ทนไม่ไหว…ก.ล.ต.โดดคุมมาร์จิ้นโลน (1)
“มาช้ายังดีกว่าไม่มา” สำหรับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือเฮียริ่ง
เส้นทางนักลงทุน
“มาช้ายังดีกว่าไม่มา” สำหรับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือเฮียริ่ง หลักการเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ หรือมาร์จิ้นโลน (margin loan) เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) คำนึงถึงความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ลูกค้านำมาวางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้นและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์/หนี้เสีย และลดผลกระทบต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม
ซึ่งก.ล.ต.บรรยายว่า ปัจจุบันบล.มีการให้บริการ margin loan แก่ผู้ลงทุน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุน อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาก.ล.ต.พบว่ามีหุ้นหลายตัวที่เป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้นมีราคาผันผวนและลดลงจากสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งเมื่อราคาหุ้นลดลงจะส่งผลกระทบกับมูลค่าหลักประกัน
จนบล.ต้องบังคับขายหลักประกัน แต่มูลค่าการบังคับขายหลักประกันอาจไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ จึงเกิดความเสียหายต่อบล. และส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม ประกอบกับบล.บางแห่งมีการปล่อย margin loan ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับฐานะของตนเอง และบล.หลายแห่งมีการปล่อย margin loan ที่กระจุกตัวในลูกค้าและหลักประกัน
นอกจากนี้ การบังคับขายหลักประกันที่เป็นหน่วยลงทุนอาจส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยลดลงจนอาจนำไปสู่การไถ่ถอนหน่วยลงทุนอื่น ๆ ตามมา และอาจมีความเสี่ยงทางกฎหมายจากการบังคับขายทอดตลาดที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการปล่อยกู้ให้บุคคลกลุ่มเดียวกันโดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ (Loan Against Securities : LAS) ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของธุรกรรม margin loan
เป็นเหตุให้ก.ล.ต.จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มความรัดกุมในการบริหารความเสี่ยงของบล. โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ปรับปรุงอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้น (Initial Margin : IM) ของหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรก (หุ้น IPO) เพื่อลดความเสี่ยงที่หลักประกันจะไม่เพียงพอชำระหนี้
ปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ให้สอดคล้องกับฐานะของบล. ในเรื่องยอดหนี้คงค้างจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทุกรายรวมกัน และแก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่งให้รัดกุมยิ่งขึ้น
กำหนดสัดส่วนการกระจุกตัวในหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันของลูกค้าแต่ละราย เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ต้องไม่เกินกว่าระดับที่กำหนด และให้บล.ติดตามพฤติกรรมการซื้อขายของลูกค้าเพื่อป้องกันการซื้อขายไม่เหมาะสม
กำหนดให้บล.คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk) ของลูกค้าอย่างเหมาะสม ทั้งการเรียกให้ลูกค้านําเงินหรือทรัพย์สินมาวางเป็นประกันเพิ่ม (call) และการบังคับชําระหนี้ (force) margin loan
ยกเลิกหน่วยลงทุนจากการเป็นหลักทรัพย์ที่ให้กู้ยืมเพื่อซื้อในบัญชีมาร์จิ้น (marginable securities) และการเป็นหลักประกันในธุรกรรม margin loan และธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL)
กำหนดให้บล.มีมาตรการดูแลเพื่อให้การกู้ยืมเงินผ่านบัญชีมาร์จิ้นเป็นไปเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงหรือสาระที่แท้จริง (substance) ของธุรกรรมดังกล่าว เช่น กรณีที่การใช้ margin loan เพื่อซื้อหลักทรัพย์ big lot กับผู้เกี่ยวข้อง อาจมีลักษณะที่อาจเข้าข่าย Loan Against Securities ซึ่งเป็นธุรกรรมที่บล.ไม่สามารถให้บริการได้
หากย้อนกลับไปไม่นานในรอบปี 2567 ที่ผ่านมา จะพบว่ามีหุ้นถึง 9 บริษัท ซึ่งเคยตกอยู่ในสถานการณ์ถูกบังคับขาย หรือฟอร์ซเซล จนทำให้มูลค่าหดหาย ซึ่งเป็นผลจากคนที่กำหุ้นจำนวนมากไว้ในมือนำหุ้นไปค้ำ หรือตึ๊ง เพื่อขอมาร์จิ้น
ตัวอย่างเช่น หุ้น EA ซึ่งมาร์เก็ตแคปสูญไปจากสิ้นปี 2566 ที่ 1.65 แสนล้านบาท เหลือเพียง 1.47 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2567 ขณะที่หุ้น BYD รับแรงสั่นสะเทือนมาร์เก็ตแคปวูบหายจากกว่า 2.28 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 มาอยู่ที่ 4.27 พันล้านบาท เมื่อสิ้นปีก่อน
หุ้น NEX จากความมั่งคั่งที่เคยมีระดับกว่า 2.02 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 หดหายเหลือเพียง 1.28 พันล้านบาท ส่วนหุ้น SABUY นั้น จากมาร์เก็ตแคประดับ 8.92 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ทรุดลงเหลือ 1.29 พันล้านบาท ส่วนหุ้น AS ในช่วงระยะเวลา 1 ปี มาร์เก็ตแคปทรุดจาก 3.85 พันล้านบาท ลงมาที่ 1.95 พันล้านบาท
หุ้น TSR จากที่มีมูลค่า 761 ล้านบาท หดเหลือ 230 ล้านบาท หุ้น YGG จาก 4.30 พันล้านบาท ลดเหลือ 349 ล้านบาท หุ้น NRF จาก 7.44 พันล้านบาท เหลือ 1.29 พันล้านบาท และ SCM จาก 2.11 พันล้านบาท เหลือ 532 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2567
ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นซึ่งมีรายละเอียดการปรับปรุงหลักการในเรื่องดังกล่าวที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1056 และระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=NDgwOERHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=
ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected] [email protected], [email protected], [email protected], [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568