ทบทวน Adder-FIT คิดง่ายทำยาก.!

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอให้ลดค่าไฟฟ้า โดยทบทวนค่าใช้จ่ายด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบ Adder และ Feed-in Tariff (FIT)


สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอให้ลดค่าไฟฟ้าลงโดยทบทวนค่าใช้จ่ายด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบ Adder และ Feed-in Tariff (FIT) โดยกกพ.ระบุว่า การปรับครั้งนี้จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ทันที 0.17 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาอยู่ที่ 3.98 บาทต่อหน่วย จากระดับปัจจุบันอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย

จากค่าไฟฟ้ารอบปัจจุบัน 4.15 บาทต่อหน่วย (ม.ค.-เม.ย. 68) แบ่งเป็นจากค่าใช้จ่ายของระบบ Adder และ FIT ที่ 0.17 บาทต่อหน่วย (11,000 ล้านบาท) จากการชำระคืนภาระคงค้างให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 0.20 บาทต่อหน่วย และที่เหลืออีก 3.78 บาทต่อหน่วย มาจากต้นทุนเชื้อเพลิง, สายส่งไฟฟ้าและระบบจัดจำหน่าย

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่า โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน ที่ได้รับการสนับสนุนจากภารัฐในรูปแบบ Adder และ Feed in Tariff (FIT) ประกอบด้วย

1)โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับ Adder ที่อัตรา 8 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2554 สิ้นสุดปี 2565

2)โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับ Adder ที่อัตรา 6.50 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2556 สิ้นสุดปี 2569

3)โรงไฟฟ้าพลังงานลม ได้รับ Adder ที่อัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2555 สิ้นสุดปี 2572

4)โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ได้รับ Adder ที่อัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 7 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558 สิ้นสุดปี 2568

5)โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย) ได้รับค่า Adder ที่อัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 7 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2554 สิ้นสุดปี 2579

6)โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการอุดหนุนแบบ Feed in Tariff (FIT) อัตราคงที่ 5.66 บาทต่อหน่วย (ตลอดอายุสัญญา) เริ่มตั้งแต่ปี 2558 สิ้นสุดปี 2583

7)โรงไฟฟ้าพลังงงานหมุนเวียน (Hybrid Firm) ได้รับการอุดหนุนแบบ Feed in Tariff (FIT) ในอัตราคงที่ 3.66 บาทต่อหน่วย (ตลอดอายุสัญญา) เริ่มตั้งแต่ปี 2563 สิ้นสุดปี 2584

แต่เรื่องนี้ “คิดหรือพูดง่าย..แต่ทางปฏิบัติทำยากยิ่ง” เอกชนรายไหนจะยอมรับหรือทำตามได้..!!?

ด้วยผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญา PPA ฉบับปัจจุบันภายใต้ระบบ Adder และ FiT ใช้อัตราค่าไฟฟ้าที่เคยถูกกำหนดไว้สำหรับการคำนวณความเป็นไปได้ของโครงการและผลตอบแทน การปรับค่าไฟฟ้า โดยไม่มีค่าชดเชยที่เหมาะสม +อาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของโครงการเป็นอย่างมากและอาจเกิดข้อพิพาททางกฎหมายได้

ฉะนั้นการปรับลดค่าไฟฟ้ารอบใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 68) หนีไม่พ้นต้องเลื่อนการชำระคืนหนี้สินของกฟผ.ออกไปก่อน (ประมาณ 0.20 บาทต่อหน่วย) ที่ถือเป็นทางทำอยู่และทำต่อไป..!!

กลับมาที่กรณีหากมีการหักค่า Adder ออกไปทั้งหมด ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ยังได้ประโยขน์ จากค่า Adder อาจมีดาวน์ไซด์ (Downside) ต่อกำไรปี 2568

ข้อมูลจากบล.กสิกรไทย ประเมินว่า EA มีดาวน์ไซด์ต่อกำไรสุทธิอยู่ที่ 162%, GUNKUL อยู่ที่ 29%, BCPG อยู่ที่ 2% และ GULF อยู่ที่ 2%

ส่วนกรณีมีการปรับค่าไฟฟ้าลง โดยไม่ได้ช่วยเหลือด้านราคาต้นทุนก๊าซ อาจกดดันอัตรากำไรโรงไฟฟ้า SPP (ส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม) อาจกระทบกำไรปี 2568 ของ BGRIM-GPSC และ GULF ได้เช่นกัน

 นี่คือปัจจัยเสี่ยงที่หุ้นไฟฟ้า กำลังเผชิญอย่างหนัก ว่าด้วยระเบียบกฎเกณฑ์และนโยบายการลดค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะหุ้นไฟฟ้าประเภท SPP และพลังงานหมุนเวียน

แต่ว่าไปแล้ว..หุ้นไฟฟ้าเหล่านี้ “แพนิกมากเกินไป” และด้วยวิกฤตินี้ อาจเป็นโอกาสสะสมเพื่อลงทุนระยะยาวได้ เพราะอย่าลืมว่าการทบทวน Adder-FIT ในทางทฤษฎีดูเหมือนง่าย..แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะทำได้.!

เล็กเซียวหงส์

Back to top button