![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2024/03/CL_2022_investors.jpg)
OR กับความท้าทายในปี 2568
จากการที่กระทรวงพลังงานมีแผนที่จะปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อแนวโน้มค่าการตลาด (marketing margin)
เส้นทางนักลงทุน
จากการที่กระทรวงพลังงานมีแผนที่จะปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อแนวโน้มค่าการตลาด (marketing margin) รวมทั้งแผนของกระทรวงพลังงานที่จะใช้ระบบน้ำมันสำรองยุทธศาสตร์ (SPR) แทนการใช้ oil fuel fund อาจจะทำให้ผู้ค้าน้ำมันมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในอนาคตได้ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR รวมทั้งยังท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR คนใหม่
โดยเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ หรือ บอร์ด OR ได้มีมติเห็นชอบให้ ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR คนใหม่ แทนนายดิษทัต ปันยารชุน ที่เกษียณอายุงานในวันที่ 11 ธันวาคม 2567
ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ ไม่ใช่คนอื่นคนไกล เป็นคนภายในเครือปตท.เอง และถือเป็นคนที่มีโปรไฟล์ แต่การเข้ามารับตำแหน่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ามีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะความคาดหวังในเรื่องของผลประกอบการและราคาหุ้น
ปัจจุบันความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น OR ทรุดตัวลงต่ำเตี้ย อยู่แถว ๆ 11 บาท ดู ๆ แล้วก็น่าใจหายว่าจะลดลงไปต่ำกว่านี้อีก หลังจากที่ร่วงหลุดราคาออกและเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 18 บาท เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2567
ทางด้านผลการดำเนินงานนั้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รายได้รวมมีทั้งขึ้น ๆ ลง ๆ โดยในปี 2564 อยู่ที่ 515,279.67 ล้านบาท และพุ่งขึ้นแตะ 793,418.24 ล้านบาท ในปี 2565 จากนั้นลดลงเล็กน้อยในปี 2566 มาที่ 774,423.18 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกของปี 2567 นั้น มีรายได้รวมแล้ว 540,091.72 ล้านบาท
เช่นเดียวกับการทำกำไรโดยในปี 2564 อยู่ที่ 11,474.03 ล้านบาท และลดลงในปี 2565 มาอยู่ที่ 10,370.40 ล้านบาท ก่อนจะขยับขึ้นอีกครั้งในปี 2566 เป็น 11,094.07 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกของปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,650.94 ล้านบาท
OR มีรายได้มาจากการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ ธุรกิจกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ร้านสะดวกซื้อ และการบริหารจัดการพื้นที่
บอร์ด OR ได้อนุมัติแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2568-2572) จำนวน 60,404.6 ล้านบาท จัดทำภายใต้วิสัยทัศน์ “Empowering All Toward Inclusive Growth” หรือ “เติมเต็มโอกาส เพื่อการเติบโตร่วมกัน” แบ่งตามกลุ่มธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจ Mobility รวม 31,877 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 52.8% ในปี 2568 นี้ จะลงทุน 7,656.7 ล้านบาท
ธุรกิจ Lifestyle รวม 15,502.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25.7% ในปี 2568 นี้ จะลงทุน 7,280.4 ล้านบาท ธุรกิจ Global รวม 10,846.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18% ในปี 2568 นี้ จะลงทุน 2,771.8 ล้านบาท และธุรกิจ Innovation & New Business รวม 2,178 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.5% ในปี 2568 นี้ จะลงทุน 1,178 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี มองว่า OR เริ่มรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้ ขณะที่ยอดขายกาแฟโตต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากการเพิ่มยอดขายน้ำมันต่อสาขา, ส่วนการขยายสาขาทั้ง Mobility และ Lifestyle ทำได้ดีกว่าคาด โดยประเมินว่าปี 2568 จะดึงส่วนแบ่งตลาดน้ำมันคืนได้เพิ่ม และขยาย Lifestyle ได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้คาดกำไรปกติจะเติบโต 37% จากงวดปีก่อนเป็นราว 1.2 หมื่นล้านบาท เพราะเชื่อว่าธุรกิจ Mobility จะฟื้นทั้งปริมาณขายที่มาจากทั้งการขยายสาขาและทยอยชิงส่วนแบ่งตลาดกลับคืน และกำไรขั้นต้นต่อลิตรฟื้น 8% มาที่ระดับ 0.9 บาท/ลิตร จากบริหารต้นทุนได้มากขึ้นหลังราคาน้ำมันต่ำลง
และธุรกิจ Lifestyle ยอดขายฟื้นตัวตามการขยายสาขาเติบโต 5% ส่วนค่าใช้จ่าย outsource ลดลง เพราะบริษัทล็อกต้นทุนกาแฟของทั้งปีไว้แล้ว
สำหรับปี 2567 ที่ผ่านมานั้น มองมีโอกาสเติบโตของผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 คาดกำไรปกติ 2,595 ล้านบาท สูงกว่าทั้งงวดเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อน ส่วนกำไรสุทธิจะอยู่ราว 2,909 ล้านบาท เติบโต 1,408% จากงวดเดียวกันปีก่อน เพราะค่าใช้จ่ายในการบริหารและการขาย (SG&A) ลดลง 27% เนื่องจากไม่มีโบนัสพนักงาน และลดค่าใช้จ่ายโฆษณา รวมถึงยอดขายน้ำมันลูกค้า commercial เติบโต 8% ใกล้เคียงกับการเติบโตของยอดขายกาแฟ ตามการขยายสาขา ทั้งนี้คาดกำไรขั้นต้นต่อลิตรจะอยู่ที่ 0.8 บาท/ลิตร เติบโต 7% จากงวดเดียวกันปีก่อน
ความท้าทายของ OR คงจะต้องฝากเอาไว้ในมือของม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่แล้วล่ะ!