พาราสาวะถี

เป็นไปตามคาดการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ล่มไม่เป็นท่า


เป็นไปตามคาดการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่เสนอโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ล่มไม่เป็นท่า เมื่อบรรดา สว.พากันวอล์กเอาต์ หลังจากที่ นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.ได้เสนอญัตติขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรค 1 (2)

เพื่อจะให้ไม่ได้มีปัญหาว่าสมาชิกรัฐสภาดำเนินการในสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งปรากฏว่า สส.ของพรรคแกนนำรัฐบาลแม้แต่ สรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ฐานะเลขาธิการพรรค ร่วมลงชื่อในญัตติดังกล่าวด้วย ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ไชยชนก ชิดชอบ เลขาฯ พรรคลุกขึ้นอภิปรายว่าพรรคขอไม่เข้าร่วมการพิจารณาครั้งนี้ สุดท้ายจบลงตรงที่ สว.วอล์กเอาต์ด้วยเหตุผลไม่พอใจที่ไม่มีการเลื่อนญัตติของหมอเปรมศักดิ์มาพิจารณาก่อน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาจึงนัดประชุมใหม่อีกครั้งวันนี้ (14 กุมภาพันธ์)

เพื่อไทยในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขประกบกับพรรคประชาชน ย่อมแสดงท่าทีให้มีการผลักดันอย่างแข็งขัน แต่สุดท้ายเมื่อผลออกมาในรูปแบบนี้ ถือว่าไม่เสียหาย เห็นได้จากท่าทีของที่ประชุมพรรคเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ไม่ได้มีปฏิกิริยาที่ไม่พอใจต่อการไม่ร่วมสังฆกรรมแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคภูมิใจไทยแต่อย่างใด แม้ว่าก่อนหน้านี้ ก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อและอดีตแกนนำเสื้อแดง จะให้ความเห็นพร้อมเรียกร้องให้มีการขับพรรคที่ขวางแก้รัฐธรรมนูญพ้นรัฐบาล

นั่นเป็นเพราะรู้กันดีว่า การขวางลำของ สว.สายสีน้ำเงิน ตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่ให้กลับไปใช้เสียงข้างมากสองชั้นเหมือนเดิม ย่อมเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่าฝ่ายอนุรักษนิยมมีความประสงค์ไม่ให้ใครแตะรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ หรืออีกนัยหนึ่งเห็นได้ชัดว่าฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการโละทั้งฉบับนั้นเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายสูงสุดฉบับนี้ ทั้งพวก สว.ที่อ้างว่ามาจากเลือกตั้งแบบถูกกังขาว่าบล็อกโหวตกันได้ หรือพวกที่ได้ สส.เป็นกอบเป็นกำจากผลพวงของกลไกของขบวนการสืบทอดอำนาจ

อย่างที่บอกกรณีการแสดงออกทางการเมืองของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาล ถือเป็นข้อตกลงหนึ่งหากไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร สามารถกระทำได้โดยจะไม่มีการกังขาหรือค้างคาใจใด ๆ ต่อกัน ขณะเดียวกัน การที่ได้แสดงออกถึงความพยายามในการผลักดันเพื่อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างถึงที่สุด ก็ถือว่าได้ทำตามเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้ตอนหาเสียง ซึ่งพรรคแกนนำรัฐบาลมีหน้าที่แสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชน

นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปดูบทสัมภาษณ์ของ ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ฐานะรองหัวหน้าและประธานคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เคยบอกไว้ว่าทางออกสำหรับปัญหานี้คือ เมื่อมีการบรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ให้มีสมาชิกไม่ว่าจะ สว.หรือ สส.เข้าชื่อกันเสนอญัตติเพื่อมีการพิจารณาลงมติให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องถามศาลรัฐธรรมนูญว่า รัฐสภาจะสามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

หรือต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั่นเท่ากับว่า จะเป็นการทำประชามติ 3 ครั้ง การยื่นให้ตีความย่อมจะนำมาซึ่งความกระจ่างของทุกฝ่าย เพราะหากจะไปยื่นถามโดยที่ยังไม่มีเหตุเกิด ย่อมจะถูกยกคำร้อง แต่หนนี้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้วในสภาระหว่างฝ่ายเสนอแก้ไข กับฝ่ายที่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย เดินกันไปแบบนี้ก็เท่ากับว่าวิน-วินกันทุกฝ่าย แล้วไปลุ้นปลายทางว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตอบที่ชัดเจน หรือไม่รับไว้วินิจฉัยเหมือนเดิม

จะว่าไปแล้ว การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความถือเป็นทางออกและทางลงที่น่าจะดูดีที่สุดแล้ว เพราะขืนดันทุรังพิจารณากันต่อไป ภายใต้ภาวะที่ สว.เสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ก็ย่อมมีโอกาสที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับจะถูกตีตกไป ต้องไม่ลืมว่าในวาระแรกของการประชุมรัฐสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อมีการลงมติต้องใช้เสียง สว.1 ใน 3 หรือ 67 เสียง หากต้องมีการลงมติแล้วได้เสียง สว.ไม่ครบตามข้อกำหนดดังว่า ก็เท่ากับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นตกไป ไม่สามารถยื่นกลับมาได้อีก

ช่วงนี้สวมบทบาทผู้ดูแลงานด้านความมั่นคงเข้มข้น “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปประชิดชายแดนทั้งทางภาคเหนือ ตะวันออก และตะวันตก หลังจากเล่นบทโหดตัดไฟฟ้า สัญญาณอินเทอร์เน็ตและการส่งน้ำมันไปยังเมียนมา 5 จุด เห็นได้ชัดว่าเริ่มมีผลในทางปฏิบัติ เวลานี้มีการเริ่มทยอยส่งชาวต่างชาติที่ถูกหลอกเข้าไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

วันพุธที่ผ่านมา บริเวณท่าข้ามสินค้าหมายเลข 28 ตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ทางฝ่ายเมียนมา และกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยหรือ DKBA ได้มีการส่งตัวบุคคลต่างชาติ ที่เข้าข่ายถูกหลอกลวง และการค้ามนุษย์ในจังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง จำนวน 260 ราย จาก 20 สัญชาติ หลังรับตัวทางชุดเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร ได้นำบุคคลต่างชาติมาร่วมคัดกรองและตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อยืนยันสัญชาติ ภายในที่ว่าการอำเภอพบพระ ร่วมกับ ตม.ตาก และเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตาก ประสานสถานทูตแต่ละประเทศให้มารับตัวก็ส่งกลับประเทศต้นทางต่อไป

ในกรณีนี้บิ๊กอ้วนได้ให้ข้อมูลว่า ทางเมียนมาระบุจะส่งคนที่ถูกหลอกไปให้ไทย 20 รอบ รอบละ 500 คน แต่ได้มีการตอบกลับไปว่า ขอให้ประเทศต้นทางของคนที่ถูกหลอกไปแจ้งมาก่อน เพราะไม่อยากมาสร้างค่ายอพยพที่ไทย นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าการดำเนินมาตรการเด็ดขาดได้ผล เป็นเรื่องที่ทางเมียนมา และกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ต้องดูแลประชาชนของตัวเอง ด้วยการช่วยคนที่ถูกหลอกให้ได้รับอิสระภาพ พร้อม ๆ กับการผลักดันให้แก๊งมิจฉาชีพทั้งหลายออกไปให้พ้นดินแดนของตัวเอง เรียกได้ว่าระส่ำระสายกันไปถ้วนหน้า คนไทยก็น่าจะมีหวังเบาใจได้กับปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์

อรชุน

Back to top button