KKP ขยายสินเชื่อคุณภาพดี
KKP โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 4/2567 1.สินเชื่อรายย่อย 68.77% 2.สินเชื่อธุรกิจ 15.17% 2.1 สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 6.30%
คุณค่าบริษัท
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 4/2567 1.สินเชื่อรายย่อย 68.77% 2.สินเชื่อธุรกิจ 15.17% 2.1 สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 6.30% 2.2 สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี 8.87% 3.สินเชื่อบรรษัท 14.08% 4.สินเชื่อสายบริหารหนี้ 0.34% 5.สินเชื่อ Lombard 1.77% ภายใต้สินเชื่อรายย่อย 68.77% จำแนกต่อได้เป็น 1.สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 45.28% 2.สินเชื่อบุคคล 3.73% 3.สินเชื่อ Micro SMEs 4.12% 4.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 15.63%
KKP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2567 มีกำไรสุทธิ 1,405.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 109.88% จากไตรมาส 4/2566 และขยายตัว 7.74% จากไตรมาส 3/2567 ที่มีกำไรสุทธิ 1,304.63 ล้านบาท กำไรไตรมาส 4 สูงกว่าที่ บล.กสิกรไทย คาดการณ์ไว้ 65% และสูงกว่าที่ตลาดคาด 37% กำไรที่ดีกว่าคาดมาจากกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดจากมูลค่ายุติธรรม (FVTPL) ที่สูงกว่าคาด เพิ่มขึ้นเป็น 484 ล้านบาท จาก 60 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2567 รวมถึงค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (Opex) ที่ต่ำกว่าคาด 10%
โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบไตรมาส 4/2566 มาจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่ลดลง 0.44% จากไตรมาส 4/2566 และผลขาดทุนจากการขายรถถูกยึดลดลง 22% จากไตรมาส 4/2566 เหลือ 1.1 พันล้านบาท ในไตรมาส 4/2567 ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิลดลง 1.4% จากไตรมาส 3/2567 ตามขนาดของพอร์ตสินเชื่อที่ลดลง 1.3% จากไตรมาส 3/2567 และ NIM ที่ลดลง 0.10% จากไตรมาส 3/2567 รวมถึงการตั้งสารองที่เร่งตัวขึ้น 34.1% จากไตรมาส 3/2567
KKP รายงาน NPL ratio ไตรมาส 4/2567 ที่ 4.2% เพิ่มขึ้น 0.10% จากไตรมาส 3/2567 สูงกว่าที่ บล.กสิกรไทย คาดการณ์ไว้เล็กน้อย โดยในไตรมาส 4/2567 NPL เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อเช่าซื้อ, สินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี, สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จากการคำนวณของ บล.กสิกรไทย การก่อ NPL ใหม่ไตรมาส 4/2567 พบว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาเป็น 1.1% ของสินเชื่อรวม จาก 0.9% ในไตรมาส 3/2567 ส่งผลให้ credit cost เพิ่มขึ้นเป็น 0.99% จาก 0.71% ในไตรมาส 3/2567 และอัตราสำรองหนี้สูญ (coverage ratio) ลดลงเล็กน้อยมาที่ 134% จาก 135% ในไตรมาส 3/2567 อย่างไรก็ตามสินเชื่อชั้นที่ 2 ลดลงมาที่ 7.1% ของสินเชื่อรวม จาก 7.5% ในไตรมาส 3/2567 ซึ่งส่งสัญญาณว่าความเสี่ยงของการก่อ NPL ใหม่ในไตรมาสถัดไปจะลดลง
ผู้บริหาร KKP ยังคงมีความระมัดระวังต่อการเติบโตของสินเชื่อในปี 2568 โดยมีแผนกระจายพอร์ตสินเชื่อไปยังกลุ่มสินเชื่อที่หลากหลายมากขึ้น โดยลดสัดส่วนสินเชื่อจากสินเชื่อเช่าซื้อ และมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อที่มีคุณภาพดี เช่น สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ KKP ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อในปี 2568 ในระดับคงที่
ข้อมูลจาก LSEG Consensus สำหรับ KKP ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2568 ที่ 25,120.27 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2568 ที่ 5,109.56 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 52.24 บาท จาก 13 โบรกเกอร์
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดกำไรสุทธิปี 2568 ของ KKP ที่ 5,044 ล้านบาท โต 1.2% จากปี 2567 โดยมีปัจจัยหนุนจาก 1.การตั้งสำรองที่ปรับตัวลง หลังเร่งบริหารจัดการทั้งปรับชั้นลูกหนี้ และเพิ่มความเข้มงวดในการขยายสินเชื่อใหม่ของกลุ่มลูกหนี้รถยนต์เช่าซื้อมือหนึ่ง ทำให้คุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มแข็งแรงขึ้น และช่วยให้ Credit Cost ผ่อนคลายลงสู่ระดับปกติ และ 2.คาดผลขาดทุนจากการขายรถยึดจะปรับตัวลง หลังเร่งขายรถยึดไปมากในปี 2567
สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น KKP ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 28 ม.ค. 2568 ที่ 53.75 บาท) เทรดที่ P/E 10.50 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 8.05 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น KKP อยู่ที่ 0.72 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.69 เท่า