พาราสาวะถีอรชุน

กลายเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่แตะต้องไม่ได้ ใครวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นต่างจะถูกกล่าวหาเป็น”พวกบิดเบือน”โดยทันที มีเสียงสะท้อนมาจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของ กรธ.ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขนาดจัดตั้งกันมาแท้ๆ แต่พอมีความเห็นไม่สอดคล้องเรื่องการเลือกตั้งใบบัตรเดียว บุคคลที่จะอ้าปากเสนอความเห็นต่างถูกสั่งให้เงียบในทันที


กลายเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่แตะต้องไม่ได้ ใครวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นต่างจะถูกกล่าวหาเป็น”พวกบิดเบือน”โดยทันที มีเสียงสะท้อนมาจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของ กรธ.ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขนาดจัดตั้งกันมาแท้ๆ แต่พอมีความเห็นไม่สอดคล้องเรื่องการเลือกตั้งใบบัตรเดียว บุคคลที่จะอ้าปากเสนอความเห็นต่างถูกสั่งให้เงียบในทันที

จึงมีคำถามสวนไปยัง ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ในฐานะประธานการเสวนากลุ่มย่อยทันทีว่า แค่นี้ก็รับไม่ได้กันหรืออย่างไร แล้วจะเชิญมาให้เสนอความเห็นทำไม อย่างที่บอกไว้หลายครั้งหลายหน หากเป็นการจัดเวทีรับฟังเพื่อให้ได้ชื่อว่าเปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็นแล้ว ถือเป็นการจัดฉากที่ไม่เนียนและมักง่ายเป็นอย่างยิ่ง

ความจริงของสังคมอย่างที่เห็นกันอยู่ มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักศึกษาหรือแม้แต่กลุ่มทางการเมือง ถามว่าเป็นการรับฟังความเห็นที่รอบด้านจริง ทำไมกลุ่มคนเหล่านั้นถึงไม่ได้รับการเชื้อเชิญให้ไปแสดงทัศนะ การอ้างว่าเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย เป็นภัยต่อความมั่นคงน่าจะเป็นเหตุผลบ้องตื้น

ยิ่งจะไปบอกว่าเป็นการประหยัดงบประมาณก็ไม่น่าจะใช่เรื่อง เพราะการที่ กรธ.พากันไปปักหลักประชุมนอกสถานที่เป็นอาทิตย์สิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์หรือไม่ ถ้าใช้เงินจำนวนนั้นมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นให้ครอบคลุมรอบด้าน อย่างไหนจะคุ้มค่ามากกว่ากัน ประเด็นอย่างนี้ตอบกันไม่ง่าย เว้นเสียแต่ว่าจะตะแบงหาเหตุสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะอธิบายกันปากเปียกปากแฉะอย่างไร รวมไปถึงการให้กระบอกเสียงของทหารช่วยกันเป่าหู กรอกข้อมูลผ่านปฏิบัติการข่าวสารทางทหารหรือไอโออย่างไร คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ศรัทธาเชื่อถือ นั่นเป็นเพราะ ลำพังรากที่มาของคณะกรรมการยกร่างก็เห็นกำพืด ตื้นลึกหนาบางกันมากแล้ว นี่ยังมาปิดกั้นความเห็นต่างอีกมันจึงไปกันใหญ่

กล่าวสำหรับคนยกร่างเอาแค่ตัว มีชัย ฤชุพันธุ์ กับรองประธานอีก 2 ราย ก็มีเรื่องให้วิจารณ์และกังขากันแล้ว ในรายของตัวประธานนั้นชัดเจนว่า ตลอดระยะเวลาเกือบค่อนชีวิตทำหน้าที่เนติบริกรรับใช้อำนาจจากการรัฐประหารมาโดยตลอด ผลงานชิ้นโบว์ดำที่จำติดตาตรึงอยู่ในหัวสมองของฝ่ายประชาธิปไตยคือ การร่างรัฐธรรมนูญให้คณะรสช.เมื่อปี 2534

จากนั้นก็ตามมาด้วยการนองเลือดในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ส่วนรองประธานคนที่ 1 อภิชาต สุขัคคานนท์ คนๆนี้หลายคนจำกันได้ดีกับท่าทีดึงเรื่องกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์จนขาดอายุความ ศาลรัฐธรรมนูญต้องยกคำร้อง แต่ก็แสดงละครกันให้ดูเหมือนว่า กกต.ชุดนั้น เอาจริงเอาจังและไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด

จน กกต.บางรายต้องออกมาโวยว่าทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลจากการทำหน้าที่ของประธาน กกต.ที่ชื่ออภิชาตแต่เพียงผู้เดียว ชัดเจนว่าเป็นพวกกลางกระเท่เร่โดยแท้ ขณะที่รองประธาน กรธ.อีกรายคือ สุพจน์ ไข่มุกด์ ฝ่ายสนับสนุนรถไฟความเร็วสูงยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ คงจำได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นเจ้าของวลีที่ไม่มีใครคิดว่าท่านจะกล้าพูดถึงขนาดนั้น

