
SCB ปันผลโดดเด่นสุด
SCB โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 4/2567 1.ธุรกิจขนาดใหญ่ 35.08% 2.ธุรกิจ SME 16.78% 3.สินเชื่อบุคคล 40.47%
คุณค่าบริษัท
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 4/2567 1.ธุรกิจขนาดใหญ่ 35.08% 2.ธุรกิจ SME 16.78% 3.สินเชื่อบุคคล 40.47% 4.สินเชื่อของบริษัทย่อย 7.68% ภายใต้สินเชื่อบุคคล 40.47% จำแนกต่อได้ดังนี้ 1.สินเชื่อเคหะ 32.32% 2.สินเชื่อเช่าซื้อ 6.27% 3.สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน 0.95% 4.สินเชื่ออื่น ๆ 0.93% ภายใต้สินเชื่อของบริษัทย่อย 7.68% จำแนกต่อได้ดังนี้ 1.บริษัท คาร์ด เอกซ์ 4.16% 2.บริษัท ออโต้ เอกซ์ 2.19% 3.บริษัทย่อยอื่น ๆ 1.33%
SCB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2567 มีกำไรสุทธิ 11,706.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.48% จากไตรมาส 4/2566 และเติบโต 7% จากไตรมาส 3/2567 ที่มีกำไรสุทธิ 10,940.95 ล้านบาท กำไรสุทธิไตรมาส 4 ดีกว่าที่ บล.หยวนต้าและตลาดคาด 5.5% และ 19.1% ตามลำดับ แม้ว่ามีปัจจัยลบจากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิลดลง 0.6% จากไตรมาส 3/2567 หลังสินเชื่อรวมของ SCB ลดลง 1.2% จากไตรมาส 3/2567 จากการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่ รวมถึงผลกระทบจากส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.0% จาก 4.1% ในไตรมาส 3/2567 รวมทั้งค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบไตรมาส 3/2567 จากค่าใช้จ่ายลงทุนในระบบเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น แต่มีปัจจัยบวกมาชดเชย ด้วย 1.การตั้งสำรองที่ลดลง 10.7% จากไตรมาส 3/2567 สะท้อนเป็นค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (Credit Cost) ที่ลดลงเหลือ 1.6% จาก 1.8% หลังคุณภาพสินทรัพย์ของ CardX และ AutoX มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และลูกหนี้ Stage 2 ทรงตัว และ 2.รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 17.8% จากไตรมาส 3/2567 หนุนจากกำไรจากพอร์ตเงินลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Digital Asset ของ SCB10X ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งไม่มีบันทึกผลขาดทุนจากการขายหุ้น Purple Venture เหมือนกับในไตรมาส 3/2567
ด้าน NPL ratio เพิ่มขึ้นเป็น 4.1% จาก 3.9% ในไตรมาส 3/2567 ตาม NPL ที่สูงขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจ, สินเชื่อธุรกิจ SME และสินเชื่อรายย่อย ขณะที่ NPL ratio ของ CardX และ AutoX ลดลงมาที่ 4.9% และ 1.4% จาก 5.5% และ 1.7% ในไตรมาส 3/2567 ตามลำดับ ผู้บริหาร SCB กำหนดเป้าการเติบโตของสินเชื่อปี 2568 ที่ 1-3% โดยคงเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น และคาดว่าอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปี 2568 จะอยู่ในช่วง 3.6-3.8% เทียบกับ 3.85% ในปี 2567 โดยคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหนึ่งครั้งในปี 2568 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ บล.กสิกรไทย ที่ 3.64% SCB ยังตั้งเป้าค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ในปี 2568 ที่ 1.50-1.70% เทียบกับ 1.76% ในปี 2567 ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของ บล.กสิกรไทย ที่ 1.60% ดังนั้นจึงคงประมาณการกำไรปี 2568 ของ SCB ไว้ที่ 4.25 หมื่นล้านบาท (ลดลง 3% จากปี 2567) ผู้บริหารคาดว่าธุรกิจ Gen 2 รวมถึง CardX, AutoX และ MONIX จะทำกำไรดีขึ้น โดย CardX มีแผนเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อของลูกค้าบัตรเครดิตและกลุ่มลูกค้ารายใหญ่เพื่อเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม
ข้อมูลจาก LSEG Consensus สำหรับ SCB ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2568 ที่ 172,776.05 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2568 ที่ 45,284.04 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 125.84 บาท จาก 18 โบรกเกอร์
บล.กรุงศรี ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2568-2569 ของ SCB ขึ้น 5-6% มาที่ 4.48 และ 4.63 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ จากค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (OPEX) ต่ำกว่าที่คาด เพราะคุมค่าใช้จ่ายเป็นหลัก ภาพรวมยังมอง SCB มีปันผลเด่น dividend yield สูงสุดในกลุ่มธนาคารประมาณ 8-9% ต่อปี ซึ่งในรอบครึ่งหลังปี 2567 คาดจ่ายที่ 7.81 บาทต่อหุ้น คิดเป็น dividend yield ประมาณ 6%
สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น SCB ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 10 ก.พ. 2568 ที่ 126.50 บาท) เทรดที่ P/E 9.85 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 8.06 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น SCB อยู่ที่ 0.89 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.69 เท่า