พาราสาวะถี อรชุน

ทั้งนี้ เกษียรได้อธิบายต่อว่าในการสอนหนังสือของตัวเองนั้น ได้สอนให้เห็นจุดอ่อนของประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งที่อาจมีแนวโน้มอำนาจนิยมได้ หากไม่ประกบประกอบถ่วงทานไว้ด้วยแนวคิดและหลักการเสรีนิยม แต่เวลาสอนนั้น ก็จะต้องให้อ่านงานด้านกลับด้วยเสมอ เพราะนอกจากแนวโน้มประชาธิปไตยไม่เสรี หรือ illiberal democracy แล้ว


เห็นโฆษก คสช.กุลีกุจอขยันแถลงข่าวตอบโต้คนนั้นตักเตือนกลุ่มนี้ว่าด้วยกรณีการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย หลายคนอดสงสัยไม่ได้แล้วที่ กรธ.ตั้งทีมโฆษกไว้ถึง 4 คนไม่ได้ช่วยอะไรบ้าง หรือว่าประเทศไทยต้องให้ทหารเท่านั้นแถลงข่าวประชาชนจึงจะเชื่อจึงจะฟัง ท่วงทำนองเช่นนี้ไม่รู้ว่าจะเป็นผลดีหรือผลร้ายกับร่างรัฐธรรมนูญกันแน่

ยิ่งล่าสุดมีบทความของรองโฆษกรัฐบาลอย่าง พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค เรื่องประชาธิปไตย จิตสำนึกของสังคม ยิ่งชวนให้คนหัวร่อหนักกันเข้าไปอีก ผู้ซึ่งมีที่มาไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเนี่ยนะที่จะมาเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ขณะที่เมื่อหันหลังไปมองยังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใส่หมวก ก็ชัดเจนแล้วว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ติดหนวดหรือไม่

จึงไม่แปลกที่ เกษียร เตชะพีระ จะโพสต์เฟซบุ๊กเลคเชอร์บทความดังกล่าวของรองโฆษกรัฐบาล โดยตั้งหัวข้อว่า“เชยไป 20 ปีเท่านั้นเองครับท่านรองโฆษกฯ” ก่อนจะขยายความต่อว่า  บทความของ Fareed Zakaria ที่รองโฆษกรัฐบาลเอ่ยอ้างถึงนั้น เก่านานแล้วร่วม 20 ปี จริงๆออกมาช่วงหลังสงครามเย็นที่กระแส democratization พัดแรง

โดยมีรัฐบาลชนะเลือกตั้งเสียงข้างมากขึ้นมาใช้อำนาจรัฐแบบอำนาจนิยม ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเยอะ ด้วยข้ออ้างว่ามาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็น ประธานาธิบดีฟูจิโมริของเปรูบอริสเยลต์ซิน ผู้นำรัสเซีย ฮูโก้ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา แน่นอนว่า รวมไปถึงรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ของไทยเราด้วย

ทั้งนี้ เกษียรได้อธิบายต่อว่าในการสอนหนังสือของตัวเองนั้น ได้สอนให้เห็นจุดอ่อนของประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งที่อาจมีแนวโน้มอำนาจนิยมได้ หากไม่ประกบประกอบถ่วงทานไว้ด้วยแนวคิดและหลักการเสรีนิยม แต่เวลาสอนนั้น ก็จะต้องให้อ่านงานด้านกลับด้วยเสมอ เพราะนอกจากแนวโน้มประชาธิปไตยไม่เสรี หรือ illiberal democracy แล้ว

ในด้านกลับก็มีแนวโน้มประชาธิปไตยที่ไร้ประชาชน หรือ democracy without a demos หรืออัตตาธิปไตย liberal autocracy ประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเสรีนิยม semi-democracy ด้วยเช่นกัน กล่าวคือเน้นการจำกัดอำนาจรัฐเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง ด้วยสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมาก หรือ non-majoritarian institutions

อำนาจเหล่านั้น ได้แก่ สถาบันตุลาการ เอ็นจีโอ ฯลฯ จนบั่นทอนบ่อนเบียนหลักความเสมอภาคทางการเมืองและการปกครองด้วยเสียงข้างมากของระบอบประชาธิปไตยลงไปจนเสื่อมทรามหมด และเสียด้านประชาธิปไตยไป ถ้าจุดบอดของประชาธิปไตยด้านเดียวคือคิดง่ายๆว่า elections = democracyจุดอ่อนจุดบอดของเสรีนิยมด้านเดียวแบบซากาเรียคือคิดง่าย ๆพอกันว่า judges + NGOs = democracyซึ่งผิดทั้งคู่

แต่ขอให้สังเกตว่าระเบียบอำนาจแบบ คปค.ของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ก็ดี แบบ คสช.ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ดี ในที่สุดแม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์หรือมีชัยก็ตาม ก็จะรวมศูนย์อำนาจไปไว้กับเหล่าสถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากหรือสถาบันอำมาตย์ เหล่านี้แหละคือตุลาการ เอ็นจีโอ ที่นั่งเต็มสภาแต่งตั้งทั้งหลาย และในกรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญนั่นไง

