หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลไทยถูกสุดในภูมิภาค

หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลของไทยยังคงมีความโดดเด่น เพราะเมื่อพิจารณาจากค่า P/E เรโชของกลุ่มในปี 2567 มีการปรับลดลงมาอยู่ที่ 24.7 เท่า


เสน้ทางนักลงทุน

หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลของไทยยังคงมีความโดดเด่น เพราะเมื่อพิจารณาจากค่า P/E เรโชของกลุ่มในปี 2567 มีการปรับลดลงมาอยู่ที่ 24.7 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นโรงพยาบาลในภูมิภาคที่ 32.7 เท่า ทั้งนี้แนวโน้มการทำกำไรปี 2567 และปี 2568 จะยังคงดีอยู่ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเฉพาะผลประกอบการงวดไตรมาส 4 ปี 2567 ของกลุ่มโรงพยาบาลในประเทศไทย อาจจะไม่สดใสเท่าที่ควร เนื่องจากมีแรงกดดันหลักจากโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยประกันสังคม (SSO) ซึ่งต้องบันทึกการกลับรายการรายได้จากอัตราค่าบริการกลุ่มโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) ลดลง และผลกระทบจากปัจจัยฤดูกาล

“ข่าวหุ้นธุรกิจ” สำรวจมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ พบว่าหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) กำไรงวดไตรมาส 4 ปี 2567 น่าจะดีขึ้น แต่หากเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2567 (QoQ) จะลดลง เพราะได้ผ่านไตรมาสแข็งแกร่งที่สุดไปแล้ว

  • Q4/67 กำไรกลุ่มโรงพยาบาลแผ่ว

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) มองว่าผลประกอบการในไตรมาส 4/2567 จะแผ่วลงจาก QoQ ส่วนใหญ่แผ่วลงเพราะจำนวนผู้ป่วยลดลงในเดือนธันวาคม 2567 รวมทั้งยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยฤดูกาลอยู่ นอกจากนี้ยังเชื่อว่ารูปแบบของผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2568 น่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลง และกำไรจะไม่น่าตื่นเต้น

โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยคูเวตเผชิญกับความท้าทายหลังจากที่ผู้ป่วยชาวคูเวตไม่มาใช้บริการ เช่น บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) และ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอส (BCH) มานานหนึ่งปี ดังนั้นแนวโน้มกำไรของ BH จึงจะถูกกดดันในระยะสั้น เพราะบริษัทจะไม่สามารถทำสถิติกำไรสูงสุดใหม่ได้เหมือนเคย

ส่วน BCH เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่จะได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้ เพราะก่อนหน้านี้รายได้จากการที่รัฐบาลคูเวตส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ WMC คิดเป็นสัดส่วน 5-6% อย่างไรก็ตามการกลับมาของผู้ป่วยคูเวตจะเป็นปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้น BH และ BCH ได้อย่างมีนัยสำคัญ

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ มีมุมมองไม่แตกต่างกัน โดยคาดกำไรปกติกลุ่มโรงพยาบาลไตรมาส 4 ปี 2567 จะลดลงทั้ง YoY และ QoQ มาที่ 6.5 พันล้านบาท -1% YoY และ -11% QoQ มีแรงกดดันหลักจากโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยประกันสังคม ต้องบันทึกการกลับรายการรายได้จาก RW>2 จากอัตราค่าบริการกลุ่มโรคร้ายแรงลดลงเหลือ 8,000 บาท/RW ในครึ่งหลังของปี 2567 เทียบกับอัตราปกติที่ 12,000 บาท

ขณะที่ กำไรลดลง QoQ เพราะปัจจัยฤดูกาลหลังช่วงไฮซีซั่นในไตรมาส 3 ปี 2567 หากไม่รวมผลกระทบจากการปรับรายการประกันสังคม การเติบโตของกำไรหลักยังคงไม่เด่น โดยรายได้จากผู้ป่วยไทยทรงตัวถึงเติบโตระดับต่ำจากฐานสูงในปี 2566 ก่อนที่มีการระบาดของโรคมากและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติของบางโรงพยาบาลได้รับแรงกดดันจากการหายไปของผู้ป่วยคูเวตและการเติบโตที่ชะลอลงของบางประเทศในตะวันออกกลาง

