พาราสาวะถี

ยังมีปมเงื่อนให้สืบเสาะหาข้อเท็จจริงกันอยู่ ต่อกรณีการปูดเรื่อง ชาดา ไทยเศรษฐ์ เซ็นทิ้งทวนก่อนพ้นเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยยุค เศรษฐา ทวีสิน


ยังมีปมเงื่อนให้สืบเสาะหาข้อเท็จจริงกันอยู่ ต่อกรณีการปูดเรื่อง ชาดา ไทยเศรษฐ์ เซ็นทิ้งทวนก่อนพ้นเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยยุค เศรษฐา ทวีสิน แค่ 3 วัน สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ กลับเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร เพราะเมื่อมีการไปถามกับ อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กลับได้คำตอบว่า เรื่องนี้กรมที่ดินเป็นผู้ดูแล รัฐมนตรีไม่ได้มีอำนาจ อาจจะวินิจฉัยในเบื้องต้น เพราะอำนาจในการพิจารณาอยู่ที่รองปลัดกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น

ที่น่าจะชัดเจนว่า ข่าวที่เปิดออกมาเพื่อหวังผลทางการเมือง คงจะเป็นคำยืนยันจาก พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ที่บอกว่าไม่เกี่ยวกับการลงนามเรื่องที่ดินอัลไพน์ เป็นอำนาจของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย (ตามกลุ่มภารกิจ) อาจเป็นไปได้ที่ชาดาในตอนนั้นซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแล จะมอบนโยบายเพื่อดำเนินการในส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งอำนาจการเซ็นที่มีผลทางกฎหมาย เป็นอำนาจของ ชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลในปัจจุบัน

ชัดเจนขึ้นไปอีกคือคำตอบของอธิบดีกรมที่ดินที่ถูกถาม ขณะนี้ได้เซ็นเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอัลไพน์แล้วหรือไม่ว่า “ยัง ๆ อำนาจอยู่ที่รองปลัด ยังไม่ได้เซ็น” ขณะนี้กรมที่ดินยังไม่ได้รับเอกสารการเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวจากกระทรวงมหาดไทย เช่นเดียวกัน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังไม่ได้มีข้อสั่งการอะไรลงมาเช่นกัน กรณีนี้คงไม่อาจแอบทำกันแบบเงียบเชียบได้

ต้องไม่ลืมว่ามีผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากกรณีการเซ็นยกเลิกดังกล่าว อันดับแรกคือ บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของ หากยึดตามที่มีการอ้างว่าชาดาเซ็นยกเลิกไปเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 นับถึงวันนี้พ้น 90 วันแล้ว ปรากฏว่าทางบริษัทยังไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งต่อศาลปกครอง ในทางกฎหมายจึงเป็นอันที่สุดว่าที่ดินสนามกอล์ฟตกเป็นพื้นที่ธรณีสงฆ์ ถามว่าในทางปฏิบัติหากยกเลิกจริง ทางกรมที่ดินหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบหรือไม่

ขณะเดียวกัน ประชาชนผู้ซื้อบ้านจัดสรรในที่ดินอัลไพน์ทุกราย ที่ซื้อที่ดินโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน และได้รับความเสียหายจากการที่กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว มีสิทธิ์ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรมที่ดินได้เต็มจำนวน ทั้งค่าที่ดิน ค่าบ้าน ค่าตกแต่งและค่าเสียหายอื่น ๆ พร้อมทั้งดอกเบี้ย ถามว่าจะมีการเซ็นสุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ศึกษาข้อกฎหมายกันเลยอย่างนั้นหรือ หากเรื่องนี้เป็นจริงต้องได้เห็นการขยับตัวของผู้เสียหายทั้งสองส่วน

