กลุ่มแบงก์ลุยต่อ หลังปี 67 โกยกำไรกว่า 2 แสนล้าน

ยังอู้ฟู่เหมือนเดิม สำหรับผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยจำนวน 10 แห่ง


เส้นทางนักลงทุน

ยังอู้ฟู่เหมือนเดิม สำหรับผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยจำนวน 10 แห่ง โดยกวาดกำไรทั้งปี 2567 รวมกันถึง 2.49 แสนล้านบาท เติบโต 7.3% ขณะที่มีกำไรงวดไตรมาส 4 ของปีอยู่ที่ 5.91 หมื่นล้านบาท เติบโต 16.16% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ หากมองภาพรวมทั้งปีแยกเป็นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ พบว่า ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) สามารถทำกำไรได้สูงสุดถึง 48,598 ล้านบาท เติบโต 14.60% จากงวดเดียวกันปีก่อน

รองลงมาคือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไร 45,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.59% ตามมาด้วย บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มีกำไร 43,943 ล้านบาท โตขึ้น 0.97% ส่วนธนาคารกรุงไทย (KTB) มีกำไร 43,856 ล้านบาท เติบโต 19.77%

ขณะที่ ธนาคารขนาดกลางนั้น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีกำไร 29,700 ล้านบาท ลดลง 9.81% จากปีก่อน แต่ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) มีกำไร 21,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.94%

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) มีกำไร 6,901 ล้านบาท ลดลง 5.48% เช่นเดียวกับธนาคารเกียรตินาคินภัทร ที่มีกำไร 4,985 ล้านบาท ลดลง 8.41% ตามด้วยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มีกำไร 2,852 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.69% และ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กำไร 2,047 ล้านบาท ลดลง 2.34%

สำหรับแนวโน้มของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปี 2568 นั้น หากอ้างอิงตามมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์ว่าจะยังคงเห็นสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยเติบโตอย่างช้า ๆ และอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

โดยคาดว่าภาพรวมสินเชื่อระบบแบงก์ไทยอาจเติบโตในระดับต่ำที่ประมาณ 0.6% อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับดังกล่าวเป็นระดับที่ไม่สูง และต่ำกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Nominal GDP Growth) ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ไม่เพียงมีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อและความสามารถในการกู้ยืมของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน แต่ยังมีผลต่อการพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตและการเฝ้าระวังดูแลปัญหาคุณภาพหนี้ในฝั่งของสถาบันการเงิน หลังจากที่ข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ 3/2567 สะท้อนว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) และสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Stage 2) ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สินเชื่อธุรกิจมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าสินเชื่อรายย่อยในปี 2568 โดยคาดว่าสินเชื่อธุรกิจในภาพรวมอาจพลิกจากที่หดตัวลงตลอดช่วงปี 2565-2567 มาขยายตัวที่ระดับประมาณ 1.5% ท่ามกลางอานิสงส์จากบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐในปี 2568 ที่น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปี 2567

อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนของสินเชื่อธุรกิจอาจเริ่มจากการทยอยเบิกใช้สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่อเพื่อการลงทุนของธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่การฟื้นตัวของสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังคงอ่อนแอ ท่ามกลางข้อจำกัดในการฟื้นตัวของธุรกิจ เพราะต้องเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแอ การแข่งขัน และการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม

สำหรับสินเชื่อรายย่อยในระบบแบงก์ไทย คาดว่าสินเชื่อรายย่อยยังคงมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องในปี 2568 โดยอาจหดตัวลงประมาณ 1.0% ต่อเนื่องจากที่คาดว่าจะหดตัวลงประมาณ 2.0% ในปี 2567 เนื่องจากกรอบการฟื้นตัวที่จำกัดของรายได้ในภาคครัวเรือนและภาระหนี้สินที่มีอยู่เดิม มีผลกระทบต่อความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหม่ โดยเฉพาะหนี้ที่มีวงเงินต่อสัญญาที่ค่อนข้างสูง เช่น หนี้บ้าน และหนี้รถยนต์ ดังนั้นหากถอยออกมาประเมินภาพที่ใหญ่ขึ้นเป็นสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2568 คาดว่าอัตราการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอาจชะลอลงต่อเนื่อง และทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 85.0-87.5% ในปี 2568 ซึ่งแม้จะต่ำลงจากกรอบประมาณการสำหรับปี 2567 ที่ 88.5-89.5% แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับยั่งยืนที่ 80.0% ต่อจีดีพีตามการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS)

เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่าปี 2568 แนวโน้มกำไรของกลุ่มธนาคารจะเติบโตค่อนข้างจำกัด มีกำไรรวมราว 221,245 ล้านบาท เติบโต 4.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

กลุ่มธนาคารจะได้รับแรงกดดันจากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิทยอยปรับตัวลงรับผลของการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ และเป็นผลจากมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่จะมีการลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้บางส่วน แลกกับการได้รับส่วนลดอัตราเงินนำส่ง FIDF และโอกาสในการลดการตั้งสำรองลงตามการชำระเงินของลูกหนี้ภายใต้มาตรการที่ดีขึ้น

บริษัทหลักทรัพย์ พาย คาดกำไรกลุ่มแบงก์ทั้งปี 2568 จะอยู่ที่ 2.31 แสนล้านบาท เติบโต 4% ชะลอตัวจากปี 2567 เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ ผลกระทบจากสงครามการค้า การเติบโตของสินเชื่อชะลอตัว และธนาคารพาณิชย์จะยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อต่อไป

บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ ระบุว่า ปี 2568 คาดส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อ่อนตัวเล็กน้อย แต่สำรองหนี้อาจลดลงเช่นกัน สําหรับแนวโน้มกําไรปี 2568 คาดกําไรกลุ่มธนาคาร จะเติบโตได้ราว 4% จากงวดปีก่อน แม้ว่าการลดดอกเบี้ยนโยบาย ในช่วงที่ผ่านมาอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปี 2568 ทําให้ NIM ของกลุ่มุอ่อนตัวลงราว 5-7 เบสิตพอยต์ (bps) แต่คาดว่าแนวโน้มคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้นบวกกับการตั้งสํารองเชิงรุกในช่วงที่ผ่านมาทําให้อาจเห็น Credit Cost ของกลุ่มลดลงราว 10-15 bps

ด้านการเติบโตของสินเชื่อกลุ่มอาจยังไม่โดดเด่นมากนัก โดยคาดอยู่ในช่วง 1-3% จากงวดเดียวกันปีก่อน เนื่องจากสินเชื่อในกลุ่ม SME และรายย่อยยังมีปัญหาด้านคุณภาพหนี้ และธนาคารส่วนใหญ่ยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ ทําให้สินเชื่อที่อาจเติบโตได้ดีในปี 2568 อาจอยู่ในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อภาครัฐเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม คาดผลตอบแทนจากปันผลครึ่งปีหลังของกลุ่มอยู่ในช่วง 2-6% ซึ่งยังค่อนข้างจงูใจ โดยหุ้นทีมปันผลโดดเด่น ได้แก่ KTB (3.7% เนื่องจากไม่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาล) SCB (4.0%) และ TISCO (6.0%) ทั้งนี้หากพิจารณาถึงการเติบโตของกําไร ความแข็งแกร่งของงบการเงิน และราคาหุ้นปัจจุบัน แนะนํา BBL (เป้า 185 บาท) และ KTB (เป้า 24 บาท) เป็น Top-pick ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์

แม้กูรูส่วนใหญ่มองว่ากำไรของกลุ่มแบงก์ในปี 2568 จะชะลอลง แต่ก็ยังโกยกำไรได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทนะ!!!!!

Back to top button