รอให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศไทยก่อนค่อยสร้างรถไฟความเร็วสูง ถ้าไม่ใช้อคติล้วนๆคงไม่ดันทุรังหรือหลุดคำพูดที่สะท้อนถึงการเป็นไดโนเสาร์ออกมาขนาดนั้น สิ่งสำคัญคือ หากไม่เห็นด้วยกับการทำโครงการรถไฟความเร็วสูงจริง ก็ควรจะต้องแสดงตัวออกมาคัดค้านเป็นเบอร์แรกๆทันทีที่รัฐบาล คสช.ประกาศจะเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง

นั่นเพราะไม่ใช่แค่ความเร็วที่หายไปเท่านั้น เมื่อเทียบกันกิโลต่อกิโลแล้ว โครงการหลังของผู้มีอำนาจที่แต่งตั้งสุพจน์ไปทำหน้าที่นั้น แพงมหาแพงยิ่งกว่ารถไฟความเร็วสูงเสียอีก สรุปได้ว่า แค่เห็นหัว 3 รายมีทั้งฝักใฝ่เผด็จการ เป็นกลางกระเท่เร่และจิตใจเต็มไปด้วยอคติ ก็พอที่จะเข้าใจแล้วว่า แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นประชาธิปไตยเป็นที่พึ่งที่หวังของคนไทยทั้งประเทศได้อย่างไร

สุดท้ายคงเหมือนที่ใบตองแห้งจากคอลัมน์ทายท้าวิชามารได้ไปนั่งจับเข่าคุยกับ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ประชาไท บางช่วงบางตอนของบทสัมภาษณ์สะท้อนอะไรได้อย่างกระจ่างชัด ที่น่าสนใจคือ หากรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็เท่ากับรับอำนาจเด็ดขาดตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะยึดอำนาจ

โดยวรเจตน์อธิบายว่า สมมติว่ารัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติ แล้วกำลังจะไปสู่การเลือกตั้ง ตนถามอย่างนี้ ถ้าหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง หรือ คปป. เติมลงไป คิดว่าทำได้ไหม คือไม่คิดว่าเขาจะทำ แต่ว่าถ้าเขาจะทำจริงๆ จากสภาพของตัวบทมันก็ทำได้ เพราะอำนาจตามมาตรา 44 เป็นอำนาจที่อยู่คู่ขนานมาและเป็นส่วนหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

อำนาจของมาตรา 44 ถ้าไม่ใช่โดยตรงแต่ตั้ง คปป.ขึ้นมาดำเนินการ อำนาจดังกล่าวสามารถสั่งระงับการเลือกตั้งก็ได้ สั่งเลื่อนการเลือกตั้งก็ได้ สั่งเลื่อนการจัดตั้งรัฐบาลออกไป มันอาจจะมีลักษณะเป็นการยึดอำนาจซ้ำบางส่วนได้ และเป็นการยึดโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองการใช้อำนาจไว้ นี่น่าจะเป็นอีกปมเงื่อนที่ซ่อนไว้อย่างแนบเนียนของมีชัย

เพราะเมื่อไปรับรองร่างรัฐธรรมนูญ เขาก็จะอ้างได้ว่าบัดนี้มาตรา 44 กลายเป็นมาตราที่มีฐานความชอบธรรมจากประชาชน ฉะนั้นจึงพูดได้ว่าการที่ประชาชนรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่ากับประชาชนมอบอำนาจโอนอำนาจทั้งปวง ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ให้กับหัวหน้า คสช.ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ อย่างน้อยจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

ในระบอบประชาธิปไตยที่ย้ำกันนักกันหนาว่ายังมีอยู่เต็มเปี่ยมเวลานี้ ภาพการตรวจเข้มขบวนล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 71 ที่ผ่านมาบ่งชี้ได้เป็นอย่างดี แค่คำว่า คสช.ยังใช่ไม่ได้ พร้อมสั่งให้เลื่อยสัญลักษณ์ปืนเอ็ม.16 ทิ้งอีกต่างหาก ป้ายผ้าที่หลุดไปอวดโฉมหน้าในสนามน่าจะเป็นบทสรุปของทั้งหมดได้เป็นอย่างดี”มีทหารไว้ทำไมใครกล้าถาม มีไว้ห้ามป้ายผ้าผู้กล้าถือ” ซึ่งยังมีอีกหลายภารกิจที่หลายคนมองว่าไม่น่าจะใช่ธุระของทหารที่จะต้องเข้าไปดำเนินการโดยอ้างความมั่นคง

Back to top button