ดังนั้น ความเป็นไปได้ของข่าวที่เกิดขึ้น หากไม่เป็นจริงแสดงให้เห็นว่ากำลังมีการเล่นเกมอะไรบางอย่างหรือไม่ ต่อการปล่อยข่าวในลักษณะเช่นนี้ออกมา ต้องไม่ลืมว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์ จำนวน 22,410,000 หุ้น มูลค่าตามทุนจดทะเบียน 224.1 ล้านบาท ก่อนจะโอนหุ้นดังกล่าวให้ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผู้เป็นมารดา นั่นหมายความว่า ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวก่อนหน้า ย่อมถูกนิติสงครามจัดการด้วยข้อกล่าวหาขาดจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ด้วยเหตุนี้จึงมีคำตอบจากนายกฯ หญิงเมื่อถูกถามถึงประเด็นดังกล่าวว่า “ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายพอ” น่าจะเห็น ๆ กันอยู่ว่าแต่ละพวกแต่ละฝ่ายเคลื่อนไหวกันอย่างไร ใครรับงานมาแบบไหน จะเห็นได้ว่าพอมีข่าวเรื่องที่ดินเขากระโดง บุรีรัมย์เกิดขึ้นทีไร ก็จะถูกประกบด้วยข่าวที่ดินอัลไพน์มาโดยตลอด ทั้งที่ข้อเท็จจริงของทั้งสองกรณีนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ก็ทำให้เห็นว่านี่เป็นขบวนการของพวกปั่นกระแส หวังผลทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกันกับกรณีที่ช่วงนี้มีการเคลื่อนไหว ยื่นร้องเอาผิดแพทองธาร ต่อการตั้ง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยยกเหตุผลว่าอดีตแกนนำเสื้อแดงรายนี้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี จากการรับโทษทางคดีอาญาที่สิ้นสุดไปแล้ว ซึ่งเจ้าตัวได้โพสต์ชี้แจงว่า เรื่องนี้ไม่มีประเด็น ไม่เป็นปัญหาเลย ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ ข้อห้าม ต่างกันคนละเรื่องกับตำแหน่งรัฐมนตรี จะเอากรณี เศรษฐา ทวีสิน ตั้ง พิชิต ชื่นบาน มาเทียบเคียงไม่ได้ 

มีการยืนยันว่า ตนถูกตัดสิทธิ์เพราะติดคุกจากคดีต่อสู้ทางการเมือง แต่ยังใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งได้ เป็นผู้ช่วยหาเสียง เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ไม่ใช่เพราะขาดจริยธรรม แต่กฎหมายเขียนเป็นคุณสมบัติต้องห้ามไว้ เช่น นักบวชก็เป็นคุณสมบัติต้องห้ามดำรงตำแหน่ง ก่อนที่จะออกตัวตามสไตล์ว่า ไม่อยากชี้แจงเรื่องประเภทนี้ แต่เล่าให้ฟังเพราะมีคนจำนวนไม่น้อยแสดงความห่วงใยถามไถ่กันมา

แน่นอนว่า ก่อนหน้านั้นก็มีการตั้งคำถามลักษณะนี้กับทางกฤษฎีกาไปแล้ว ซึ่ง ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาก็บอกว่า ได้วินิจฉัยไปแล้ว ขอให้สื่อไปศึกษาดูความเห็นว่าตรงตามที่มีการวินิจฉัยไว้แล้วหรือไม่ เมื่อไปดูแล้ว ก็จะเห็นว่ามีการวินิจฉัยในกรณีของผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ชี้ว่าเป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” พร้อมคำอธิบายว่าคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

กรณีของผู้ช่วยรัฐมนตรีนั้น ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ช่วยรัฐมนตรีในการช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่าง ๆ ของกระทรวงตามที่ได้รับมอบหมาย ในการอำนวยการบริหารประเทศหรือการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แต่กับตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ต้องไปดูข้อกำหนดอำนาจ หน้าที่ทั้งหลายเข้าข่ายเดียวกันนี้หรือไม่ ซึ่งในรายของณัฐวุฒินั้นน่าจะชัดเจนว่าไม่ได้อยู่ในโหมดดังกล่าว เอากันให้สุด สุดท้ายอยู่ที่ฝ่ายรับเรื่องจะตัดสินยังไง

อรชุน

Back to top button