พาราสาวะถี

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 ก.พ. 68) แพทองธาร ชินวัตร จัดรายการ “โอกาสประเทศไทยกับนายกฯ แพทองธาร” เป็นตอนพิเศษ


วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 ก.พ.) แพทองธาร ชินวัตร จัดรายการ “โอกาสประเทศไทยกับนายกฯ แพทองธาร” เป็นตอนพิเศษ จากที่กำหนดว่าจะจัดรายการทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน ด้วยเหตุผลว่ารอบนี้มีวาระสำคัญเนื่องจากเพิ่งเดินทางกลับมาจากการเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ และได้พบปะหารือกับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแดนมังกร จึงอยากจะสื่อสารแจ้งข่าวดีให้กับประชาชนได้รับรู้ โดยเฉพาะการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติ กับมาตรการตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และงดส่งน้ำมันให้เมียนมาเวลานี้

นอกจากนั้น ยังมีการฉายภาพความสำเร็จจากการเจรจรด้านการค้าการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ อาทิ การเชิญชวนลงทุนใน EEC โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากประเทศไทยลาวจีน ที่จะยกระดับศักยภาพการค้าขายของภูมิภาค ทำให้ส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ลดต้นทุนการเดินทาง พร้อมทั้งโครงการแลนด์บริดจ์ ประตูสำคัญ ที่จะเชื่อมทะเล ฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ในการขนส่งสินค้าไปทั่วโลก รวมไปถึงความร่วมมือเอ็มโอยู 14 ฉบับที่เกิดขึ้น ที่ครอบคลุมหลายด้าน เช่น การลดขั้นตอนของกรมศุลกากรทั้ง 2 ประเทศ และในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตทั้งด้านอีวี เซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์

ทั้งหมดนั้นเพื่อเป้าหมายยกระดับนำไปสู่การสร้างซัพพลายเชนให้เกิดขึ้นภายในประเทศไทย ขณะเดียวกัน รายการพิเศษในช่วงท้ายยังมีการนำภาพต่าง ๆ ที่นายกฯ หญิงได้คัดเลือกตลอดการเยือนจีน มีทั้งที่ถ่ายด้วยตัวเอง ทีมงานถ่าย มาเล่าให้คนดูได้ฟังถึงเบื้องหลังที่เกิดขึ้น บรรยายความรู้สึกของแพทองธารที่มีต่อภาพนั้น กับช่วงเล่าจากภาพ ถือเป็นอีกมุมหนึ่งที่ไม่เคยได้เห็นที่ไหนมาก่อน น่าจะสร้างความประทับใจให้กับคนดูได้ในระดับหนึ่ง

การสื่อสารกับประชาชนของแพทองธารน่าจะเริ่มถี่ขึ้น พอ ๆ กับการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวที่มีรายงานว่า จากก่อนหน้าพยายามที่จะชี้แจงให้น้อยที่สุด แต่กลับเป็นว่าการนิ่งยิ่งทำให้ถูกนำประเด็นที่เป็นกระแสไปขยายผลในทางที่ไม่ถูกต้อง หลังจากจับทิศจับทางทั้งการเมืองและการบริหารประเทศได้แล้ว ทำให้นายกฯ หญิงมั่นใจ กล้าที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมา ประเด็นไหนที่อ่อนไหวก็จะหลีกเลี่ยงโดยโยนให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรีที่ดูแล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือกรณีเรื่องส่วนตัวอย่างการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินกับ ป.ป.ช.ก็มอบหมายให้ทนายชี้แจงกับสื่อโดยตรง

ยิ่งเวลานี้มีปมการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่ล่มสองวันติด ทำให้เกิดคำถามตัวโตต่อความจริงใจของพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขดังกล่าว แม้ว่าทางแกนนำพรรคทั้ง ชูศักดิ์ ศิรินิล สุทิน คลังแสง และ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว จะตั้งโต๊ะแถลงไปแล้ว โดยเฉพาะกับท่าทีของพรรคล่าสุดที่เสนอให้นับองค์ประชุมในการถกวันที่สองคือ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนทำให้สภาล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบ พรรคแกนนำรัฐบาลถูกกังขาว่ามีเจตนาเตะถ่วงหรือไม่

ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังไงก็เลี่ยงที่จะตอบคำถามนี้ไม่พ้น ซึ่งพอจะเข้าใจได้ท้ายที่สุดก็จะโยนให้เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าถามในนามหัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็จะบอกว่ากรรมการบริหารและ สส.ของพรรคได้มีมติและแถลงท่าทีไปแล้ว ต้องเป็นไปในโทนทางเช่นนี้ กรณีที่เกิดขึ้นพอจะเข้าใจได้ จากการที่ได้ประกาศเป็นนโยบายไปแล้ว จะแก้กฎหมายที่เป็นผลพวงจากเผด็จการ คสช. แต่ตามกระบวนการแล้วมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

เอาแค่การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติในครั้งนี้ ตั้งต้นก็เห็นแล้วว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยชิ่งหนีเอาตัวรอดก่อน ด้วยเกรงว่าถ้าร่วมสังฆกรรมประชุมกันได้ จนนำไปสู่การลงมติ จะเข้าข่ายผิดกฎหมายตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะยังไม่มีคำตอบว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ จึงเป็นเหตุผลให้ นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.ล่ารายชื่อเสนอญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความชัดเจน

แต่ก็รู้กันอยู่สภาสูงใครกุมอำนาจ ฟากเสียงส่วนใหญ่ไม่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตัวเองได้ประโยชน์อยู่แล้ว ไม่ต่างจากพรรคที่เป็นผู้สนับสนุนหลักของ สว.สายสีน้ำเงินต้องการใช้กฎหมายสูงสุดที่เป็นกลไกสืบทอดอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยมต่อไป เนื่องจากพรรคของตัวเองได้ผลประโยชน์จากกระบวนการเลือกตั้ง สส.ในรูปแบบนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเสียงของที่ประชุมรัฐสภาในวันแรกที่ไม่เห็นชอบให้เลื่อนญัตติของหมอเปรมศักดิ์มาพิจารณาก่อนนั้น เป็นเสียงของ สว.ถึง 136 เสียงจาก 275 เสียงที่โหวตไม่เห็นด้วย

ตัวเลขเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจน มองเห็นถึงกลุ่มก้อนที่ต้องการอุ้มสมสมบัติของเผด็จการสืบทอดอำนาจต่อไป อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหากที่ประชุมรัฐสภากล้าบ้าบิ่นที่จะพิจารณาต่อจนไปถึงการโหวตรับหลักการในวาระแรก ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะผ่านความเห็นชอบ เพราะร่างเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจนั้น ได้เขียนกติกาไว้ว่า ในวาระแรกแม้จะผ่านเสียงข้างมาก แต่จะต้องมีเสียงของ สว.สนับสนุนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่หรือ 67 เสียงขึ้นไป

แค่นี้ก็ตกม้าตายกันแล้ว ขืนดันทุรังกันต่อไปร่างทั้งสองฉบับก็จะถูกตีตก ไม่สามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาได้อีก นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เพื่อไทยเลือกที่จะเดินเกมเสนอนับองค์ประชุมในการถกวันที่สองจนสภาล่ม เพื่อที่จะรักษาร่างแก้ไขที่ตัวเองเสนอให้คงอยู่ต่อไป ส่วนของพรรคประชาชนเป็นสิ่งที่ทางพรรคสีส้มต้องไปว่ากันเอง ทั้งนี้ พรรคแกนนำรัฐบาลยังได้งัดแผนสองด้วยการจะเสนอญัตติยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยจะมีเนื้อหาที่แตกต่างจากคำร้องของหมอเปรมศักดิ์ 

ความหวังของเพื่อไทยที่บอกว่าการพยายามนำร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อคลี่คลาย และปิดทางที่คลุมเครือให้ทุกฝ่ายเดินได้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาชัดว่าทำเพียง 2 ครั้งเท่านั้น จะได้เห็นฝ่ายที่อ้างว่าไม่อยากแก้แล้วเข้าข้างตัวเอง พรรคการเมืองเหล่านั้นหรือ สว.จะตอบว่าอย่างไร ประชาชนจะได้รู้ว่าใครมีเจตนาที่จะแก้จริงหรือไม่จริง ก่อนจะไปถึงตรงนั้น จะฝ่าด่านให้ที่ประชุมรัฐสภายอมพิจารณาญัตติดังกล่าว จนนำไปสู่การลงมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นี่ต่างหากคือปัญหาใหญ่

อรชุน

Back to top button