![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2024/03/CL_2024_ratchada.jpg)
IRPC สต๊อกลอสปล้นกำไร.!
ไม่เพียงธุรกิจปิโตรเคมีที่ยังหาทางฟื้นไม่เจอ...ช่วงท้ายปีก่อน ราคาน้ำมันกลับปรับลงอีก ทำให้กลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่นมีอันต้อง “ว้าวุ่น” ไปตาม ๆ กัน
ไม่เพียงธุรกิจปิโตรเคมีที่ยังหาทางฟื้นไม่เจอ…ช่วงท้ายปีก่อน ราคาน้ำมันกลับปรับลงอีก ทำให้กลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่นมีอันต้อง “ว้าวุ่น” ไปตาม ๆ กัน ซึ่งจะทยอยให้เห็นเป็นปรากฏผ่านตัวเลขงบการเงินไตมาส 4/2567 และงบปี 2567 ภายในเดือน ก.พ.นี้
ล่าสุด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC โรงกลั่นตัวพ่อของกลุ่มปตท. ประเดิมประกาศงบเป็นรายแรก กลุ่มโรงกลั่นถึงขั้นว้าวุ่นหนัก เพราะงบปี 2567 มีตัวเลขขาดทุนสุทธิปาไป 5,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 2,923 ล้านบาท ส่วนงวดไตรมาส 4/2567 มีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 1,115 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 3,417 ล้านบาท และลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2567 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 4,880 ล้านบาท
ตัวการที่ฉุดงบ IRPC ให้เละเทะอย่างนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหน…แต่เกิดจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน (Stock Loss) นั่นเอง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีของปี 2567 ปรับตัวลดลงจากปีก่อน มีปัจจัยกดดันจากความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่ชะลอตัว รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในหลายประเทศ อาทิ รัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-อิหร่าน
ส่งผลให้งบปี 2567 IRPC มีตัวเลข Stock Loss กว่า 2,496 ล้านบาท หรือ 0.98 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนในไตรมาส 4/2567 มี Stock Loss อยู่ที่ 1,268 ล้านบาท หรือ 2.01 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล
กลายเป็นว่า ในปี 2567 IRPC ถูก Stock Loss ปล้นกำไรไปอีกหนึ่งปี..!!
ถามว่าถ้าไม่มี Stock Loss ก้อนนี้ งบ IRPC จะดีขึ้นมั้ย..?? จะมีโอกาสเห็นกำไรสุทธิให้ชื่นอกชื่นใจได้หรือเปล่า..??
คำตอบคือน่าจะยังขาดทุนเหมือนเดิมนะ…เพราะมีอีกหลายรายการที่กัดกร่อนกำไร ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกค่าเสื่อมราคา 9,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากสินทรัพย์ที่เพิ่มจากโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ที่มีการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 2567 ประกอบกับมีต้นทุนทางการเงินสุทธิเพิ่มขึ้น 20% อยู่ที่ 2,427 ล้านบาท เป็นผลจากเงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นตามตลาด
นอกจากนี้ IRPC ยังต้องบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าและตัดจำหน่ายทรัพย์สินอีกก้อน 566 ล้านบาท หลัก ๆ มาจากบันทึกด้อยค่าเงินลงทุนของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม และบันทึกการกลับรายการด้อยค่าที่ดิน
นี่ขนาดว่ามีกำไรจากการลงทุน 989 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง จำกัด (WHAIER) ที่เริ่มรับรู้รายได้จากการจำหน่ายที่ดินตั้งแต่ไตรมาส 2/2567 ช่วยหนุนแล้วนะ…ไม่งั้นคงเห็นงบ IRPC เละเทะกว่านี้นะจิบอกให้…
ส่วนสถานการณ์ในปี 2568 นี้ ก็คงเป็นอีกปีที่แสนสาหัสสำหรับ IRPC เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจปิโตรเคมียังฟื้นตัวช้า ผสมโรงกับแนวโน้มซัพพลายของจีนที่เข้ามาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บางสายการผลิตประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง…
แนวทางการปรับตัวของ IRPC ต้องหันมารีดไขมันส่วนเกิน…กระชับองค์กรให้ Slim ขึ้น ด้วยการพิจารณาขายหน่วยธุรกิจบางแห่งที่ไม่ทำกำไรออกไปในปีนี้ ซึ่งในระยะสั้นจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าชดเชยการเลิกจ้าง เงินสำรองช่วงระยะเวลาแจ้งเตือน ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทำให้ตัวเลขบรรทัดสุดท้ายในงบปี 2568 น่าจะยังติดลบ…
แต่ในระยะยาวถูกประเมินว่าอัตรากำไรบริษัทจะดีขึ้น ภาระจากการดำเนินงานจะลดลง และงบดุลจะแข็งแกร่งขึ้น…
งั้นก็เข้าตำราอดเปรี้ยวไว้กินหวานน่ะสิ…
ว่าแต่นักลงทุนจะอดใจรอกันไหวป๊ะเนี่ย…
หวังว่าคงไม่ต้องรอจนเหงือกแห้งหรอกนะ..!?
…อิ อิ อิ…