ควรต้องหยุดความอึมครึม CPALL

กระแสข่าวที่ลอยลมมาจากต่างประเทศว่า CPALL ผู้รับลิขสิทธิ์ดำเนินกิจการ 7-Eleven ในประเทศไทย ได้รับการเชิญชวนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่นให้เข้าไปร่วมแชร์ซื้อหุ้น Seven & I


กระแสข่าวที่ลอยลมมาจากต่างประเทศว่า CPALL ผู้รับลิขสิทธิ์ดำเนินกิจการ 7-Eleven ในประเทศไทย ได้รับการเชิญชวนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่นให้เข้าไปร่วมแชร์ซื้อหุ้น Seven & I เพื่อป้องกันการถูกเทกโอเวอร์จากบริษัท อลีมองตาซิยง คูซ-ตาร์ดและพันธมิตรหลักอย่างแฟมิลี่ มาร์ท ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้น CPALL อย่างหนัก

จากราคาหุ้น 56.50 บาทในวันที่ 30 มค.ที่ผ่านมา ร่วงลงทันทีในวันรุ่งขึ้นที่ข่าวออกถึง 4.50 บาทหรือ 7.96% มาปิดที่ 52 บาท และความเคลื่อนไหวปัจจุบันก็ลงมาต่ำกว่า 50 บาทแล้ว

ไม่เป็นผลดีต่อตัวหุ้น CPALL เอง อีกทั้งยังกระหน่ำซ้ำเติมตลาดที่กำลังปั่นป่วนอย่างหนักจากนโยบายนายทรัมป์

พักนี้ ไม่รู้เป็นอะไร หลักทรัพย์จากค่ายซีพี ก่อเรื่องราวทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกมิได้หยุดหย่อน คราวก่อนเมื่อกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ก็ทีหนึ่งแล้วจากซีพี แอ็กซ์ตร้า หรือ CPAXT เข้าทำรายการซื้อหุ้นมูลค่า 8 พันล้านบาทในบริษัท แฮปปี้แทท ที่ก่อความเคลือบแคลงว่าจะเป็นการใช้เงินบมจ.เข้าอุ้มบริษัทในเครือที่อยู่นอกตลาด

แม้บัดนี้ ก.ล.ต.ออกมาช่วยยืนยันว่าไม่ใช่รายการเกี่ยวโยงกัน ราคาหุ้น CPAXT ก็ไม่เคยหวนกลับระดับ 35 บาทก่อนตื่นตระหนกอีกเลย (ปัจจุบันราคา 25 บาท+-)

กลับมาที่กระแสข่าวรอยเตอร์ก่อความตื่นตระหนก เทขายหุ้น CPALL มีคำชี้แจงมาจากนายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ซีเอฟโอบริษัท ก็ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธแต่ประการใด เพียงแต่พูดเป็นกลาง ๆ ว่า “บริษัทมีนโยบายการลงทุนที่มุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจ ในกรณีที่พิจารณาข้อเสนอใด ๆ ในการลงทุน…

บริษัทจะดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง โดยเน้นประโยชน์สูงสุดของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทเป็นสำคัญ”

ช่างกำกวมเสียจริง คาดเดาไม่ออกว่าจะปฏิเสธข้อเสนอให้เข้าช่วยซื้อหุ้นบริษัทแม่ ซึ่งต้องใช้เงินสูงเอาการ หรือยังแอบคิดการใหญ่ว่า อาจจะเข้าไปเป็นเจ้าของ 7-Eleven เสียเอง

ถ้าตัดสินใจเข้าไปซื้อหุ้นช่วยเพื่อน โดยร่วมกลุ่มกับพันธมิตรอีก 3 ราย ก็ต้องใช้เงิน 5.8 หมื่นล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 1.9 ล้านล้านบาทไทย กลุ่มซีพีจะมีสเตคส์ตรงไหนล่ะ  2 แสนหรือ 5 แสนล้านบาทหากคิดหาร 4 แบ่งภาระเท่า ๆ กันไป

เงินจำนวนขนาดนี้มันหาง่ายนักหรือ?

ช่องทางการกู้เงินจากสถาบันการเงิน คงปิดประตูตายไปแล้ว เพราะกลุ่มซีพี ติดปัญหาเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ (Single Lending Limit) ก็คงไม่สามารถจะกู้เงินเพิ่มเติมได้อีก

ตัวเลขการเงินก็ยังไม่สู้จะดีนัก  จากงบการเงินสิ้นสุด Q3 มีกระแสเงินสดเพียง 45,980 ล้านบาท  หนี้สินรวม 5.98 แสนล้านบาท และสินทรัพย์รวม 9.1 แสนล้านบาท อัตราส่วนหนี้สิน/ส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) 1.93 เท่า และมีหุ้นกู้ระยะยาว 44 รุ่น มูลค่ารวม 2.27 แสนล้านบาท

นับเป็นงานหนักหนาสาหัสจริง ๆ และสุ่มเสี่ยงไม่น้อย หากจะคิดเข้าไปช่วยเพื่อน

หากคิดกลับกัน คือ ปล่อยให้เป็นไปตามวิถีทาง ที่ Seven & I ถูกกลุ่มคูซ-ตาร์ดและพันธมิตรแฟมิลี่มาร์ท เข้ามาซื้อกิจการเซเว่นในราคา 47,000 ล้านเหรียญฯ (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) (และเข้ามาลบชื่อ 7-Eleven ในประเทศไทยทิ้งไป ก็อาจจะก่อผลลัพธ์ที่ดีเกินคาดต่อ CPALL มากกว่าจากสาขาเซเว่นฯ ที่ติดตลาดอยู่แล้วกว่า 1.2 หมื่นสาขา

แฟมิลี่ มาร์ทที่เคยเป็นแบรนด์ตายไปแล้วจากเมืองไทย จะกลับมาฟื้นแบรนด์ใหม่ได้หรือ ในขณะที่มีอดีตร้านค้า 7-Eleven ยืนจังก้าพร้อมรบอยู่

CPALL ไม่ต้องทำอะไรมาก ก็สร้างแบรนด์ใหม่จาก 12,000 สาขาที่มีอยู่และพร้อมเปิดบริการได้ทันทีโดยไร้รอยต่ออยู่แล้ว เงินค่าแฟรนไชส์กับเซเว่นจำนวนมาก ก็ไม่ต้องจ่าย เผลอ ๆ กระแสเงินสดจะท่วมบริษัท กำไรที่เคยทำได้ปีละ 1.8-2.0 หมื่นล้านบาท อาจจะขยับขึ้นเป็น 3-4 หมื่นล้านบาทได้ไม่ยาก

CPALL สามารถสร้างแบรนด์ใหม่ของตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใด ๆ จาก 7-Eleven อีกต่อไปแล้ว

ความพยายามดิ้นรนจะเข้าไปช่วยซื้อหุ้น Seven & I กลับจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบ ไม่ระมัดระวัง ไม่รักษาผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทฯ อันเป็นการดำเนินการตรงกันข้ามกับคำแถลงของบริษัทฯ โดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดี ควรต้องหยุดความอึมครึมที่ CPALL กลายเป็นตัวทำร้ายตน ผู้ถือหุ้น และทำร้ายตลาดลงเสียที

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button