโปรเซสเซอร์ หรือการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ แต่ทว่า Intel กลับเข้าสู่ช่วงที่ยากลำบากตราบจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อความก้าวหน้าในยุคสมัยปัจจุบันที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากการตัดสินใจที่ล่าช้าในการปรับตัวตามตลาดหลากหลายครั้ง จนอาจกล่าวได้ว่าทำให้ Intel ล้าหลังกว่าใครในวินาทีนี้
โดย David Zinsner และ Michelle Johnston Holthaus ซีอีโอร่วม Intel ยอมรับว่า บริษัทอาจต้องขายกิจการด้านการผลิต หากว่าเทคโนโลยีการผลิตชิป 18A ที่กำลังจะออกมาปีหน้าประสบความล้มเหลว โดยเทคโนโลยีนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ Intel ในการนำการผลิตชิปพีซีหลักกลับมาที่บริษัท หลังมีการจ้าง Taiwan Semiconductor Manufacturing หรือ TSMC ผลิตชิปให้ แม้ว่าบริษัทจะแยกแผนกการผลิตออกเป็น Intel Foundry หรือโรงหล่อชิปอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีคณะกรรมการและกระบวนการเป็นของตัวเอง
การต่อสู้ดิ้นรนตลอดช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าตลาด Intel ปรับลดลงอย่างมากและบริษัทกำลังพยายามที่จะกลับมายืนหยัดในตลาดชิปที่มีการแข่งขันสูงอีกครั้งหนึ่ง…แต่จะทำได้หรือไม่..ถือว่าท้าทายยิ่ง..!!?