ซื้อหุ้นคืน เพิ่มมูลค่า สร้างความเชื่อมั่น

แนวโน้มการ “ซื้อหุ้นคืน” โดยเฉพาะบจ.ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ มีเงินเก็บสะสมระดับสูง สวนทางกับความเคลื่นไหวของราคาหุ้นที่ตกต่ำจนน่าใจหาย


เส้นทางนักลงทุน

แนวโน้มการ “ซื้อหุ้นคืน” หรือ Treasury Stock” ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยเฉพาะบจ.ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ มีเงินเก็บสะสมระดับสูง สวนทางกับความเคลื่นไหวของราคาหุ้นที่ตกต่ำจนน่าใจหาย น่าจะเกิดขึ้นอีกมาก หลังจากเห็นภาพบจ. “ซื้อหุ้นคืน” อย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

การ “ซื้อหุ้นคืน” นั้น เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินเพื่อการบริหารสภาพคล่องของกิจการในกรณีที่ราคาหุ้นของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น และบริษัทมีกำไรสะสมและสภาพคล่องทางการเงินสูงกว่าความต้องการใช้ดำเนินธุรกิจในช่วงระยะเวลาดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืน โดยหุ้นซื้อคืนจะไม่นับเป็นองค์ประชุมในการประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งไม่มีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน และสิทธิในการรับเงินปันผล

หากมองในแง่ของประโยชน์แล้ว การ “ซื้อหุ้นคืน” มีประโยชน์ทั้งต่อบริษัทและต่อผู้ถือหุ้น กล่าวคือ ในด้านประโยชน์ต่อบริษัทจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ของหุ้น และอาจส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น เป็นการลดจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนซื้อขายในตลาด ซึ่งส่งผลให้กำไรสุทธิต่อหุ้นสูงขึ้น

รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือทางการเงินในการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทให้เกิดประสิทธิผล ตลอดจนเป็นโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน หากผู้บริหารของบริษัทมั่นใจในผลการดำเนินงาน และเห็นว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานของกิจการอย่างมีนัยสำคัญ

การซื้อหุ้นคืนและขายกลับในจังหวะเวลาที่เหมาะสมจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับส่วนของผู้ถือหุ้น โดยบันทึกผลต่างของราคาเป็นส่วนเกินมูลค่าหุ้นซื้อคืนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของส่วนของผู้ถือหุ้น

ในด้านประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นนั้น กำไรต่อหุ้น (EPS) และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงขึ้น เนื่องจากหุ้นที่ถูกซื้อคืนจะไม่ถูกนำมาคำนวณกำไรต่อหุ้น มีโอกาสได้รับเงินปันผลต่อหุ้นสูงขึ้น มีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้น ในระดับที่ P/E เท่าเดิม

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 “ดร.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ก็ได้กล่าวเชิญชวนบรรดาผู้บริหารบจ.ชั้นนำ บจ.ระดับแถวหน้า และบจ.ที่มีศักยภาพของไทยที่เข้าร่วมในงาน “CHAT WITH TONY” ให้ใช้วิธี “ซื้อหุ้นคืน” ในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน ขาดปัจจัยบวกหนุน และเงินทุนต่างชาติยังไหลออก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน

“อัสสเดช คงสิริ” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ขานรับ มีมุมมองถึงกรณีบจ.ดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืนว่าเป็นกลไกที่ใช้กันในตลาดหุ้นทั่วโลก

“การซื้อหุ้นคืนเป็นมุมบวกในหลายด้าน ไม่ใช่เพียงพยุงราคาหุ้นตัวเองเท่านั้น แต่ยังเพิ่มอัตราส่วนผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) เพราะจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นแต่ผลตอบแทนเท่าเดิมดีต่อราคาหุ้น

อีกด้านยังเป็นการคืนทุนให้กับผู้ถือหุ้นตัวเอง คล้ายกับการจ่ายเงินปันผล ดังนั้นหากแผนลงทุนของบริษัทนั้นเพียงพอ และยังมีเงินทุนเหลืออยู่นำมาซื้อหุ้นคืนเพื่อให้โอกาสผู้ถือหุ้นนำเงินส่วนเกินตรงนี้ไปใช้ลงทุนแสวงหาผลประโยชน์เอง

