DELTA (อาจ) ต่ำกว่า 100 บาท
บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ด้านของพื้นฐานของหุ้นตัวนี้ได้มีปัญหาอะไร ในทางกลับกัน เมื่อดูจากงบการเงิน 5 ปีย้อนหลัง
บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ด้านของพื้นฐานของหุ้นตัวนี้ได้มีปัญหาอะไร
ในทางกลับกัน เมื่อดูจากงบการเงิน 5 ปีย้อนหลัง มีผลประกอบการที่ดีมาก ๆ ด้วย
ปี 2563 รายได้ 63,826 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,101 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 84,814 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,699 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 119,501 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15,422 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 147,675 ล้านบาท กำไรสุทธิ 18,422 ล้านบาท
ปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) รายได้ 124,488 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 16,783 ล้านบาท
เดลต้าฯ จะประกาศงบการเงินงวดไตรมาส 4/2567 ประมาณกลางเดือนก.พ.นี้ ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์กำไรจะอยู่ระดับ 5.2-5.3 พันล้านบาท
ภาพรวมของกำไรดังกล่าวของเดลต้าฯ (Q4/67) ไม่ถือว่าโดดเด่นเท่าไหร่
สาเหตุจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่น
และปัจจัยสำคัญคือ ได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทแข็งค่า
ทว่า หากเดลต้าฯ สามารถสร้างกำไรในไตรมาสดังกล่าวได้ ตามที่บรรดานักวิเคราะห์คาด คือ 5.2-5.3 พันล้านบาท
จะทำให้กำไรสุทธิของปี 2567 จะพุ่งขึ้นมาอยู่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากปีก่อนหน้า
ส่วนปี 2568 โบรกเกอร์ต่างคาดการณ์กำไรของเดลต้าฯ จะยังคงเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นการโตแบบ “อัตราชะลอตัว” จากกรณีที่มีการนำ Global Minimum Tax (ภาษีขั้นต่ำ 15%) มาใช้
และนั่นต้องทำให้ เดลต้าฯ จะต้องเสียภาษีในอัตราสูงขึ้น
เดลต้า (ประเทศไทย) เป็นบริษัทในเครือ “เดลต้า อีเลคโทรนิค์ อิ้งค์” ของไต้หวัน ทำธุรกิจทางด้าน “การจัดการพลังงาน” และ “การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์”
จะว่าไปแล้วเดลต้าฯ ถูกจัดเป็นธุรกิจในกลุ่ม “เมกะเทรนด์”
และเป็นเพียงไม่กี่หุ้นในตลาดหุ้นไทยที่ถูกจัดในกลุ่มธุรกิจที่เป็นอนาคตของโลก
ผลประกอบการที่ขยายตัวทุกปี ช่วยสร้างให้กิจการให้เติบใหญ่ตามลำดับ และแน่นอนว่า จะสะท้อนไปยังราคาหุ้นที่จะถูกเก็งกำไรค่อนข้างสูงจากนักลงทุนหลากหลายกลุ่ม
หากมองเฉพาะในด้านข้อมูลข้างต้น ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาของเดลต้าฯ มาตลอดคือ “ฟรีโฟลต”
ฟรีโฟลตของเดลต้าฯ ถูกมองว่า อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แม้ว่าจะเป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ฟรีโฟลตที่ต่ำ ราคาหุ้นที่สูง มาร์เก็ตแคปที่มีขนาดใหญ่ และเป็นอันดับหนึ่งของตลาดหุ้นไทย (1.56 ล้านล้านบาท) ทำให้ราคาหุ้นของเดลต้าฯ ขยับขึ้นลงแต่ละครั้ง จะส่งผลต่อดัชนีสูงมาก
สูงจนกระทั่งถูกมองว่า อาจไม่สะท้อนกับดัชนีฯ ที่แท้จริง
จึงเป็นที่มาของหน่วยงานกำกับพยายามหาแนวทาง “ลดอิทธิพล” ไม่ให้หุ้นขนาดใหญ่ (หรือเดลต้าฯ นั่นแหละ) สร้างแรงเหวี่ยงกับดัชนีฯ มากเกินไป
ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น (ช่วง 4-17 ก.พ. 2568) พิจารณาใช้ “การจำกัดน้ำหนักหลักทรัพย์” (Capped Weight) กับหุ้นรายตัวไม่เกิน 10% ของดัชนี จะมีการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน (Rebalance) ทุก ๆ ไตรมาส ใน SET50, SET100, SET50FF และ SET100FF ที่ห้ามกองทุนรวมซื้อหุ้นเกิน 10% ของพอร์ต
ปัจจุบัน SET50 มีมูลค่าตามตลาด (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 11.7 ล้านล้านบาท
และ SET100 อยู่ที่ 13.1 ล้านล้านบาท
หุ้นที่มีน้ำหนัก หรือ weight เกิน 10% ใน SET100, SET50 มีเพียง เดลต้าฯ เท่านั้น เพราะมีสัดส่วนใน SET50 ที่ 13% และสัดส่วนใน SET100 ที่ 12%
เท่ากับว่า มี Capped Weight เกินใน SET50 3% และใน SET100 ที่ 2%
มีการคำนวณว่าหาก ตลท.นำเกณฑ์ใหม่มาใช้ จะส่งผลหุ้นเดลต้าฯ ถูกปรับลดน้ำหนักลง
หากน้ำหนักของเดลต้าฯ ลดเหลือ 10% ก็มีการดีดลูกคิดคำนวณกันอีกว่า ราคาหุ้นอาจลงมาถึง 25-26% จากราคาปิดวันก่อนหน้านี้ (123.00 บาท)
นั่นหมายความว่า หุ้นเดลต้าฯ จะลงมาต่ำกว่า 100.00 บาท
ธนะชัย ณ นคร