![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2024/03/CL_2022_investors.jpg)
OSP งัดกลยุทธ์ลดราคาดึงส่วนแบ่งตลาด
OSP ซมพิษไข้ ส่งผลให้ราคาดำดิ่งอยู่ในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2568 ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2568 ราคาหุ้นร่วงไปแล้ว 29.33%
เส้นทางนักลงทุน
หุ้นบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ซมพิษไข้ ส่งผลให้ราคาดำดิ่งอยู่ในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2568 ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2568 ราคาหุ้นร่วงไปแล้ว 29.33% มากกว่าอุตสาหกรรมและมากกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ลดลง 18.29% และ 22.11% ตามลำดับ เนื่องจากการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังรุนแรงขึ้น และแนวโน้มยังไม่แน่นอน ขณะที่ OSP จะใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด หรือมาร์เก็ตแชร์
OSP จะเปิดตัว M-150 Yellow เครื่องดื่มชูกำลังรสชาติดั้งเดิม ในราคาขวดละ 10 บาท โดยจะจำหน่ายเฉพาะในช่องทางค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป มีเป้าหมายเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลงจาก 45.4% ในไตรมาส 3 ปี 2567 ที่เหลือ 45.0% ในไตรมาส 4 ปี 2567 กลับมา
ผู้บริหารของ OSP เชื่อมั่นว่ากลยุทธ์นี้จะช่วยผลักดันส่วนแบ่งการตลาดของ M-150 ให้กลับไปที่ 50.0% ใกล้เคียงระดับ 54.6% ในไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการปรับขึ้นราคาได้ แต่โบรกเกอร์ไม่เชื่อว่ากลยุทธ์นี้จะช่วยพลิกฟื้นส่วนแบ่งตลาดของ M-150 ได้อย่างรวดเร็ว
โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ มองว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากคู่แข่งอาจใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่รุกหนักขึ้น และยังมีความเสี่ยงที่ M-150 Yellow จะเกิดผลกระทบต่อยอดขายของผลิตภัณฑ์เดิม (cannibalization) ของบริษัทเอง
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า OSP อาจจะได้ส่วนแบ่งตลาดในประเทศมาเพิ่ม 1% ขณะที่บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG จะเสียส่วนแบ่งตลาด 0.5%
โดยหาก OSP สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในประเทศได้ 1% จริง คาดว่ายอดขายรวมจะเติบโต 4.7% และกำไรหลักต่อหุ้น (Core EPS) จะเติบโต 3.8% ในปี 2568 ส่วน CBG ส่วนแบ่งตลาดจะลดลง 0.5% และยอดขายในปี 2568 จะเติบโต 8% ได้รับแรงหนุนจากช่องทางการจัดจำหน่ายและยอดขายในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ทุกการเปลี่ยนแปลง 1% ในส่วนแบ่งตลาด จะส่งผลต่อประมาณการกำไรหลักต่อหุ้นของ OSP และ CBG 1% และ 1.2% ตามลำดับ
OSP กลายเป็นหุ้นที่ถูกโบรกเกอร์ปรับมุมมองใหม่ รวมถึงถูกปรับลดราคาเป้าหมายลง โดยบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ ระบุว่า จะขอรอดูทิศทางที่ชัดเจนของส่วนแบ่งตลาดก่อน ในฐานะเป็นผู้นำตลาดที่กลับมาเดินเกมรุกอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ให้คำแนะนำเพียง “ถือ” พร้อมลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 16.10 บาท อิง P/E ปี 2568 ที่ 15 เท่า เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของกำไรอ่อนแอลง คาดกำไรจะเติบโตเพียง 4% จากงวดเดียวกันปีก่อน หรือเทียบกับ 42% ในปี 2567 ได้รับแรงกดดันจากฐานที่สูง อานิสงส์จากต้นทุนลดลงเริ่มอ่อนแรง และสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่ไม่เอื้อต่อการเติบโต มองว่าการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในราคาที่ต่ำลงอาจช่วยให้ OSP สามารถชิงคืนส่วนแบ่งตลาดกลับมาได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังยังคงรุนแรง จึงใช้แผนชิงคืนส่วนแบ่งตลาดด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายขึ้น
ผู้บริหารคาดว่าการเปิดตัว M-150 Yellow จะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของ M-150 สู่ 50.0% ใกล้เคียงระดับ 54.6% ในไตรมาส 4 ปี 2565 ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นราคา
แต่บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ มองสวนทาง คาดว่าการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของ OSP จะกระตุ้นการแข่งขันด้านราคาในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังให้รุนแรงขึ้น โดยมีความเสี่ยงที่ M-150 Yellow อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายของ M-150 Blue Honey ซึ่งมีราคาที่ขวดละ 10 บาทอยู่แล้ว ขณะเดียวกันลูกค้าของ M-150 Gold (ขวดละ 12 บาท) อาจเปลี่ยนไปเลือกซื้อ M-150 Yellow แทน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน และการแทนที่ M-150 Gold ด้วย M-150 Yellow ทั้งหมด จะกระทบต่อกำไรไม่เกิน 5% รายได้ที่เพิ่มขึ้น ถูกหักล้างด้วยต้นทุนการตลาดที่สูงขึ้น
ดังนั้น จึงคาดการณ์ยอดขายปี 2568 เติบโต 4.7% และอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) อยู่ที่ 37.5% ทรงตัวจากปี 2567 ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของผู้บริหารที่ตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายไว้ 5-9% เนื่องจากคาดว่าส่วนแบ่งตลาดของ OSP จะเพิ่มขึ้นเพียง 1% เทียบกับเป้าหมายของผู้บริหารที่ 5%
โบรกเกอร์รายนี้ประเมินว่ากำไรหลักต่อหุ้น (Core EPS) ในปี 2568 จะเติบโตเพียง 4% ต่ำกว่าที่ผู้บริหารคาดว่าจะเติบโตเป็นเลขสองหลัก (Double Digit Growth) แต่ยังมีอัตราเงินปันผลน่าสนใจที่ 4.4% ในปี 2568
ต้องยอมรับว่าการแข่งขันที่รุนแรงไม่เอื้ออำนวย และส่งผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้โบรกเกอร์ต่างพากันปรับมุมมองใหม่ไปในเชิงลบ
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ ดังกล่าวที่ประกาศปรับลดมุมมองเป็น “เชิงลบ” จากเดิม “เป็นกลาง” เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของกำไรหลักต่อหุ้น (Core EPS) ในปี 2568 อ่อนแอลง โดยในกลุ่มอาหารคาดว่าจะลดลง 1.6% และกลุ่มเครื่องดื่มจะเติบโตเพียง 6% เมื่อเทียบกับการเติบโตถึง 84% และ 32% ตามลำดับ ในปี 2567
ผู้บริหาร OSP งัดกลยุทธ์ลดราคาหวังดึงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับคืนมา แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่…ต้องติดตาม