KBANK กับ 2 โจทย์ใหญ่.!

ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ถือเป็นหุ้นธนาคารที่บอบช้ำมากที่สุดแห่งหนึ่ง


ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ถือเป็นหุ้นธนาคารที่บอบช้ำมากที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา..ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ฐานลูกค้าหลักประเภทธุรกิจ SMEs และสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านบัตรเครดิตประสบปัญหาอย่างหนัก

นั่นทำให้อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) จากเคยทำได้เฉลี่ย 20% ลดลงเหลือต่ำกว่า 14% แม้งวด 9 เดือนแรกปี 2567 จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 17.25% แต่ยังเป็นตัวเลขน้อยกว่าที่ KBANK เคยทำได้ในอดีต..!!

ปัญหาหลักที่ทำให้ความสามารถในการทำกำไร KBANK เสื่อมถอย.!! เป็นผลมาจากการตัวเลขการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากข้อมูลสิ้นสุดไตรมาส 3/67 มียอดหนี้เสียกว่า 92,937 ล้านบาท คิดเป็นหนี้เสีย (NPL) 3.2%

จึงเป็นที่มาทำให้ KBANK ต้องแก้ 2 โจทย์ใหญ่

นั่นคือ หนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้น และ อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ลดลง 

โดยโจทย์แรก KBANK แก้ด้วยการร่วมทุนตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) กับพันธมิตร

เริ่มจากร่วมกับบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด เพื่อบริหารหนี้เสีย (ประเภทหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน)

ตามด้วยร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ อรุณ จำกัด เพื่อบริหารหนี้เสีย (ประเภทหนี้ที่มีหลักประกัน)

โดยมีเป้าหมายปรับลด NPL ให้ต่ำกว่า 3%

ส่วนโจทย์ที่สอง KBANK มีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้จากค่าฟีและเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ให้มากขึ้น

“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK ระบุว่า แผนธุรกิจปี 2568 มีเป้าหมายสินเชื่อคงเน้นกลุ่มลูกค้าเดิมเพื่อลดความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้ ส่วนยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เกิดขึ้นปีนี้จะมาจากกลุ่มลูกค้าเดิมถึง 80%

ส่วนธุรกิจ SMEs ยังคงพยายามช่วยลูกค้ากลุ่มนี้อย่างเต็มที่ ด้วยลูกค้า SMEs ถือเป็น Sector สำคัญต่อประเทศไทย หากธุรกิจ SMEs ประเทศไทยก็รอดด้วยเช่นกัน

พร้อมกันนี้ยังมีแผนรุกธุรกิจที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ต่อเนื่อง อย่างธุรกิจเวลธ์และธุรกรรมด้าน Payment ทั้งบริการรับชำระค่าสินค้าและบริการ อาทิ บริการการค้าต่างประเทศ (Trade Finance)

สำหรับลูกค้าที่ทำธุรกิจค้าระหว่างประเทศ การโอนเงินข้ามพรมแดน บริการเครื่อง EDC เป็นต้น โดยธุรกรรมโอนเงินข้ามพรมแดนสามารถสร้างรายได้สูงสุด ทำให้ธนาคารโฟกัสธุรกรรมนี้ต่อเนื่องด้วยบริการที่ครอบคลุม

ส่วนรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศ จะเติบโตตามเป้าหมาย 5% ภายในปี 2569 จากครึ่งแรกปี 2567 อยู่ที่ระดับ 3.3%

พร้อมตั้งเป้าหมายเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มเป็น 2 หลักภายในปี 2569 จากปัจจุบัน ROE  อยู่ที่ระดับ 9.47% การเพิ่ม ROE ให้เติบโตตามเป้าหมาย จำเป็นต้องลดทุนทางทางการเงินด้านต่าง ๆ ด้วยการนำเทคโนโลยี AI  มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

แหละนี่คือ 2 โจทย์ใหญ่ที่ต้อง “ฝันให้ไกล..ไปให้ถึง” ส่วนผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร..ติดตามกันต่อไป..!??

เล็กเซียวหงส์

Back to top button