POLAR ปิดตำนานตลาดทุน.!
ไม่ต่างจากหุ้นชาย 4 โบสถ์...สำหรับ บมจ.โพลาริส แคปปิตัล หรือ POLAR เนื่องจากเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน...
ไม่ต่างจากหุ้นชาย 4 โบสถ์…สำหรับบริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR เนื่องจากเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน…แรกเริ่มเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 16 ส.ค. 2533 ด้วยชื่อบริษัท นครหลวงเส้นใย จำกัด (มหาชน) หรือ HTX ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเส้นใยสังเคราะห์และเส้นด้ายไนลอน
ต่อมาในปี 2550 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ลิฟวิ่งแลนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ LL พร้อมเปลี่ยนธุรกิจมาทำอสังหาริมทรัพย์…ให้หลังมา 6 ปี หรือในวันที่ 16 พ.ค. 2556 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท วธน แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ WAT และยกสถานะเป็นโฮลดิ้งคอมพานี กระทั่งในปี 2558 ก็เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น POLAR จนถึงปัจจุบัน…
จากหุ้น HTX จนมาสู่หุ้น POLAR ในปัจจุบัน เป็นระยะเวลาเกือบ 35 ปีที่หุ้นตัวนี้เข้ามาสร้างความปั่นป่วนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมทั้งสร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุน (แค่บางกลุ่ม) ในขณะเดียวกันก็สร้างความอิ๊บอ๋ายให้กับนักลงทุนอีกนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย…
ที่น่าตั้งข้อสังเกต การเปลี่ยนแปลงหรือการเข้ามาของกลุ่มทุนใหม่ในแต่ละครั้ง ไม่ได้มาเพื่อกอบกู้สถานการณ์ในมุมธุรกิจ แต่เป็นการใช้วิศวกรรมทางการเงิน หรือมันนี่เกม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น…ทำให้แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อมาแล้วถึง 4 ครั้ง แต่ในมุมธุรกิจก็ยังเละเทะไม่เปลี่ยนแปลง ตอกย้ำได้จากผลประกอบการที่ขาดทุนซ้ำซาก…
อย่างงบการเงินช่วง 5 ปีย้อนหลัง แทบไม่มีรายได้เข้ามาเลย…โดยปี 2563 มีรายได้รวม 0.02 ล้านบาท กำไรสุทธิ 0.79 ล้านบาท ปี 2564 มีรายได้รวม 0.02 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 9.87 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้รวม 20.33 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 47.85 ล้านบาท ปี 2566 มีรายได้รวม 38.43 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 44.21 ล้านบาท และงวด 9 เดือนของปี 2567 มีรายได้รวม 0.58 ล้านบาท ขาดทุน 27.08 ล้านบาท
ส่งผลให้มีตัวเลขขาดทุนสะสมยังไม่ได้จัดสรรอยู่ที่ 435.27 ล้านบาท..!!
อ้อ…ถ้าจำกันได้ หนึ่งในดีลที่อื้อฉาว ก็กรณีที่ POLAR ใช้เงิน 308 ล้านบาท ซื้อกิจการของบริษัท เดย์ โพเอทส์ จํากัด ผู้ผลิตนิตยสาร a day, a day bulletin, Hamburger และ Knock Knock ในราคาหุ้นละ 630 บาท โดยผู้ขายหุ้น คือ บริษัท ไทยฟู้ด โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท ธนวรินทร์ จำกัด ซึ่งปรากฏว่าบริษัทหลังนี้มีชื่อของ “สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย” ผู้ถือหุ้นของ POLAR ในขณะนั้น ร่วมถือหุ้นด้วย…สุดท้ายดีลนี้ก็ล่มไป
ส่วนอีกวีรกรรมฉาวโฉ่ ก็กรณีสร้างหนี้เทียม 3,600 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทเข้าข่ายมีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นเหตุให้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่ปรากฏว่าหนี้ดังกล่าวไม่มีอยู่จริง…สุดท้ายคณะกรรมการ พร้อมพวกรวม 11 คน ก็ถูกก.ล.ต.กล่าวโทษไปตามระเบียบ ฐานร่วมกันสร้างหนี้เทียมจำนวน 3,600 ล้านบาท เพื่อให้ POLAR เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ…
ขณะที่ตัวหุ้นถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ จับแขวนป้าย SP พักการซื้อขายมาตั้งแต่ปีมะโว้ในวันที่ 16 พ.ค. 2561 เป็นต้นมา เนื่องจากไม่ส่งงบตามเวลาที่กำหนด
จากทั้งหมดที่ไล่เรียงมา ในที่สุด POLAR ก็ไปต่อไม่ได้ เพราะการจะหากลุ่มทุนใหม่มา Backdoor Listing เหมือนในอดีต คงทำได้ไม่ง่ายแล้วล่ะ เพราะด้วยเกณฑ์ Backdoor Listing ใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้นก็จะยากหน่อย หรือทำแล้วอาจจะไม่คุ้มค่า ทำให้ POLAR ต้องเป็นกระดองเต่าตายซาก…
กลายเป็นอีกหนึ่งบาดแผลที่สร้างความเจ็บช้ำให้กับนักลงทุน และมีส่วนทำให้ตลาดหุ้นไทยต้องเผชิญกับวิกฤตความน่าเชื่อถือ หรือ Trust นั่นเอง…
โดยวันนี้ (27 ม.ค. 2568) จะเป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้ซื้อขายหุ้น POLAR หลังจากนั้นก็จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดฯ
เป็นการปิดตำนานหุ้น POLAR อย่างถาวร..!!
…อิ อิ อิ…