ก่อนที่อาจารย์จะเกษียรจะแอบกระซิบ(ผ่านโซเซียลมีเดีย)ว่าพูดให้เบาที่สุด การที่รองโฆษกรัฐบาลอ้างบทความซากาเรียก็ทันสมัย(ช้าไป) 20 ปี และอ้างด้านเดียว มองปัญหาด้านเดียว ไม่อ่านไม่มองปัญหาด้านกลับ ภาพรวมคือต้องมีการสมดุลถ่วงทานทั้งหลักประชาธิปไตยและเสรีนิยม มิฉะนั้นเราก็จะตกอยู่ในวงวนแห่งการรัฐประหาร

โดยที่วงวนแห่งการรัฐประหารก็ประเคนอำนาจให้สถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมาก ส่งผลให้ความชอบธรรมเสื่อม ไม่เป็นที่ยอมรับของเสียงข้างมาก สุดท้ายก็หนีไม่พ้นนำพาไปสู่วังวนแห่งความขัดแย้งเป็นวิกฤตและวกกลับเข้าสู่วังวนแห่งการรัฐประหาร ซ้ำซากวนเวียนกันไปอยู่อย่างนี้

จะให้ดี ขอแนะนำให้พลตรีวีรชนอ่านงานด้านกลับของซากาเรียด้วย เช่น งานของ Peter Mair เรื่อง Ruling the Void ซึ่งชี้ภัยของความเสื่อมถอยแบบละทิ้งประชาธิปไตย ไปเน้นแต่เสรีนิยมด้านเดียว หรือundemocratic liberalism จึงจะมองปัญหารอบด้านและได้ดุล พร้อมกับเสนอทางออกด้วยความหวังดีด้วยว่า ถ้าลำบากจะอ่านงานวิชาการชิ้นต่างๆเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ของตัวเองในภาคภาษาไทยก็ได้

นั่นเป็นเพราะอาจารย์เกษียรเขียนเรื่องปมปัญหาระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยในบริบทไทยไว้ในบทความวิชาการและคอลัมน์ต่างๆมาตั้งแต่ปี 2550 หรือ 9 ปีเข้าไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่เฉพาะแต่รองโฆษกรัฐบาลเท่านั้น โฆษกรัฐบาลรวมไปถึงบรรดาโฆษก คสช.ทั้งหลายแหล่ ก็น่าจะไปหามาอ่าน เผื่อจะได้ใช้ตอบโต้ทางการเมืองกลับกลุ่มที่เห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยแบบมีกึ๋นและแก่นสาร มากกว่าสร้างวาทกรรมจนถูกมองว่าเป็นกลุ่มขั้วความขัดแย้งเสียเอง

คงไม่ต่างจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่วันก่อน ออกมาขู่ฟอดๆ ถึงกรณีเพจหยุดดัดจริตประเทศไทย  ในโซเชียลมีเดีย สร้างข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ถึงกับบอกว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมืองบางพรรค และจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับที่ประชุมกรธ. ก่อนจะไปฟ้องต่อผู้ปกครองอย่างคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มดังกล่าว

คล้อยหลังจากนั้น วิษณุ เครืองาม ก็รับลูกพร้อมเล็งหาช่องทางที่จะเอาผิดทางกฎหมาย โดยหลายคนก็สงสัยอยู่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกอยู่ในห้วงแห่งการรับฟังความคิดเห็นประสาอะไร เมื่อเห็นว่ามีการบิดเบือน ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่เขียนกฎหมายสูงสุดตรงไหน ก็ควรให้โฆษกทั้งสี่มาตั้งโต๊ะแถลง แจกแจงให้ชัด เชื่อว่าน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมและสังคมยอมรับ ดีกว่าข่มขู่จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างเดียว แล้วจะให้คนเชื่อว่าเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างไร

เหตุนี้จึงทำให้กลุ่มผู้ก่อตั้งเพจดังกล่าวออกมาท้าทายมีชัยด้วยข้อความ ลุงมีชัย ตอนนี้ก็อายุใกล้ 80 ปีแล้ว ภาษาไทยเขาเรียกว่า“ไม้ใกล้ฝั่ง” แต่ยังมีคนไปหยิบขึ้นเอามานั่งเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีตำแหน่งอยู่แม้จะชรามากแล้ว เจอแค่อินโฟกราฟฟิค 30 แผ่นดิ้นทำไม ถ้ามันทำให้เจ็บช้ำก็ขอโทษด้วย คงประเมินพวกท่านสูงไป ก่อนจะตบท้ายว่า ตนเองไม่กลัว เจออย่างนี้ไม่รู้ว่าจะฟ้องท่านผู้มีอำนาจใช้มาตรา 44 จัดการเลยหรือเปล่า เพราะเป็นงานถนัดอยู่แล้วกับการทำอะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

 

Back to top button