โรงพยาบาลประกันสังคมอ่อนแอมากที่สุดในไตรมาส 4 ที่ผ่านมานี้ คือ BCH คาดกำไร 188 ล้านบาท (-58% YoY, -59% QoQ) เพราะต้องกลับรายการรายได้ RW>2 ที่ 160 ล้านบาท, รายได้จากผู้ป่วยใน (IPD) ลดลงราว 15% YoY เนื่องจากการหายไปของผู้ป่วยคูเวต ส่งผลรายได้รวมจะลดลงราว -6% YoY

และบมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) คาดกำไร 165 ล้านบาท (-40% YoY, -60% QoQ) ต้องกลับรายการรายได้ RW>2 ที่ 90 ล้านบาท คาดว่า CHG จะมีการเติบโตของรายได้จากผู้ป่วยเงินสดในระดับต่ำ จากรายได้ลดลงของบริษัทย่อย (Thai Amdon) และการแข่งขันรุนแรงขึ้น ขณะที่รายได้อื่นยังได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดของสัญญาบริหารที่พัทยา ส่งผลรายได้รวมจะลดลงราว -6% YoY

ขณะที่ โรงพยาบาลขนาดใหญ่เติบโตชะลอตัวลง โดยบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) กำไรที่ 4.15 พันล้านบาท (+5% YoY, -2% QoQ) การเติบโต YoY ได้แรงหนุนจากรายได้รวมที่เพิ่มขึ้น 4% นำโดยรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติเติบโต 10% ส่วนรายได้จากผู้ป่วยไทยเติบโตเพียง 2% จากฐานที่สูงในปีก่อน ทั้งนี้ BDMS จะรับรู้ประโยชน์ทางภาษีทำให้อัตราภาษีอยู่ต่ำกว่า 20% ในไตรมาส 4 นี้

สำหรับ BH กำไรจะอยู่ที่ 1.76 พันล้านบาท (+3% YoY, -10% QoQ) แม้รายได้จะลดลง 3% YoY จากปัญหาของลูกค้ากลุ่มตะวันออกกลาง แต่การบริหารต้นทุนที่ดีจะช่วยหนุนการเติบโตของกำไร YoY

บมจ.โรงพระยาบาลพระรามเก้า (PR9) กำไรจะอยู่ที่ 212 ล้านบาท (+13% YoY, +2% QoQ) เป็นการเติบโต YoY ที่สูงที่สุดในกลุ่ม มีแรงหนุนหลักจากรายได้ผู้ป่วยต่างชาติที่เติบโต +48% YoY จากรายได้จากผู้ป่วยตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่รายได้จากผู้ป่วยไทยทรงตัว YoY เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนจากการระบาดของโรค และการกระจายรายได้จากโปรแกรมตรวจสุขภาพออกไปไตรมาสอื่นมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเติบโตที่แข็งแกร่งของรายได้จากต่างชาติช่วยชดเชยผลกระทบนี้ได้ ทำให้รายได้รวมเติบโต +7% YoY นอกจากนี้ PR9 ยังจะได้รับประโยชน์ทางภาษี 36 ล้านบาท จากการบริจาคเครื่องมือการแพทย์ให้โรงพยาบาลรัฐ ซึ่งช่วยหักลบกับค่าใช้จ่ายในการบริหาร (SG&A) ที่สูงขึ้นจากค่าบำรุงรักษา และค่าใช้จ่ายจากการบริจาค 18 ล้านบาท

  • ปี 68 Co-payment กระทบโรงพยาบาล

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า กรณีประเทศไทยจะนำแนวทางประกันสุขภาพแบบมีส่วนร่วมจ่าย (Co-payment) มาใช้กับโรงพยาบาลเอกชน ตั้งแต่วันที่ 1 เดือนมีนาคม 2568 โดยตั้งเป้าไปที่กลุ่มผู้ป่วยที่มีประกันและใช้สิทธิเบิกประกันสูงมาก ๆ การนำแนวทางนี้มาใช้จะส่งผลกระทบกับรายได้และกำไรของกลุ่มโรงพยาบาลไม่มากนัก คาดว่าจะน้อยกว่า 3%

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม (SSO) ก็จะกลับมาจ่ายเงิน 12,000 บาท/RW สำหรับค่ารักษาพยาบาลโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรือ RW>2 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 ซึ่งจะเป็นบวกกับ BCH และ CHG ในแง่ของการรับรองรายได้ในอนาคตจากการให้บริการ RW>2

โบรกเกอร์ยังมองหุ้นโรงพยาบาลเชิงบวก จากได้สะท้อนความเสี่ยงไปแล้ว และคาดว่าการเติบโตของกำไรและผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROE) จะสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 (COVID-19)

Back to top button