ปัจจุบันเห็นว่ามีหลายบจ.ในตลาดหุ้นไทย ซื้อหุ้นคืนจำนวนมาก แต่เทียบกับมูลค่ามาร์เก็ตแคปที่อยู่ประมาณ 17-18 ล้านล้านบาทแล้ว ถือว่ายังน้อยมาก ยังสามารถซื้อหุ้นคืนในตลาดได้มากกว่านี้อีกด้วย ซึ่งตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ก็สนับสนุนให้เพิ่ม ROE โดยใช้ช่องทางซื้อหุ้นคืนเช่นกัน” อัสสเดช คงสิริ เคยกล่าวถึงการซื้อหุ้นคืนของบจ.ไทยไว้เช่นนี้

เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ได้ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน วงเงินไม่เกิน 2.1 หมื่นล้านบาท ในระยะ 3 ปี คือระหว่างปี 2568-2570 หรือไม่เกินปีละ 7 พันล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ เป็นต้นไป

มีการประเมินกันว่าบจ.ขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีการซื้อขายต่ำมูลค่าทางบัญชี หรือมี P/BV ต่ำกว่า 1.0 เท่า มีสภาพคล่องมากพอซื้อคืน มากกว่า 5.0% ของมูลค่าตลาดหุ้น (Market Cap) และมีสภาพคล่องเข้าเกณฑ์ของตลาดฯ

รวมทั้งมีสภาพคล่องเพียงพอชำระหนี้ครบกำหนดในอีก 1 ปี หรือเทียบตลาดกำหนด 6 เดือน มีกำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรรในงบเดี่ยวเพียงพอรองรับการซื้อคืน

ซึ่งบจ.ที่เข้าเกณฑ์เหล่านี้ และมีโอกาสจะซื้อหุ้นคืน เช่น หุ้น PTT มี P/BV ที่ระดับ 0.79 เท่า, หุ้น SCB มี P/BV ที่ระดับ 0.85 เท่า, หุ้น KBANK มี P/BV ที่ระดับ 0.67 เท่า, หุ้น KTB มี P/BV ที่ระดับ 0.71 เท่า, หุ้น BBL มี P/BV ที่ระดับ 0.53 เท่า, หุ้น PTTGC มี P/BV ที่ระดับ 0.37 เท่า, หุ้น TOP มี P/BV ที่ระดับ 0.36 เท่า และหุ้น BCP มี P/BV ที่ระดับ 0.8 เท่า ขณะที่ผู้บริหาร KTB หรือ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ระบุชัดเจนว่าอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อดำเนินการเรื่องนี้

“การซื้อหุ้นคืน” เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ยิ่งในสถานการณ์ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยถอยหลังหลุดร่วงไปตั้งรับที่ระดับ 1,200 จุด มีบจ.ในตลาดหุ้นไทยมากว่า 50-60% ซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี

หากบจ.ใดมีกระแสเงินสดในมือเพียงพอ มีความสามารถในการชำระเงินกู้และหุ้นกู้ในระยะ 1-2 ปี โดยที่ไม่กระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท ก็น่าจะจัดดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืน เพราะนอกจากจะเป็นการพยุงราคาหุ้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ยังเป็นการสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้่นคืนให้กับผู้ถือหุ้นอีกด้วย

ในปี 2567 ที่ผ่านมา บจ.ไทยมียอดการซื้อหุ้นคืนสะสมอยู่ที่ 10,828 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในรอบ 23 ปี จากที่เคยสูงสุดในปี 2563 ที่ 22,671 ล้านบาท

ในยามที่ตลาดหุ้นไทยผันผวนหนัก หุ้นของบจ.มีราคาถูกว่ามูลค่าทางบัญชี หากบจ.ประกาศโครงการ “ซื้อหุ้นคืน” กันจำนวนมาก ก็น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับ “นักลงทุน-ผู้ถือหุ้น” ได้ระดับหนึ่งนะ

Back to top button